BCPG คาดปี 62 ใช้งบลงทุน 8.6 พันลบ.รองรับขยายกิจการใหม่-โครงการเดิม

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday February 21, 2019 10:47 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบัณฑิต สะเพียรชัย กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.บีซีพีจี (BCPG) เปิดเผยว่า บริษัทคาดว่าปีนี้จะใช้งบลงทุนสำหรับการขยายกิจการใหม่และโครงการที่มีอยู่เดิมรวมทั้งสิ้นประมาณ 8,600 ล้านบาทเพื่อรองรับการเติบโตอย่างต่อเนื่องของบริษัท โดยปีนี้มีโครงการที่จะเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ (COD) คือ โครงการลมลิกอร์ที่จังหวัดนครศรีธรรมราช กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ (MW) ในไตรมาสที่ 2/2562 และโครงการมหาวิทยาลัยอัจฉริยะพลังงานสะอาดที่บริษัทได้รับคัดเลือกจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้เป็นผู้ติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงอาทิตย์บนพื้นที่หลังคากำลังการผลิตรวม 12 เมกะวัตต์ ที่จะทยอยเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ตั้งแต่ปลายปี 2562

ขณะที่แผนการขยายธุรกิจเพื่อสร้างความยั่งยืนให้กับธุรกิจและผลตอบแทนสูงสุดให้กับผู้ถือหุ้นนั้น บริษัทยังคงให้ความสำคัญกับการขยายธุรกิจพลังงานสะอาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ โดยเฉพาะในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการทำการตลาดกับผู้บริโภครายย่อยโดยตรงมากขึ้น เน้นการเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้กับผู้บริโภคโดยตรง รวมถึงให้บริการการจัดการด้านพลังงานหรือ energy as a service นำนวัตกรรมมาใช้ในธุรกิจเพื่อเพิ่มทางเลือกให้ผู้บริโภคสามารถผลิตพลังงานที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมได้ด้วยตัวเองและประหยัดค่าใช้จ่าย

สำหรับผลการดำเนินงานในปี 61 บริษัทมีกำไรสุทธิอยู่ที่ 2,219 ล้านบาท สูงสุดเป็นประวัติการณ์ โดยเพิ่มขึ้น 25% จากกำไรสุทธิ 1,774 ล้านบาทในปี 60 มีสาเหตุหลักมาจากการบันทึกกำไรจากการจำหน่ายสินทรัพย์ให้แก่กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน (IFF) ในประเทศญี่ปุ่น รวมทั้งผลการดำเนินงานของโครงการโซลาร์ฟาร์มที่ดี โดยคิดเป็นอัตรากำไรสุทธิ 67% และกำไรต่อหุ้นที่ 1.11 บาท

ในปีที่ผ่านมา บริษัทจำหน่ายสินทรัพย์โครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ประเทศญี่ปุ่นจำนวน 2 โครงการให้แก่กองทุนโครงสร้างพื้นฐาน รวมทั้งการเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของธุรกิจผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในประเทศไทย กำลังการผลิต 9 เมกะวัตต์ และประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิต 4 เมกะวัตต์

โดยบริษัทมีรายได้รวมอยู่ที่ 3,320 ล้านบาท ทรงตัวเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า แม้ว่ารายได้จากการดำเนินงานของโครงการโซลาร์ฟาร์มในประเทศไทยโดยรวมดีขึ้นจากปี 60 เล็กน้อยเพียง 1% แต่รายได้จากการดำเนินงานของโครงการโซลาร์ฟาร์มในประเทศญี่ปุ่น ลดลง 6% สาเหตุหลักมาจากการขายสินทรัพย์ของโครงการโซลาร์ฟาร์มที่ประเทศญี่ปุ่นเข้ากองทุนโครงสร้างพื้นฐานส่งผลให้ไม่มีการบันทึกรายได้ในไตรมาสที่ 4/61 อย่างไรก็ตาม การเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการโกเต็มบะในช่วงไตรมาส 2/61 ช่วยสนับสนุนผลการดำเนินงานในปี 61 ได้ในบางส่วน

สำหรับการลงทุนในประเทศฟิลิปปินส์ บริษัทมีการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานโรงไฟฟ้าพลังงานลม (ก่อนการหัก amortization) เพิ่มขึ้นจาก 1 ล้านบาท เป็น 73 ล้านบาทในปี 60 มีสาเหตุหลักมาจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรเต็มปีเป็นปีแรก เมื่อเทียบกับปี 60 ที่มีการรับรู้เพียง 7 เดือน และทำให้ปริมาณการผลิตไฟฟ้าทั้งปี 61 เพิ่มขึ้น 144% เป็น 46 ล้านหน่วย (ตามสัดส่วนการถือหุ้น) ทั้งนี้ ปริมาณการผลิตไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นยังเป็นผลจากค่าเฉลี่ยชั่วโมงในการผลิตไฟฟ้าต่อวัน (Capacity Factor) ที่เพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 37% จาก 30% ในปี 60 โดยปัจจัยสนับสนุนความสามารถในการผลิตไฟฟ้ามาจากความเร็วลมเฉลี่ยที่ดีต่อเนื่อง จากการที่มีพายุพัดผ่านเข้ามายังบริเวณที่ตั้งโครงการ อาทิ ดีเปรสชั่นเขตร้อน มรสุมและไต้ฝุ่นในระหว่างปี

ขณะที่ประเทศอินโดนีเซียในปี 61 บริษัทมีส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าความร้อนใต้พิภพเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้า 129% หรือ 761 ล้านบาท มีสาเหตุหลักมาจากการรับรู้ส่วนแบ่งกำไรจากการดำเนินงานเต็มปีเป็นปีแรก เมื่อเทียบกับปี 60 ที่มีการรับรู้เพียง 5 เดือน ซึ่งทำให้ปริมาณการผลิตไฟฟ้าทั้งปี 61 เพิ่มขึ้น 145% มาอยู่ที่ 1,250 ล้านหน่วย (ตามสัดส่วนการถือหุ้น)

ณ สิ้นปี 61 สินทรัพย์รวมอยู่ที่ 31,557.9 ล้านบาท ทรงตัวเมื่อเทียบกับสิ้นปี 60 ส่วนหนี้สินรวมอยู่ที่ 16,416 ล้านบาท ลดลง 7.4% สาเหตุหลักมาจากการลดลงของหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ย โดย ณ สิ้นงวด อยู่ที่ 15,567 ล้านบาท ลดลง 8.6% จากสิ้นปีก่อนหน้า สาเหตุหลักมาจากการจ่ายคืนเงินกู้ยืมระยะยาวจากสถาบันการเงิน หลังจากการจำหน่ายสินทรัพย์โครงการโซลาร์ฟาร์มที่ญี่ปุ่นเข้ากองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานในช่วงปลายไตรมาสที่ 3/61 จำนวน 2,028 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ