โบรกเกอร์ส่วนใหญ่แนะนำ"ซื้อ"หุ้นบมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) มองทิศทางผลประกอบการจะเติบโตได้ด้วยแรงผลังดันจากการเตรียมบุก 3 ธุรกิจใหม่ 1.สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ 2.ฟิโกไฟแนนซ์ และ 3.จำนำทะเบียน ซึ่งคาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ภายในปีนี้
ขณะที่ส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ปีนี้คาดว่าจะทรงตัวจากปีก่อนหน้าที่ 14.7% ได้รับแรงหนุนจากการหมดอายุของหุ้นกู้ต้นทุนสูง และสัดส่วนหนี้สงสัยจะสูญ (NPL) คาดว่าจะยังอยู่ในระดับต่ำที่ 1% พร้อมกับคาดอัตราส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อเฉลี่ย (Credit cost) จะลดลงมาที่ 740 bps จากปีก่อน 752 bps
ประเมินกำไรสุทธิไตรมาส 1/62 ของ KTC จะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/61 และไตรมาส 1/61 ได้รับแรงหนุนจากค่าใช้จ่ายการตลาดที่ลดลงตามฤดูกาล รวมถึงในไตรมาส 4/61 บันทึกค่าใช้จ่าย One-time 81 ล้านบาทในโครงการผลประโยชน์พนักงาน ขณะที่กำไรสุทธิคาดเพิ่มขึ้นโดยได้รับแรงหนุนโดยสินเชื่อที่เติบโตต่อเนื่องอานิสงส์จากการออกแคมเปญทางการตลาด
ส่วนการที่ นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร จะครบวาระในเดือน พ.ย.62 มองเป็น Sentiment เชิงลบหากต้องเปลี่ยนตัว แต่เชื่อว่าที่สุดแล้วบริษัทจะเดินด้วยระบบไม่ใช่ตัวบุคคล
ราคาหุ้น KTC พักเที่ยงอยู่ที่ 30.75 บาท ลดลง 0.50 บาท หรือ 1.6% ขณะที่ดัชนีหุ้นไทย เพิ่มขึ้น 0.07%
หยวนต้าฯ ซื้อ 40.00 เคที ซีมิโก้ ซื้อ 42.00 ฟินันเซีย ไซรัส ซื้อ 38.00 เออีซี ถือ 38.00 ทิสโก้ ถือ 32.50 เอเชีย เวลท์ ซื้อ 39.00 ฟิลลิป ซื้อ 41.00 แลนด์ แอนด์ เฮ้าส์ ซื้อ 38.30
นายอดิสรณ์ มุ่งพาลชล นักวิเคราะห์การลงทุนด้านหลักทรัพย์ บล. ฟิลลิป (ประเทศไทย) มองทิศทางผลประกอบการของ KTC จะยังคงเติบโตได้ด้วยแรงผลังดันจากการเตรียมแผนบุก 3 ธุรกิจใหม่ คือ นาโนไฟแนนซ์ พิโกไฟแนนซ์ และสินเชื่อจำนำทะเบียนรถ โดยบริษัทได้มีการเตรียมความพร้อมไว้แล้ว หากได้ใบอนุญาตก็พร้อมเปิดดำเนินการได้ทันที
"ด้วยการเข้าบุกธุรกิจใหม่ ซึ่งเป็นกลุ่มลูกค้ากลุ่มใหม่ที่ต่างจากกลุ่มเดิมทำให้ยังมีโอกาสการเติบโต แต่อย่างไรก็ตามคงต้องติดตามสถานการณ์ของ NPL ว่าจะเป็นอย่างไร เพราะกลุ่มเดิมที่บริษัทให้บริการอยู่คือกลางถึงบน แต่กลุ่มใหม่ที่จะให้บริการคือต้องต่ำกว่านั้นจึงมีความเสี่ยงอยู่"นายอดิสรณ์ กล่าว
บล.หยวนต้า (ประเทศไทย) ระบุในบทวิเคราะห์ว่า KTC จะเริ่มดำเนินธุรกิจใหม่ 3 ประเภท คือ 1. สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ 2. ฟิโกไฟแนนซ์ และ 3.จำนำทะเบียน
สำหรับสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์จะเริ่มดำเนินงานได้เป็นลำดับแรก เพราะปัจจุบันผ่านการอนุมัติจากธนาคารกรุงไทย (KTB) ในฐานะบริษัทแม่มาแล้ว และอยู่ระหว่างขออนุมัติจากธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) คาดว่าจะเริ่มดำเนินงานได้ปลายไตรมาส 1/62 ส่วนพิโกไฟแนนซ์คาดเริ่มดำเนินงานในไตรมาส 2/62 เพราะหลังได้รับอนุมัติจาก ธปท. จะต้องขออนุมัติกระทรวงการคลังเป็นลำดับถัดไป ด้านธุรกิจสินเชื่อจำนำทะเบียน อยู่ระหว่างขออนุมัติจาก KTB จึงไม่สามารถกำหนดกรอบเวลาที่แน่นอนได้ แต่คาดว่าจะพร้อมดำเนินงานได้ภายในปีนี้เช่นกัน
อย่างไรก็ตาม เรายังไม่ได้รวมธุรกิจใหม่ไว้ในประมาณการ เพราะอยู่ในช่วงเริ่มต้น ประกอบกับยังไม่ได้รับความชัดเจนถึงแผนธุรกิจ แต่ก็คาดว่าธุรกิจใหม่ทั้ง 3 ธุรกิจจะเป็นปัจจัยบวกสำคัญต่อการเติบโตในปี 63
ขณะที่ธุรกิจเดิมของ KTC นั้นคาดว่าปี 62 สินเชื่อจะขยายตัว 6.9% ซึ่งได้รับแรงหนุนจากการเร่งขยายฐานลูกค้าตั้งแต่ช่วงไตรมาส 4/61 ที่ผ่านมา สะท้อนจากจำนวนบัตรเครดิต และบัญชีสินเชื่อบุคคลปรับตัวขึ้น ประกอบกับแผนออกโปรโมชั่นร้านค้าหลากหลายขึ้น และกำลังปรับปรุง Mobile app เพื่อเตรียมรับมือกับกลุ่มธนาคารพาณิชย์ที่มีแผนรุกสินเชื่อกลุ่มนี้มากขึ้น
ด้านส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) คาดทรงตัวจากปีก่อนหน้าที่ 14.7% โดยได้รับแรงหนุนจากการหมดอายุของหุ้นกู้ต้นทุนสูง นอกจากนี้หนี้สงสัยจะสูญ (NPL) คาดว่าจะอยู่ที่ 1.0% ในปี 62 พร้อมกับคาดอัตราส่วนการตั้งสำรองต่อสินเชื่อเฉลี่ย (Credit cost) จะลดลงมาที่ 740 bps จากปีก่อน 752 bps
ด้าน บล.เอเชีย เวลท์ ระบุในบทวิเคราะห์ว่า คาดกำไรสุทธิไตรมาส 1/62 ของ KTC จะเพิ่มขึ้นเมื่อเทียบกับไตรมาส 4/61 และเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/61 โดยได้รับแรงหนุนจากค่าใช้จ่ายการตลาด ที่ลดลงตามฤดูกาล รวมถึงในไตรมาส 4/61 บริษัทมีการบันทึกค่าใช้จ่าย One-time จำนวน 81 ล้านบาทตามประมาณการโครงการผลประโยชน์พนักงาน ขณะที่กำไรสุทธิที่คาดเพิ่มขึ้นจากไตรมาส 1/61 ได้รับแรงหนุนโดยสินเชื่อที่เติบโตต่อเนื่องอานิสงส์จากการออกแคมเปญทางการตลาด
ส่วน บล.ฟินันเซีย ไซรัส ปรับลดประมาณการกำไรปี 62 ของ KTC ลง 7% เป็น 6.15 พันล้านบาท แต่ยังเห็นการขยายตัวราว 20%Y-Y หลังจากผู้บริหารเปิดเผยแนวทางการตั้งสำรองฯสูงกว่าที่เราคาดไว้ และ Guidance ค่าใช้จ่ายทางการตลาดที่สูงกว่าที่เราคาดการณ์จากแผนธุรกิจบัตรเครดิตและสินเชื่อบุคคลที่เป็นเชิงรุกมากขึ้น
ทั้งนี้ ปัจจัยที่อยู่ในความกังวลของตลาดคือการต่ออายุของ CEO นายระเฑียร ศรีมงคล ซึ่งจะครบอายุในเดือน พ.ย. โดยนายระเฑียรระบุว่าขึ้นอยู่กับคณะกรรมการบริษัท อย่างไรก็ตาม นายระเฑียรได้รับการต่ออายุกรรมการบริษัทแล้ว ประเด็นนี้เป็น Sentiment เชิงลบ แต่สุดท้ายเราเชื่อว่าบริษัทจะเดินต่อได้ด้วยระบบไม่ใช่บุคคล
ดังนั้น จึงปรับลดราคาเหมาะสมลงเป็น 38 บาท แต่คงคำแนะนำ"ซื้อ"ประกาศเงินปันผลจากกำไรปี 61 หุ้นละ 0.82 บาท Yield 2.7%