ทริสเรทติ้งคงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บริษัท ไทยแอร์เอเชีย จำกัด ที่ระดับ "A-" โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงสถานะผู้นำในธุรกิจสายการบินราคาประหยัดในประเทศไทยของบริษัท ตลอดจนประสิทธิภาพในการบริหารต้นทุน การผสานประโยชน์กับ AirAsia Berhad และบริษัทในเครือ (กลุ่มแอร์เอเชีย) รวมถึงแนวโน้มการเติบโตที่เป็นไปในทางบวกของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนบางส่วนจากการแข่งขันที่รุนแรงในอุตสาหกรรมการบิน รวมถึงภาระหนี้ของบริษัทที่อยู่ในระดับสูง ความอ่อนไหวต่อความผันผวนของราคาน้ำมันเชื้อเพลิง ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา และความเสี่ยงจากเหตุการณ์ที่ไม่อาจคาดเดาได้ต่าง ๆ
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
คาดว่าความสามารถในการทำกำไรจะฟื้นตัว ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทไทยแอร์เอเชียจะฟื้นตัวอันเนื่องมาจากราคาน้ำมันเครื่องบินที่ปรับตัวลดลงเป็นสำคัญ โดยในช่วงระหว่างปี 2562-2564 ทริสเรทติ้งคาดว่าราคาน้ำมันเครื่องบินจะอยู่ระหว่าง 77 ถึง 82 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลเมื่อเทียบกับระดับ 85 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในปี 2561 ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าอัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะฟื้นตัวอยู่ในระดับ 22% ถึง 24% ในช่วงปี 2562-2564
ในปี 2561 ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทได้รับผลกระทบอย่างมากจากการเพิ่มขึ้นของราคาน้ำมันเครื่องบินแม้ว่าบริษัทจะสามารถลดต้นทุนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงได้ก็ตาม ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 บริษัทสามารถลดต้นทุนอื่นที่ไม่เกี่ยวข้องกับเชื้อเพลิงต่อที่นั่ง-กิโลเมตร (กม.) ได้เป็น 1.00 บาท จาก 1.05 บาทต่อที่นั่ง-กม. ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560 แต่กำไรจากการดำเนินงานของบริษัทกลับปรับลดลงเป็น 19.3% เมื่อเทียบกับระดับ 25.6% ในช่วงเวลาเดียวกันซึ่งเป็นผลมาจากราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่เพิ่มขึ้นถึง 35% เป็นหลัก ทั้งนี้ ราคาเฉลี่ยของน้ำมันเครื่องบินเพิ่มขึ้นเป็น 84 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 จาก 62 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรลในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560
ราคาตั๋วเครื่องบินจะปรับเพิ่มขึ้นตามการแข่งขันที่สมเหตุสมผลมากยิ่งขึ้น
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าผู้ให้บริการสายการบินต้นทุนต่ำจะสามารถปรับราคาตั๋วเครื่องบินเพิ่มขึ้นได้ในระดับหนึ่งเนื่องจากการแข่งขันระหว่างสายการบินต้นทุนต่ำมีความสมเหตุสมผลมากยิ่งขึ้น ในปี 2561 การแข่งขันที่รุนแรงจำกัดความสามารถของบริษัทในการปรับเพิ่มราคาค่าตั๋วเครื่องบินแม้ว่าต้นทุนน้ำมันจะเพิ่มขึ้นอย่างมากก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่าการแข่งขันในกลุ่มสายการบินต้นทุนต่ำจะยังคงมีความรุนแรงต่อไป อย่างไรก็ตาม ความสามารถในการทำกำไรที่ลดลงอย่างมากในผู้ประกอบการสายการบินจากผลของราคาน้ำมันเครื่องบินที่เพิ่มสูงขึ้นอย่างมากในปี 2561 จะลดความเข้มข้นของการแข่งขันลงในช่วง 2-3 ปีข้างหน้า ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าบริษัทจะสามารถเพิ่มราคาตั๋วเครื่องบินได้ประมาณ 3%-5% ต่อปีในช่วง 3 ปีข้างหน้าดังกล่าว
การเติบโตของจำนวนนักท่องเที่ยวช่วยสนับสนุนอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสาร
ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารของบริษัทจะปรับตัวดีขึ้นในช่วง 3 ปีข้างหน้า โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนจะฟื้นตัวและจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอื่น ๆ ที่จะเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยจะยังคงเติบโตอย่างต่อเนื่อง อนึ่ง ในช่วงครึ่งหลังของปี 2561 จำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนลดลง 9.6% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาเป็น 4.60 ล้านคน ในขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติอื่น ๆ ที่เข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยยังคงเพิ่มขึ้นที่ระดับ 8.6% จากช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมาเป็น 14.19 ล้านคน เนื่องจากลูกค้าของบริษัทส่วนใหญ่เป็นนักท่องเที่ยวชาวจีนจึงส่งผลให้อัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารของบริษัทปรับลดลงเป็น 85.0% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2561 จากระดับ 87.1% ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2560
อย่างไรก็ตาม เนื่องจากประเทศไทยเป็นหนึ่งในจุดหมายปลายทางแห่งการท่องเที่ยว นันทนาการ และการพักผ่อนวันหยุดซึ่งเป็นที่นิยมในระดับโลก ทริสเรทติ้งจึงคาดว่าแนวโน้มของอุตสาหกรรมการท่องเที่ยวในประเทศไทยจะยังคงดีอยู่ โดยคาดว่าจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เข้าประเทศไทยจะเพิ่มขึ้นในระดับประมาณ 5%-10% และยังเชื่อว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวจีนก็จะฟื้นตัวตั้งแต่ปี 2562 เป็นต้นไป ดังนั้น ทริสเรทติ้งจึงประมาณการอัตราส่วนการบรรทุกผู้โดยสารของบริษัทว่าจะสูงกว่า 85% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า
บริษัทได้ประโยชน์จากการผสานธุรกิจกับกลุ่มแอร์เอเชียในการร่วมกันจัดซื้อเครื่องบินและการจัดซื้อน้ำมันเชื้อเพลิงแบบประกันราคาล่วงหน้าซึ่งเป็นการเพิ่มอำนาจการต่อรองเพื่อการประหยัดต้นทุน นอกจากนี้ บริษัทยังได้ประโยชน์จากการดำเนินงานและเครือข่ายการตลาดของกลุ่มแอร์เอเชียอีกด้วย กล่าวคือ กลุ่มแอร์เอเชียมีสมาชิกซึ่งเป็นสายการบินที่ให้บริการใน 6 ประเทศ ได้แก่ มาเลเซีย ไทย อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ อินเดีย และญี่ปุ่น โดยครอบคลุมจุดหมายปลายทางมากกว่า 130 แห่งในภูมิภาคเอเชียและเอเชียแปซิฟิก ทั้งนี้ บริษัทใช้ระบบการจองตั๋วเครื่องบินเช่นเดียวกับกลุ่มแอร์เอเชียซึ่งช่วยให้ลูกค้าสามารถจองตั๋วเที่ยวบินที่จะต่อไปยังจุดหมายปลายทางอื่น ๆ ที่ให้บริการโดยกลุ่มแอร์เอเชียได้อย่างสะดวกและคล่องตัว
ภาระหนี้คาดว่าจะเพิ่มสูงขึ้น
ทริสเรทติ้งคาดว่าภาระหนี้ของบริษัทจะค่อย ๆ เพิ่มขึ้นในช่วง 3 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ บริษัทมีแผนจะเพิ่มจำนวนเครื่องบินเป็น 78 ลำในปี 2564 จาก 62 ลำในปี 2561 ซึ่งส่วนใหญ่จะจัดหาโดยวิธีการเช่าดำเนินงาน นอกจากนี้ ปัจจุบันบริษัทยังอยู่ในระหว่างการก่อสร้างศูนย์ฝึกอบรมมูลค่าประมาณ 1,500 ล้านบาทซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 2563 อีกด้วย ดังนั้น อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนของบริษัทจึงน่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็นประมาณ 85% ในปี 2564 จาก 76% ในปี 2560 ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายก็จะปรับตัวเพิ่มขึ้นเป็น 4.2 เท่าจาก 3.4 เท่าด้วยเช่นกัน
สภาพคล่องที่เพียงพอ
สภาพคล่องของบริษัทถือว่าอยู่ในระดับที่เพียงพอ ณ เดือนกันยายน 2561 บริษัทมีเงินสดและสินทรัพย์สภาพคล่องจำนวน 3,986 ล้านบาทและยังมีวงเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินอีกจำนวน 4,830 ล้านบาท โดยคาดว่าเงินทุนจากการดำเนินงาน (ไม่รวมภาระค่าเช่า) ของบริษัทในช่วง 12 เดือนข้างหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 3,500 ล้านบาท ทั้งนี้ ในช่วง 12 เดือนข้างหน้าบริษัทจะมีภาระในการชำระหนี้จำนวน 2,172 ล้านบาท โดยในปี 2562 บริษัทมีงบลงทุนจำนวน 828 ล้านบาท
ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถปฏิบัติให้เป็นไปตามเงื่อนไขทางการเงินได้ในช่วง 12-18 เดือนข้างหน้า ทั้งนี้ ณ เดือนกันยายน 2561 บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 3.1 เท่าและมีอัตราส่วนหนี้สินที่มีดอกเบี้ยสุทธิต่อส่วนของผู้ถือหุ้นอยู่ที่ 2.1 เท่า ซึ่งเป็นไปตามเงื่อนไขทางการเงินที่กำหนด
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
ในระยะ 3 ปีข้างหน้าระหว่างปี 2562-2564 ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานดังต่อไปนี้
รายได้ของบริษัทจะเติบโตปีละประมาณ 10%
อัตรากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 22%-24%
ราคาน้ำมันเครื่องบินจะอยู่ระหว่าง 77 ถึง 82 ดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อบาร์เรล
งบลงทุนรวมทั้งหมดของบริษัท (ไม่รวมการจัดหาเครื่องบิน) จะอยู่ที่ 1,800 ล้านบาท
แนวโน้มอันดับเครดิต
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนถึงการคาดการณ์ของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะยังคงรักษาสถานะผู้นำในธุรกิจสายการบินราคาประหยัดในประเทศไทยได้ต่อไป ทั้งนี้ คาดว่าความสามารถในการบริหารต้นทุนและความคล่องตัวในการดำเนินงานจะช่วยให้บริษัทสามารถรับมือกับความผันผวนของฤดูกาลและปัจจัยภายนอกอื่น ๆ ที่จะส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมการบินโดยรวมได้
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง
โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตยังไม่มีในระยะใกล้เมื่อพิจารณาจากสถานะทางการเงินของบริษัทในปัจจุบัน อย่างไรก็ตาม อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับเพิ่มขึ้นหากอัตราส่วนเงินกู้รวมต่อกำไรจากการดำเนินงานก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทอยู่ในระดับต่ำกว่า 2 เท่าและอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนคงตัวอยู่ในระดับ 60%-65% อย่างต่อเนื่อง อันดับเครดิตอาจได้รับการปรับลดลงได้หากผลการดำเนินงานทางการเงินของบริษัทอ่อนตัวลงอย่างมาก หรือภาระหนี้ของบริษัทเพิ่มสูงกว่าระดับปัจจุบันอย่างมีนัยสำคัญ