กลุ่ม PTT จัดงบราว 2.64 แสนลบ.ลงทุนใน EEC ,ยังไม่ตัดสินใจประมูล"แหลมฉบังเฟส 3-สนามบินอู่ตะเภา"

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday February 22, 2019 14:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท. (PTT) เปิดเผยว่า กลุ่ม ปตท.เตรียมงบลงทุนราว 2.64 แสนล้านบาทในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งรวมถึงโครงการพื้นที่เขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EECi) พื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จ.ระยอง

ล่าสุดที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทเมื่อวานนี้ (21 ก.พ.) อนุมัติก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานใน EECi ในวงเงินราว 2.5 พันล้านบาท เพื่อรองรับการเข้าลงทุนต่าง ๆ ที่จะเข้ามา โดยเงินลงทุนดังกล่าวยังไม่นับรวมการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ของรัฐบาล ทั้งโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 ,โครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก ที่กลุ่ม ปตท.ให้ความสนใจเข้าร่วมลงทุน

ทั้งนี้ ปตท.ได้เข้าร่วมลงทุนกับบมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ในสัดส่วน 30:70 เข้าร่วมประมูลโครงการพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด ระยะ 3 ซึ่งจะมีการพัฒนาคลังก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ด้วย โดยการที่ GULF เป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในโครงการนี้ เนื่องจาก GULF จะเป็นผู้ใช้ก๊าซธรรมชาติ รายใหญ่ในอนาคต เนื่องจากอยู่ระหว่างพัฒนาโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) ขนาด 5,000 เมกะวัตต์ (MW) ประกอบกับภาครัฐต้องการให้โครงการดังกล่าวเป็นการในรูปแบบระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP)

ขณะที่ ปตท.ยังมีสถานะเป็นรัฐวิสาหกิจ นอกจากนี้ ปตท.ก็มีการลงทุนในคลัง LNG อยู่ 2 แห่ง ซึ่งจะรองรับการนำเข้าได้ 19 ล้านตัน/ปีในอนาคต นับว่ามีความเพียงพอต่อการความต้องการใช้ก๊าซฯตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าระยะยาวของประเทศ ปี 2561-2580 (PDP2018)

ส่วนโครงการท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และโครงการพัฒนาสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก นั้น ได้มีการพิจารณาในที่ประชุมคณะกรรมการเมื่อวานนี้ แต่ยังไม่ตัดสินใจที่จะเข้าร่วมประมูล เนื่องจากยังมีความเสี่ยงในบางเรื่องทั้งในส่วนของพันธมิตรที่ยังไม่ชัดเจน และจะต้องพิจารณาให้ได้จะสามารถจัดการความเสี่ยงต่าง ๆ ได้หรือไม่ โดยปัจจุบันการพิจารณาลงทุนในโครงการดังกล่าวนั้นมี 3 แนวทางเลือก ได้แก่ การเข้าร่วมประมูล ,การไม่เข้าร่วมประมูล และการรอเข้าร่วมลงทุนกับผู้ที่สามารถประมูลได้ ซึ่งยังมีระยะเวลาในการตัดสินใจเรื่องดังกล่าว

สำหรับการลงทุนในพื้นที่ EEC ของกลุ่ม ปตท.จะทยอยแล้วเสร็จตั้งแต่ปี 63-66 ได้แก่ โครงการ EECi ที่มีกรอบวงเงินลงทุน 4.1 พันล้านบาท, ท่อส่งก๊าซฯเส้นที่ 5 มูลค่า 1.7 หมื่นล้านบาท, การขายท่อส่งก๊าซฯไปยังพื้นที่ EECi, คลัง LNG, การขยายกำลังการผลิตโอเลฟินส์, โครงการพลังงานสะอาด (CFP) ที่จะเพิ่มกำลังการกลั่นน้ำมันของ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) วงเงิน 1.29 แสนล้านบาท, การสร้างโรงงานพาราไซลีนของ บมจ.ไออาร์พีซี (IRPC), โครงการ Utra Clean Fuel Project เพื่อรองรับการประกาศใช้น้ำมันดีเซลมาตรฐาน Euro V ของ IRPC เป็นต้น

นายชาญศิลป์ กล่าวอีกว่า ปัจจุบัน ปตท.มีการนำเข้า LNG ราว 5 ล้านตัน/ปี และคาดว่าจะเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในปีนี้ จากความต้องการใช้ก๊าซฯที่เติบโตไม่ถึง 1% ในปีนี้ หลังการใช้ในภาคการผลิตไฟฟ้าไม่มากจากการที่มีผู้ผลิตไฟฟ้าใช้เองมากขึ้น ซึ่งการนำเข้าปัจจุบันยังเป็นไปตามสัญญาระยะยาวที่มีอยู่กับทั้งเชลล์, บีพี, การ์ต้า และปิโตรนาส แต่ยังมองโอกาสการจัดหาเข้ามาเพิ่มเติมในอนาคต รวมถึงโครงการโมซัมบิกด้วย แต่ปัจจุบัน ปตท.จะยังไม่ตัดสินใจซื้อ LNG จากแหล่งโมซัมบิกในเร็ว ๆ นี้ เนื่องจากต้องรอดูการใช้ก๊าซฯในระยะยาวด้วยเพราะการซื้อขายก๊าซฯจะเป็นข้อผูกพันระยะยาว

สำหรับภาพธุรกิจของ ปตท.ในปีนี้ มองว่าแนวโน้มราคาก๊าซฯจะทรงตัวถึงเพิ่มขึ้นเล็กน้อย ขณะที่ราคาปิโตรเคมียังต้องจับตาปัญหาสงครามการค้าระหว่างสหรัฐและจีน แต่ที่ผ่านมา ปตท.ได้ปรับตัวโดยการลดการส่งออกไปจีนเหลือ 30-40% จากเดิมที่ 50-60% และหันมากระจายไปยังกลุ่มประเทศอื่น อย่าง ตะวันออกกลาง ,แอฟริกา เป็นต้น

ด้านธุรกิจโรงกลั่นมีการปรับตัวเพื่อรองรับมาตรการของ International Marine Organization (IMO) ในการควบคุมระดับกำมะถันในน้ำมันเตาที่ใช้ในอุตสาหกรรมเดินเรือ ทำให้มีการใข้น้ำมันดีเซลมาผสมเพื่อให้ได้มาตรฐาน และจะมีส่วนเกินน้ำมันเบนซินในตลาดขึ้น กดให้ส่วนต่างราคาน้ำมันเบนซินและน้ำมันดิบลดลงเหลือ 3-4 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล จากเดิมที่เคยสูงกว่า 10 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล แต่ในส่วนของโรงกลั่นกลุ่ม ปตท. ส่วนใหญ่มีการผลิตดีเซลมากกว่าทำให้ไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ขณะเดียวกันกรณีดังกล่าวก็จะกระทบต่อราคาพาราไซลีน (PX) ให้ลดลงด้วยเช่นกัน

ส่วนทิศทางอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับตัวขึ้น ปตท.ก็มีการบริหารจัดการทั้งในส่วนของอัตราดอกเบี้ยคงที่ และอัตราดอกเบี้ยลอยตัวให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ทำให้เชื่อว่าจะไม่ได้รับผลกระทบมากนัก ด้านประเด็นการเมืองในประเทศนั้น เป็นสิ่งที่ไม่สามารถควบคุมได้แต่การดำเนินงานของ ปตท.จะต้องอยู่บนพื้นฐานความมั่นคงด้านพลังงาน

นางสาวพรรณนลิน มหาวงศ์ธิกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน PTT กล่าวว่า ตามแผนการลงทุนเฉพาะของ ปตท.ในปีนี้ที่จะใช้เงินลงทุนราว 7 หมื่นล้านบาทนั้น ขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องระดมเงินทุนใหม่เพิ่มเติม เนื่องจากมีเงินสดในมืออยู่ราว 1.3-1.4 แสนล้านบาท โดยมีแผนใช้เงินเบื้องต้น ได้แก่ การจ่ายภาษีกำไรจากการขายสินทรัพย์ให้ บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (PTTOR) ราว 1.6 หมื่นล้านบาท, ชำระคืนเงินกู้ครบกำหนดราว 2.6 หมื่นล้านบาท, ลงทุนตามปกติ 3 หมื่นล้านบาท ,จ่ายปันผลราว 5 หมื่นล้านบาท และเตรียมสำรองไว้สำหรับการเพิ่มทุนใน บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) หากจะเข้าซื้อกิจการ บมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW)

แต่หาก ปตท.มีการลงทุนขนาดใหญ่เพิ่มเติมก็อาจจะต้องพิจารณาการระดมเงินทุน ซึ่งมีหลายรูปแบบ รวมถึงการออกหุ้นกู้ด้วยที่ในช่วง 3-4 ปีที่ผ่านมา ปตท.ไม่ได้มีการออกหุ้นกู้ ขณะที่การนำหุ้น PTTOR เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์นั้น ยังอยู่ในกระบวนการ ซึ่งไม่สามารถเปิดเผยรายละเอียดได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ