นายซิคเว่ เบรคเก้ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ. โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) กล่าวว่า ขณะนี้ดีแทคกำลังอยู่ระหว่างการศึกษาและพิจารณาความเป็นไปได้ทั้งทางเทคนิคและการลงทุนในการอัพเกรดคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์ เพื่อให้บริการโมบายล์ อินเตอร์เน็ต บรอดแบนด์
เนื่องจากบริษัทต้องการใช้คลื่นความถี่ที่มีอยู่ให้มีประสิทธิภาพเต็มที่ อีกทั้งจากการศึกษาในต่างประเทศ ยังพบว่าการพัฒนาคลื่นความถี่ที่มีอยู่เดิมอาจมีต้นทุนที่ต่ำกว่าการลงทุนใหม่ทั้งหมดในคลื่นความถี่ 2.1 กิกะเฮิรตซ์ (GHz) โดยการอัพเกรดคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์ ขึ้นเป็นระบบ 3G เพื่อให้สามารถให้บริการครอบคลุมทั่วประเทศจำเป็นต้องใช้ cell site ประมาณ 1,600-1,700 แห่ง
DTAC ร่วมกับ บมจ.กสท โทรคมนาคม และบริษัท อีริคสัน (ประเทศไทย) จำกัด ทดสอบระบบโมบายล์ อินเตอร์เน็ต บรอดแบนด์ผ่านโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ที่คลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์ (MHz) ด้วยเทคโนโลยีเอชเอสดีพีเอ (HSDPA: High-Speed Downlink Packet Access) ระหว่างเดือนก.ย.-พ.ย.50 ในพื้นที่ 3 แห่งได้แก่ 1) สยามสแควร์ 2) อาคารชัย ถ.วิภาวดีรังสิต จ.กรุงเทพฯ และ 3) จ. มหาสารคาม
นายซิคเว่ กล่าวว่า ผลการทดสอบระบบเป็นที่น่าพอใจ โดยอัตราความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูลสูงสุด (peak speed) อยู่ที่ 5 เมกะบิตต่อวินาที สำหรับความเร็วการอัพโหลดข้อมูลอยู่ที่ระดับความเร็วสูงสุด (peak) 1-1.4 เมกะบิตต่อวินาที ในขณะที่ความเร็วในการดาวน์โหลดข้อมูลผ่านระบบ EDGE ทำได้สูงสุด (peak) ที่ 200-240 กิโลบิตต่อวินาที
"การทดสอบระบบในครั้งนี้ถือเป็นการกรุยทางไปสู่ทางเลือกใหม่ ๆ ให้กับผู้บริโภคในการเข้าถึงบริการอินเตอร์เน็ตความเร็วสูง ซึ่งเป็นหนึ่งในระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานที่สำคัญในการเสริมสร้างศักยภาพการพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และการศึกษาของประเทศไทยให้มีความแข็งแกร่งยิ่งขึ้น
นายซิคเว่ กล่าวว่า จากการสำรวจปริมาณการใช้งานระบบอินเตอร์เน็ต พบว่าตัวเลข penetration rate ของผู้ใช้งานระบบอินเตอร์เน็ตของประเทศไทยอยู่ที่เพียง 13% ในขณะที่ประเทศเพื่อนบ้านอย่างเวียดนามมีระดับ penetration rate อยู่ที่ 20.6% ประเทศมาเลเซีย 47.6% เป็นต้น ส่วนตัวเลขสัดส่วนของผู้ใช้บรอดแบนด์ต่อประชากร (broadband penetration) ของไทยปัจจุบันอยู่ที่เพียง 2% เท่านั้น
ด้านนายอมฤต ศุขะวณิช ผู้อำนวยการอาวุโส กลุ่มเน็กซ์ ดีแทค กล่าวว่า ก่อนหน้าที่ดีแทคจะดำเนินการทดสอบระบบบนคลื่นความถี่นี้ บริษัทได้ศึกษาแนวทางการดำเนินการของโอเปอเรเตอร์ในประเทศต่าง ๆ เช่น เทลสตรา ประเทศออสเตรเลีย ที่ประสบความสำเร็จในการอัพเกรดโครงข่ายที่มีอยู่เดิมทั่วประเทศขึ้นมาให้บริการบนคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์
"นอกเหนือจากการใช้งานระบบโมบายล์ อินเตอร์เน็ต บรอดแบนด์ด้วยเครื่องคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊กผ่านอุปกรณ์ data card แล้ว เราเชื่อว่าจะมีผู้ใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ยังมีความต้องการดาวน์โหลดข้อมูลด้วยความเร็วสูงผ่านมือถืออีกด้วย ปัจจุบันมีโทรศัพท์เคลื่อนที่มากกว่า 60 รุ่น จากผู้ผลิตมากกว่า 14 แบรนด์ในตลาดที่สนับสนุนการใช้งานบนคลื่นความถี่ 850 เมกะเฮิรตซ์"นายอมฤต กล่าว
--อินโฟเควสท์ โดย นิศารัตน์ วิเชียรศรี/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--