บมจ.ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่ง แอนด์ คอนสตรัคชั่น(STEC) คาดปี 51 แนวโน้มกำไรดีกว่าปี 50 ที่น่าจะมีกำไรเล็กน้อย เนื่องจากมีอัตรากำไรขั้นต้น(gross profit margin)ดีขึ้นมาที่ระดับ 3-5% จากปี 50 ที่มีต่ำกว่า 2% แม้จะคาดว่ารับรู้รายได้ 1.5 หมื่นล้านบาท ต่ำกว่าปี 50 ที่จะรับรู้รายได้ 1.7 หมื่นล้านบาท เพราะงานในมือ(Backlog)เหลือน้อยประมาณ 1.3 หมื่นล้านบาท(ณ สิ้นปี 50)จากการที่ภาครัฐแทบไม่มีงานประมูลในปีที่ผ่านมา
"ทั้งปี 50 มีกำไรไม่มาก มาร์จิ้นมีนิดเดียว งานแอร์พอร์ตลิงค์กับศูนย์ราชการไม่มีมาร์จิ้น ก็กิน 50% ของยอดรับรู้รายได้ แต่ปี 51 จะมีกำไรดีขึ้น เพราะได้งานเอกชนที่มาร์จิ้นดีกว่าช่วง 3-5%"นายวรพันธ์ ช้อนทอง กรรมการรองผู้จัดการสายงานการเงินและบริหาร STEC กล่าวกับ"อินโฟเควสท์"
ณ สิ้นปี 50 งานในมือที่มี 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นงานของแอร์พอร์ตลิงค์ 3.4 พันล้านบาท และงานศูนย์ราชการอีก 3.5 พันล้านบาท คิดเป็นสัดส่วนประมาณครึ่งหนึ่ง ส่งผลดึงมาร์จิ้นงานลงมา แต่ได้งานใหม่ที่มีมาร์จิ้นดีขึ้น ทำให้อัตรากำไรสุทธิ(net profit margin)ปี 51 จะอยู่ราว 2% จากปี 50 ที่อัตรากำไรสุทธิได้ต่ำกว่า 2%
"ปีนี้ผมว่าเราเอาตัวรอดได้ง่ายกว่าปีที่แล้ว ปีที่แล้วยากมาก คือพอที่จะเห็นว่าจะมีรัฐบาลใหม่ที่ต่างประเทศให้การยอมรับ ต่างประเทศเขาก็อยากมาลงทุน แต่ขอให้มีรัฐบาลใหม่เสียก่อน อะไรต่างๆก็น่าจะขยับกันได้ ปีนี้(51)ก็ถือว่าดีขึ้นแต่แบบประคองตัว"นายวรพันธ์ กล่าว
ทั้งนี้ ในปี 51 สัดส่วนงานภาครัฐลดลงเหลือ 60% จากปีก่อนที่มีสัดส่วน 75% เหตุจากงานประมูลของรัฐลดลง
นายวรพันธ์ คาดว่า ในไตรมาส 1/51 จะมียอดรับรู้รายได้ 3-3.2 พันล้านบาท ต่ำกว่า ไตรมาส 1/50 ที่มี 4.2 พันล้านบาท เนื่องจากงานในมือมีน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน
*คาดได้งานใหม่ในปท. 1 หมื่นลบ./เล็งหาจังหวะจับงานนอก
นายวรพันธ์ กล่าวอีกว่า ในปี 51 บริษัทตั้งเป้าได้งานใหม่ราว 1 หมื่นล้านบาท จากปีก่อนได้เพียง 7 พันล้านบาทถือว่าน้อยผิดปกติ โดยภายในเดือนม.ค.นี้มีงานรอเซ็นสัญญา 1 งาน มูลค่า 2 พันล้านบาท รับรู้รายได้ในไตรมาส 2/51 ที่เหลืออีกประมาณ 8 พันล้านบาท คาดว่าจะเป็นงานจากภาคเอกชน เช่น โรงงานอุตสาหกรรมที่บริษัทได้มีการเจรจาอยู่ และอยู่ในวิสัยที่น่าจะทำได้
"งานใหม่เราตั้งเป้าไว้ 1 หมื่นล้านบาทเป็นงานในประเทศทั้งหมด ส่วนงานต่างประเทศไม่ได้ตั้งเป้าแต่ถ้ามีโอกาสก็จะเข้าไปประมูล"นายวรพันธ์ กล่าว
ส่วนงานประมูลรถไฟฟ้าสนใจเข้าร่วมโครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงและ สายสีน้ำเงินในส่วนต่อขยาย บริษัทสนใจเข้าร่วม แต่คาดว่ากว่าจะประมูลได้ก็ใกล้ปลายปีงบประมาณ หรือในช่วง ส.ค.-ก.ย.เพราะฉะนั้นจึงไม่ได้มองงานราชการเป็นตลาดหลัก ถ้ามีออกมาประมูลก็ประมูลด้วย แต่ดูแล้วปีนี้ยังไม่ชัด ไม่น่าจะมีการประมูลได้เร็ว
โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วงคาดว่าจะเปิดประมูลในเดือนมี.ค.-เม.ย.นี้ บริษัทก็เตรียมตัวจะเข้าประมูล โดยคาดว่าบริษัทจะเข้าประมูลเองโดยไม่ร่วมกับใคร เพราะสายนี้แยกประมูลเป็น 3 สัญญาๆ ละ 8-9 พันล้านบาท จากมูลค่าโครงการรวมประมาณ 3 หมื่นล้านบาท
ส่วนสายสีแดงส่วนที่ 2 ช่วงบางซื่อ-รังสิต บริษัทต้องพิจารณาเงื่อนไขทีโออาร์ก่อนว่าจะมีเงื่อนไขในการเวนคืนที่ดินเองหรือไม่ แต่ถ้าไม่มีก็ต้องมาดูรายละเอียดทีโออาร์อีกครั้งว่าจะมีเงื่อนไขอื่นที่เป็นอุปสรรคที่จะมีปัญหาในแง่ข้อกฎหมายหรือไม่ ซึ่งเรื่องเวนคืนเป็นเรื่องข้อกฎหมายที่ยากต่อการทำงาน
สำหรับโครงการแอร์พอร์ตลิงค์ ยืนยันว่าบริษัทไม่ต้องเพิ่มสำรองเพิ่ม แม้ว่าจะได้ขยายเวลาก่อสร้าง 370 วัน นับจากเดือนก.ค.50 จากนี้ไปการรถไฟแห่งประเทศไทย(รฟท.)ได้จ่ายตามความคืบหน้าของงาน จากเดิมสะดุดไป ขณะนี้ความคืบหน้าของงานโยธาก้าวหน้าไป 80% แล้ว คาดว่าจะดำเนินการเสร็จทันเวลา
นอกจากนี้ บริษัทเล็งหางานในต่างประเทศหลังพลาดงานประมูลในกาตาร์ ระบุเข้าสำรวจในดูไบ,อินเดีย,สิงคโปร์ ในงานสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน และช่วงนี้ก็หางานในต่างประเทศยาก อย่างในลาว กัมพูชาก็ยังยากอยู่ งานใหม่ไม่ค่อยมี
"บริษัทได้เข้าไปสำรวจที่ดูไบ ก็รอจังหวะโอกาสที่จะเปิดประมูลงาน ถ้าเราทำได้ก็จะเข้าไป ส่วนใหญ่เป็นงานสร้างถนน สะพาน งานสาธารณูปโภคพื้นฐาน ส่วนอินเดียก็ได้ไปสำรวจดูแล้ว แต่ยังไม่มีจังหวะที่จะเข้าไป และเท่าที่ทราบการเข้าไปได้งานต้องร่วมทุนกับบริษัทท้องถิ่น" นายวรพันธ์ กล่าว
*ปี 50 ยังปันผลไม่ได้เหตุมีขาดทุนสะสม-ศึกษาแตกไลน์พัฒนาอสังหาฯ
กรรมการรองผู้จัดการ สายงานการเงินและบริหาร STEC กล่าวว่า ในปี 50 ถึงแม้บริษัทจะมีกำไร แต่ก็ยังไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้ เพราะบริษัทังมีผลขาดทุนสะสมอยู่ประมาณ 1 พันกว่าล้านบาท และในปี 51 ก็น่าจะยังไม่สามารถล้างขาดทุนสะสมได้หมด เพราะผลประกอบการยังไม่ดีพอ คงต้องใช้เวลาในการแก้ปัญหานี้ เพราะตราบใดที่ยังแก้ปัญหาขาดทุนสะสมไม่ได้ บริษัทก็ไม่สามารถจ่ายเงินปันผลได้
ในปีนี้ใช้เงินลงทุนประมาณ 30-40 ล้านบาท เพื่อใช้ปรับปรุงเครื่องมือและเครื่องจักร และใช้เป็นเงินทุนหมุนเวียนปกติ
ขณะที่ อัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ของบริษัทขณะนี้อยู่ที่ 0.6-0.8 เท่า
นายวรพันธ์ ยอมรับว่า บริษัทเล็งแตกไลน์ไปธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ โดยขณะนี้บริษัทมีที่ดินเปล่าอยู่ประมาณ 30 ไร่ ตั้งอยู่บนถนนบางนา-ตราด กม.4 คิดว่าถ้าแก้ไขปัญหาธุรกิจก่อสร้างที่มีมาร์จิ้นต่ำๆแล้ว ที่ดินที่มีอยู่ก็จะนำออกมาใช้ประโยชน์ได้
ขณะนี้ให้ทีมงานบริษัทศึกษาอยู่ซึ่งเพิ่งเริ่มเข้าไปศึกษาว่าจะทำโครงการอะไร รวมถึงจังหวะการเข้าลงทุน
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--