บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด คงอันดับเครดิตองค์กรและหุ้นกู้ไม่ด้อยสิทธิ ไม่มีหลักประกันของ บมจ. ดุสิตธานี (DTC) ที่ระดับ "BBB+" โดยอันดับเครดิตดังกล่าวสะท้อนถึงชื่อเสียงของบริษัทในฐานะผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมของไทยและความพยายามในการขยายแบรนด์ไปในธุรกิจบริหารโรงแรมและธุรกิจการศึกษาด้านการโรงแรม อย่างไรก็ตาม จุดแข็งดังกล่าวถูกลดทอนลงไปบางส่วนจากการที่บริษัทมีธุรกิจที่กระจายตัวไม่มากนักและภาระหนี้ที่จะเพิ่มสูงขึ้นจากการลงทุนในโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์รูปแบบผสม (Mixed-use) ขนาดใหญ่
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
การมีแบรนด์ธุรกิจที่แข็งแรงและมีชื่อเสียง DTC เป็นหนึ่งในผู้ประกอบธุรกิจโรงแรมชั้นนำของไทยด้วยการมีแบรนด์ "ดุสิตธานี" ที่มีความแข็งแรงและมีชื่อเสียง ทั้งนี้ แบรนด์ของบริษัทสะท้อนเอกลักษณ์การให้บริการแบบไทยซึ่งช่วยส่งเสริมความพยายามในการขยายธุรกิจบริหารโรงแรมและธุรกิจการศึกษาด้านการโรงแรมของบริษัท ปัจจุบันบริษัทมีสัญญาให้บริการบริหารกิจการโรงแรมประมาณ 60 สัญญาและมีจำนวนห้องรวมกว่า 10,000 ห้องที่จะทยอยให้บริการในระยะ 5 ปีข้างหน้า นอกจากนี้ บริษัทยังมีความเชี่ยวชาญในด้านการให้การศึกษาด้านการโรงแรมซึ่งบริษัทมีแผนจะสร้างประโยชน์จากประสบการณ์ดังกล่าวด้วยการขยายธุรกิจการศึกษาด้านการโรงแรมทั้งภายในประเทศและต่างประเทศอีกด้วย
สถานะทางการแข่งขันของบริษัทอ่อนตัวลงจากการมีคุณภาพสินทรัพย์ที่ด้อยลงตามกาลเวลา แม้จะอยู่ในทำเลที่ดี แต่บริษัทมีการลงทุนไม่มากนักในการที่จะปรับปรุงห้องพักให้เป็นไปตามความนิยมของลูกค้าที่เปลี่ยนไป นอกจากนี้ การเพิ่มขึ้นของจำนวนโรงแรมใหม่ ๆ โดยเฉพาะในพื้นที่สำคัญ ๆ ในการสร้างรายได้ให้บริษัท เช่น กรุงเทพฯ ภูเก็ต และหมู่เกาะมัลดีฟส์ ก็ล้วนเป็นทางเลือกที่หลากหลายในทุกระดับราคาให้แก่นักท่องเที่ยว ปัจจัยเหล่านี้ส่งผลทำให้สถานะในการแข่งขันของบริษัทถดถอยลงและจำกัดความสามารถของบริษัทในการปรับขึ้นราคาห้องพัก
ธุรกิจมีการกระจายตัวไม่มากนัก แต่กำลังมีการขยายไปยังธุรกิจอื่นๆ โดยธุรกิจของบริษัทมีการกระจายตัวไม่มาก โดยกว่า 80% ของรายได้ของบริษัทมาจากธุรกิจโรงแรมซึ่งส่วนใหญ่มาจากโรงแรมหลัก ๆ ของบริษัทที่อยู่ในกรุงเทพฯ ภูเก็ต พัทยา หมู่เกาะมัลดีฟส์ และกรุงมะนิลา ทำให้ผลประกอบการของบริษัทผันผวนไปตามเหตุการณ์ความไม่สงบและเหตุการณ์ที่คาดเดาไม่ได้ต่าง ๆ กลยุทธ์ที่สำคัญประการหนึ่งของบริษัทคือการเพิ่มความหลากหลายของแหล่งรายได้เพื่อที่จะช่วยลดการพึ่งพาธุรกิจโรงแรมและชดเชยรายได้บางส่วนที่หายไปในช่วงที่โครงการ Mixed-Use กำลังก่อสร้าง
บริษัทได้ลงทุนในธุรกิจอาหารโดยการซื้อหุ้นจำนวน 25.9% ใน บริษัท เอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ จำกัด (NR Instant Produce Co., Ltd.) คิดเป็นเงินทั้งสิ้น 663 ล้านบาทในเดือนมีนาคม 2561 โดยบริษัทดังกล่าวประกอบธุรกิจผลิตและส่งออกอาหารสำเร็จรูป และในเดือนมกราคม 2562 บริษัทได้ซื้อหุ้นจำนวน 51% ใน บริษัท เอ็บเพอคิวร์ เคเทอริ่ง จำกัด (Epicure Catering Co.) ซึ่งเป็นผู้ให้บริการอาหารและเครื่องดื่มแก่โรงเรียนนานาชาติในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีมูลค่าการลงทุน 423 ล้านบาท และบริษัทมีเป้าหมายจะซื้อหุ้นเพิ่มเติมอีกจำนวน 19% ภายในปี 2563 ซึ่งจะทำให้บริษัทมีมูลค่าการลงทุนรวมทั้งสิ้น 613 ล้านบาท
นอกจากนี้ บริษัทยังได้ซื้อกิจการของ Elite Havens Group (EH) ด้วยมูลค่าการลงทุนทั้งสิ้น 15 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 495 ล้านบาทในเดือนกันยายน 2561 อีกด้วย โดย EH ประกอบธุรกิจทำการตลาด ดำเนินการจอง รวมถึงรับดูแลบริหารจัดการและให้เช่าวิลล่าหรูแบบครบวงจร โดยปัจจุบันมีเครือข่ายวิลล่าที่อยู่ในความดูแลกว่า 200 แห่งในประเทศต่าง ๆ ทั้งอินโดนีเซีย ไทย ศรีลังกา ญี่ปุ่น และหมู่เกาะมัลดีฟส์
บริษัทยังมองหาโอกาสที่จะลงทุนในธุรกิจโรงแรมในต่างประเทศเพิ่มเติมโดยมีเป้าหมายเพื่อกระจายแหล่งรายได้ รวมทั้งขยายแบรนด์ให้เป็นที่รู้จัก และเสริมสร้างความแข็งแกร่งให้แก่แบรนด์เพื่อต่อยอดไปยังธุรกิจรับบริหารโรงแรมที่บริษัทกำลังขยายอีกด้วย
ภาระหนี้สูงขึ้นและรายได้ลดลงในช่วงการพัฒนาโครงการ Mixed-use บริษัทกำลังพัฒนาโครงการ Mixed-use โดยร่วมลงทุนกับ บมจ.เซ็นทรัลพัฒนา (CPN) โครงการดังกล่าวประกอบไปด้วยโรงแรม อาคารที่พักอาศัย ศูนย์การค้า และอาคารสำนักงาน โดยสร้างบนพื้นที่ของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ และบริเวณใกล้เคียง การก่อสร้างจะเริ่มในช่วงต้นปี 2562 และคาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงกลางปี 2567
ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะลดลงประมาณ 15% และประมาณ 10% ของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่าย (EBITDA) จากการปิดโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ ทั้งนี้ ในปี 2561 บริษัทรายงานรายได้ที่ 5,072 ล้านบาทและ EBITDA ที่ 1,224 ล้านบาท ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีรายได้ 4,200-4,400 ล้านบาทในปี 2562-2564 และจะมี EBITDA ประมาณ 1,100-1,200 ล้านบาทในช่วงเวลาดังกล่าว
ทริสเรทติ้งคาดหวังว่าบริษัทจะมีความระมัดระวังในการลงทุนใหม่ ๆ มากยิ่งขึ้นในช่วงที่มีการพัฒนาโครงการ Mixed-use ภาระหนี้ของบริษัทจะเพิ่มสูงขึ้นเนื่องจากบริษัทจะกู้ยืมมากขึ้นเพื่อใช้ในการพัฒนาโครงการ Mixed-use และใช้ในการลงทุนอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ในส่วนของค่าก่อสร้างโครงการ Mixed-use คาดว่าจะรวมอยู่ที่ประมาณ 11,000-12,000 ล้านบาทในช่วงปี 2562-2567 ซึ่งเงินทุนที่ใช้ในการก่อสร้างส่วนหนึ่งจะมาจากเงินชำระตามงวดที่ได้รับจากการขายโครงการที่พักอาศัยและโครงสร้างอาคารศูนย์การค้า
ในช่วงปี 2562-2564 ทริสเรทติ้งมีสมมติฐานว่าบริษัทจะใช้เงินลงทุนรวมประมาณ 5,000-5,500 ล้านบาทซึ่งเป็นการลงทุนตามแผนโดยรวมถึงโครงการ Mixed-use และการลงทุนอื่น ๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น ทริสเรทติ้งยังคาดหมายว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อ EBITDA ที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทจะอยู่ที่ 5-7 เท่าในช่วงเวลาดังกล่าว ซึ่งเทียบกับ 5.1 เท่าในปี 2561 และยังคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนที่ปรับปรุงแล้วจะอยู่ที่ 51%-56% ซึ่งเทียบกับ 50.9% ณ สิ้นปี 2561
สภาพคล่องมีเพียงพอ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอในระยะ 12 เดือนข้างหน้า โดยบริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระประมาณ 412 ล้านบาท มีหนี้สินทางการเงินที่จะครบกำหนดชำระรวมประมาณ 850 ล้านบาท และมีแผนลงทุนรวมประมาณ 1,200-1,500 ล้านบาท โดยแหล่งที่มาของเงินทุนประกอบด้วย EBITDA ที่ประมาณ 1,100-1,200 ล้านบาท เงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสด ณ เดือนธันวาคม 2561 จำนวน 1,570 ล้านบาท นอกจากนี้ ยังคาดว่าบริษัทจะมีเงินที่ได้รับจากการขายโรงแรมดุสิตธานี มัลดีฟส์ เข้าทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดุสิตธานีอีกประมาณ 600-700 ล้านบาทในกรณีที่ธุรกรรมดังกล่าวผ่านความเห็นชอบจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นของบริษัทแล้ว
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
-สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทในปี 2562 จะลดลง 15% และจะเพิ่มขึ้น 1%-3% ในระหว่างปี 2563-2564
-ทริสเรทติ้งคาดว่าอัตรากำไรจากการดำเนินงานก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้ของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 25% ในระหว่างปี 2562-2564
-บริษัทจะมีเงินลงทุนรวมประมาณ 5,000-5,500 ล้านบาทในระหว่างปี 2562-2564
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษทจะรักษาวินัยทางการเงินและจะไม่ก่อหนี้ในระดับที่สูงจนเกินไปในช่วงที่บริษัทกำลังพัฒนาโครงการ Mixed-use เพื่อให้มีความยืดหยุ่นเพียงพอที่จะรองรับธรรมชาติที่ผันผวนของธุรกิจโรงแรม
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง คือ โอกาสในการปรับเพิ่มอันดับเครดิตของบริษัทมีจำกัดในระยะอันใกล้นี้โดยพิจารณาจากแผนการลงทุนขนาดใหญ่ในโครงการ Mixed-use ในทางกลับกัน อันดับเครดิตของบริษัทอาจได้รับการปรับลดลงหากฐานะทางการเงินของบริษัทอ่อนแอลงอย่างมากจากที่ทริสเรทติ้งคาดการณ์ไว้