นายชัยภัทร ศรีวิสารวาจา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บล.ซีมิโก้ (ZMICO) เปิดเผยว่า แม้ผลประกอบการของบริษัทจะแย่ลงในปี 61 แต่บริษัทได้มีการริเริ่ม ปรับเปลี่ยน และดำเนินการในหลาย ๆ ด้านเพื่อสร้างรากฐานที่มั่นคงในการประกอบธุรกิจต่อไปของบริษัท โดยหลักได้แก่การจัดตั้งบริษัทย่อย เอสอี ดิจิทัล จำกัด เพื่อลงทุนในธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลที่กำลังเป็นที่สนใจของนักลงทุนและมีอัตราการเติบโตสูงมากในต่างประเทศ อีกทั้งสอดคล้องและเป็นการต่อยอดจากธุรกิจหลักทรัพย์ปัจจุบันของบริษัทฯ
โดยขณะนี้บริษัทอยู่ในขั้นตอนการดำเนินการเพื่อขอความเห็นชอบสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เป็นผู้ให้บริการระบบเสนอขายโทเคนดิจิทัล (ICO Portal) ซึ่งเป็นการใช้เทคโนโลยี Block Chain และ Smart Contract มาช่วยในการระดมทุนและควบคุมให้เป็นไปตามเงื่อนไขของการลงทุน เพื่อลงทุนในสินทรัพย์ของบริษัทนั้น ๆ ที่มีอยู่แล้ว (Securitized Token) ในการนี้ บริษัทฯ ได้พันธมิตรที่เป็นบริษัทที่เชี่ยวชาญและมีประสบการณ์ด้านเทคโนโลยี Block Chain และสินทรัพย์ดิจิทัลจากสหรัฐอเมริกา มาช่วยสนับสนุนด้านระบบงาน และเครือข่ายธุรกิจของบริษัทฯ อีกด้วย
ส่วนธุรกิจจัดการลงทุน ผ่าน บลจ.อินโนเทค บริษัทมีทีมผู้บริหารใหม่ที่มีความเชี่ยวชาญในด้านการลงทุน เข้ามาปรับโครงสร้างองค์กร วางระบบการทำงานและการควบคุมใหม่ทั้งหมด เพื่อกลับมาประกอบธุรกิจจัดการลงทุนในกองทุนรวมและกองทุนส่วนบุคคล โดยเน้นกองทุนที่มีความแตกต่าง (Unconventional Fund) และใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมมาใช้ในการบริหารจัดการและวิเคราะห์การลงทุนอย่างเต็มรูปแบบ โดยคาดว่าจะเริ่มให้บริการได้ในไตรมาส 2/62 นี้
"สำหรับธุรกิจอื่น ๆ บริษัทฯ มีการปรับกลยุทธ์ในการลงทุน โดยหลีกเลี่ยงและลดสัดส่วนการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูง เพิ่มระดับการติดตามดูแลผลประกอบการของเงินลงทุนและบริษัทที่เข้าไปลงทุนอย่างใกล้ชิด และปรับพอร์ตการลงทุน บริษัทโดยเฟ้นหาการลงทุนใหม่ ๆ ที่เชื่อว่าจะสร้างมูลค่าเพิ่มกลับมาให้แก่ผู้ถือหุ้นบริษัทฯ และมุ่งเน้นถึงผลประกอบการที่ดีในระยะยาว และการส่งเสริมกัน (Synergy) ของแต่ละธุรกิจของกลุ่มบริษัทฯ
นอกจากนี้ บริษัทยังยกระดับประสิทธิภาพระบบการควบคุมและกำกับดูแล การตรวจสอบภายใน การบริหารความเสี่ยงในการปฎิบัติงาน และการรายงานทางการเงินของบริษัทในเครือทั้งหมด เพื่อให้มั่นใจได้ว่าทุกธุรกิจของบริษัทฯ ดำเนินไปด้วยความระมัดระวัง เป็นไปตามหลักการควบคุมภายในที่ดีและกฎเกณฑ์ของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งหมด" นายชัยภัทร กล่าว
ในส่วนของธุรกิจหลักทรัพย์ ZMICO ได้พัฒนา WealthMe โมบายแอปพลิเคชัน ด้วยแนวคิด "เปิดบัญชีหุ้นที่ไหนก็ได้ อนุมัติไวใน 30 นาที" เพื่ออำนวยความสะดวกให้แก่ผู้ที่สนใจการลงทุน สามารถเปิดบัญชีซื้อขายหลักทรัพย์แบบไร้เอกสารได้ด้วยตนเองผ่านโทรศัพท์มือถือสมาร์ตโฟน ซึ่งคาดว่าจะช่วยสร้างโอกาสในการเข้าถึงกลุ่มลูกค้าเป้าหมายเพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มคนที่อยู่ในวัยทำงาน และขยายฐานลูกค้าบริษัทให้เกิน 100,000 รายในปี 62
"เคที ซีมิโก้ ยังคงมุ่งหน้าพัฒนาผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงิน เพื่อตอบสนองความต้องการในการลงทุนและสร้างความมั่งคั่งทางการเงินให้กับลูกค้าของกลุ่มบริษัทฯ และลูกค้าของธนาคารกรุงไทย ซึ่งเป็นพันธมิตรผู้ร่วมลงทุนในเคที ซีมิโก้ ร่วมกับบริษัทต่อไป"นายชัยภัทร กล่าว
นอกจากแผนการขยายธุรกิจ การปรับกลยุทธ์ในการลงทุน และการเพิ่มประสิทธิภาพของการควบคุมและกำกับดูแลของกลุ่มบริษัท ในปี 62 นี้บริษัทคาดว่าภาวะเศรษฐกิจประเทศไทยโดยรวมจะเป็นไปในทิศทางบวก ภายหลังความชัดเจนจากการเลือกตั้ง ทั้งในส่วนของภาคการลงทุนจากต่างประเทศและในประเทศ และการเติบโตในภาคอุปโภคบริโภคของประชาชน ซึ่งจะช่วยส่งเสริมผลประกอบการของบริษัททั้งในธุรกิจหลักทรัพย์โดย เคที ซีมิโก้ ธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัลใหม่ของบริษัทฯ และธุรกิจการลงทุนอื่น ๆ ให้สดใสในปีนี้
สำหรับผลประกอบการปี 61 มีผลขาดทุนสุทธิ 195.83 ล้านบาท จากปี 60 มีผลกำไร 9.87 ล้านบาท โดยสาเหตุหลักเป็นผลมาจากขาดทุนที่ยังไม่เกิดขึ้นจริงจากการปรับมูลค่าตามราคาตลาด (Mark to market) ของหลักทรัพย์จดทะเบียนแห่งหนึ่งที่อยู่ในพอร์ตเงินลงทุนของบริษัท ตามผลประกอบการและความผันผวนของตลาดสินค้าเกษตรและอาหารที่บริษัทจดทะเบียนดังกล่าวประกอบธุรกิจอยู่ อย่างไรก็ดีมูลค่าตลาดของเงินลงทุนในหลักทรัพย์ดังกล่าวยังคงสูงกว่าต้นทุนในการได้มาของบริษัทฯ
ในขณะเดียวกัน ธุรกิจหลักทรัพย์ซึ่งเป็นธุรกิจหลักที่บริษัทฯ ลงทุนผ่านบริษัทร่วม บล.เคที ซีมิโก้ (KT ZMICO) ก็มีผลประกอบการขาดทุนเป็นปีแรกในปี 61 นี้ แม้มูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์เฉลี่ยต่อวันจะเพิ่มขึ้นจากปีก่อนหน้าก็ตาม แต่การแข่งขันกันอย่างดุเดือดของธุรกิจหลักทรัพย์โดยเฉพาะการลดอัตราค่าคอมมิชชั่นในการซื้อขายหลักทรัพย์ให้ต่ำเพื่อดึงดูดลูกค้า อีกทั้งการลดลงของสัดส่วนมูลค่าการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ของกลุ่มนักลงทุนรายย่อย ส่งผลให้อัตราค่าคอมมิชชั่นเฉลี่ยและรายได้ค่าธรรมเนียมการซื้อขายหลักทรัพย์ของทั้งอุตสาหกรรมปรับลดลงอย่างต่อเนื่อง
แม้เคที ซีมิโก้ ยังสามารถคงสัดส่วนรายได้ค่าธรรมเนียมและบริการจากการจัดจำหน่ายหลักทรัพย์และที่ปรึกษาทางการเงินและการลงทุน และรายได้ดอกเบี้ยเงินให้กู้ยืมเพื่อซื้อหลักทรัพย์ที่สูงอยู่ แต่บริษัทได้รับผลกระทบจากกำไรจากเครื่องมือทางการเงินที่ลดลง รวมถึงค่าใช้จ่ายพิเศษในปีที่เกิดจากการปรับโครงสร้างองค์กรและการเพิ่มประมาณการภาระผูกพันผลประโยชน์พนักงานหลังออกจากงานเพื่อรองรับกฎหมายคุ้มครองแรงงานที่มีการแก้ไขเพิ่มเติม และสำหรับส่วนแบ่งการตลาดปัจจุบันของเคที ซีมิโก้ อยู่ที่ 2.07%