AOT คาดรายได้งวดปี 61/62 (สิ้นสุด ก.ย.) โตกว่า 10% จากผู้โดยสารเพิ่ม 6-7% , ปี 63 เข้าบริหาร 4 สนามบินใหม่

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 4, 2019 14:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) คาดว่ารายได้ในปี 61/62 (ต.ค.61-ก.ย.62) จะเติบโตกว่า 10% จากจำนวนผู้โดยสารที่คาดขยายตัว 6-7% โดยผู้โดยสารต่างชาติจะเติบโตอย่างมาก หลังในช่วง 5 เดือนแรกของปี 61/62 (ต.ค.61-ก.พ.62) มีจำนวนผู้โดยสารเติบโต 3.5%

นอกจากนี้จะมีรายได้จากธุรกิจคาร์โก้ เพิ่มเข้ามาเป็นปีแรก หลังบริษัทจะเป็นผู้ดำเนินกิจการเอง โดยจะจัดตั้งบริษัทลูกที่เป็นศูนย์กลางการขนส่งสินค้าทางอากาศที่ได้รับการรับรอง (Certified Hub) ซึ่งจะเป็นการร่วมทุนระหว่าง AOT จะร่วมทุนกับ บมจ.การบินไทย (THAI) และบริษัทเทรดดิ้ง คาดว่าจะสามารถจัดตั้งบริษัทได้ในเดือนเม.ย.-พ.ค. 62 และเตรียมจะจัดตั้งอีกแห่งเป็นบริษัท เทรดดิ้ง จำกัด ซึ่งอยู่ระหว่างหารือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) สภาหอการค้าไทย ร่วมลงทุน พร้อม ๆ กับการจัดตั้งบริษัทลูกหลายแห่งที่ AOT เข้าไปดำเนินการเอง ได้แก่ ธุรกิจรักษาความปลอดภัย ธุรกิจให้บริการภาคพื้น (Ground Service)

นายนิตินัย กล่าวว่า นอกจากรายได้จากธุรกิจคาร์โก้เริ่มเข้ามา AOTจะเปิดดิจิทัลแพลตฟอร์มที่เชื่อมทั้งการเดินทาง และธุรกิจคาร์โก้ โดยคาดว่าในเดือนเม.ย.นี้จะเปิดตัวแอพพลิเคชั่นรองรับบริการดังกล่าว โดยทั้งหมดจะเป็นธุรกิจใหม่ที่ AOT เริ่มดำเนินการในปีนี้ และจะรับรู้เต็มปีในปี 62/63 ทำให้คาดว่ารายได้จะเติบโตก้าวกระโดด มากกว่า 20% เพราะจะมีรายได้ที่ไม่ใช่ธุรกิจการบิน (Non-Aero) สัดส่วนเพิ่มขึ้นเกินกว่า 50% จากปัจจุบันมีสัดส่วน 45%

นอกจากนี้ในช่วงต้นปี 63 คาดจะเริ่มดำเนินการสนามบิน 4 แห่ง ได้แก่ อุดรธานี , สกลนคร , ชุมพร และ ตาก ซึ่งที่เป็นสนามบินใหม่ที่ AOT เข้าไปบริหาร โดยใช้งบลงทุน 3.5 พันล้านบาท แบ่งเป็นงบปรับปรุงสนามบิน 1.5 พันล้านบาท และงบขยายสนามบิน 2 พันล้านบาท

ขณะที่อาคารเทียบเครื่องบินรอง (Sattlelite) จะเปิดให้บริการในปลายปี 63 จะรองรับผู้โดยสารได้มากขึ้น จากปัจจุบันที่สนามบินสุวรรณภูมิมีผู้โดยสาร 60-65 ล้านคน/ปี เกินขีดความสามารถที่รองรับได้ 45 ล้านคน/ปี

นายนิตินัย กล่าวถึงงานก่อสร้างอาคารผู้โดยสาร หลังที่ 2 (Terminal 2) ของท่าอากาศยานสุวรรณภูมิว่า จากที่ได้สำรวจความต้องการของสายการบินต่าง ๆ และผู้มีส่วนเกี่ยวข้องผ่านคณะกรรมการ Airport Consultative Committee (ACC) แล้วเห็นว่ามีการเปลี่ยนแปลงจากแบบเดิมอย่างมีนัยสำคัญ ที่ต้องมีระบบขนส่งผู้โดยสารอัตโนมัติ (APM) ขณะนี้ AOT กำลังเร่งออกแบบ ซึ่งมูลค่าโครงการอาจจะปรับขึ้นจากเดิมที่มีวงเงิน 4.2 หมื่นล้านบาท คาดว่าจะนำเสนอต่อสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ในอีก 2 สัปดาห์หรือไม่เกินกลางเดือน มี.ค. โดยส่วนโครงการงานสร้างรันเวย์ที่ 3 และส่วนต่อขยายฝั่งตะวันออก (East Expansion) อยู่ที่สศช.แล้ว จะนำรวมกับอาคารผู้โดยสาร แห่งที่ 2 เสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พร้อมกัน ทั้งนี้ ต้องการให้เสนอให้ทันการอนุมัติของรัฐบาลชุดนี้ เนื่องจากโครงการล่าช้ามา 8-9 เดือนแล้ว หากไม่ทันรัฐบาลชุดนี้ โครงการนี้จะล่าช้ามากไปกว่านี้

ในวันนี้ AOT และกรมท่าอากาศยาน (ทย.) ร่วมลงนามข้อตกลงการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุสนามบินสุวรรณภูมิและสนามบินภูมิภาค 2 ฉบับ ได้แก่ ข้อตกลงการใช้ประโยชน์ ที่ราชพัสดุท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เนื้อที่ประมาณ 19,251 ไร่ และข้อตกลงการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ และ ท่าอากาศยานแม่ฟ้าหลวงเชียงราย รวมเนื้อที่ 8,184-0-76.9 ไร่ ทำให้ AOT สามารถนำพื้นที่ดังกล่าวให้ตอบสนองต่อความต้องการหลากหลาย ความคาดหวังของผู้โดยสารและผู้ที่เกี่ยวข้องกับกิจการท่าอากาศยาน

นายนิตินัย กล่าวว่า AOT ได้ประชุมความร่วมมือระหว่างองค์กรด้านการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุสำหรับท่าอากาศยานในความรับผิดชอบทั้ง 6 แห่งซึ่ง AOT กรมธนารักษ์ กรมท่าอากาศยาน และกองทัพอากาศ ได้ร่วมกันพิจารณาและแก้ไขเพิ่มเติมข้อตกลงการใช้ประโยชน์ในที่ราชพัสดุให้มีความสมบูรณ์ โดยเป็นการปรับปรุงในข้อกำหนดกิจกรรมอันเกี่ยวกับหรือต่อเนื่องกับกิจการท่าอากาศยานที่สามารถดำเนินการได้ในที่ราชพัสดุ เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการที่ AOT จะดำเนินกิจกรรมเชิงพาณิชย์ 10 กิจกรรม ได้แก่ โรงแรม การขนส่งและโลจิสติกส์ สำนักงานและศูนย์ธุรกิจ ร้านค้าและศูนย์การค้า การท่องเที่ยว และนันทนาการ การประชุมสัมมนาและนิทรรศการ ที่พักอาศัย การกีฬา การรักษาพยาบาล และกิจกรรมอื่นๆ

นายนิตินัย กล่าวว่าหลังจากลงนามข้อตกลงดังกล่าวแล้ว AOT ก็จะเดินหน้าสรรหาผู้ประกอบการเข้ามาพัฒนาพื้นที่ บริเวณท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มี 2 แปลง ได้แก่ ที่ดินแปลง 37 ซึ่งเป็นที่ราชพัสดุ มีพื้นที่เหลือ 700 ไร่ ซึ่งจะสิ้นสุดสัญญาในปี 75 และที่ดินใกล้ท่าอากาศสุวรรณภูมิ เป็นที่ดินของ AOT มีเนื้อที่ 400 ไร่ รวมแล้ว 1,100 ไร่ โดยเปิดให้ผู้ประกอบการนำเสนอโครงการที่จะพัฒนาในพื้นที่ดังกล่าว ซึ่งยอมรับว่ามีเอกชนหลายรายได้นำเสนอบ้างแล้ว แต่เนื่องจากที่ดินแปลง 37 มีสัญญาเข่าใช้ถึงปี 75 การที่เอกชนเสนอโครงการอาจจะมีข้อจำกัด ที่อาจเป็นโครงการไม่ใหญ่ มีจุดคุ้นทุน 7-8 ปี ดังนั้น AOT เตรียมทำหนังสือต่อกรมธนารักษ์ เพื่อขอขยายเวลาเช้าออกไปอีก 30 ปี และต่อายุได้ 2 ครั้ง ๆ ละ 10 ปี รวมเป็น 50 ปี

ส่วนที่ดินของ AOT อยู่ระหว่างการแก้ไขการจัดโซนนิ่งของพื้นที่จากสีเขียวซึ่งเป็นพื้นที่เกษตรกรรมและที่พักอาศัย มาเป็นพื้นที่สีน้ำเงิน ที่เป็นพื้นที่ราชการ จะสามารถลงทุนโครงการได้ โดยขณะนี้มีเอกชนเสนอโครงการใหญ่ในพื้นที่นี้แล้ว จากนั้น AOT จะพิจารณาความเหมาะสมในแต่ละพื้นที่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ