นายอดิศักดิ์ สุขุมวิทยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เจ มาร์ท (JMART) กล่าวว่า ภาพรวมกลุ่มเจมาร์ทในปี 62 จะพลิกกลับมาเป็นกำไรสุทธิ จากที่ขาดทุนสุทธิ 277.06 ล้านบาทในปีก่อน ซึ่งเป็นไปตามธุรกิจของบมจ.เจ เอ็ม ที เน็ทเวอร์ค เซอร์วิสเซ็ส (JMT) ที่คาดว่าจะสามารถทำรายได้และกำไรสุทธินิวไฮได้อย่างต่อเนื่อง ขณะเดียวกันบริษัทย่อยธุรกิจจัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ (J Mobile), ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล บริษัท เจ ฟินเทค จำกัด (J Fintech), ธุรกิจให้เช่าและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ บมจ.เจเอเอส แอสเซ็ท (J) และบมจ.ซิงเกอร์ประเทศไทย (SINGER) จะกลับมามีกำไรสุทธิได้ในปีนี้
ทั้งนี้ ธุรกิจจัดจำหน่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริษัทจะบริหารช่องทางการจำหน่ายที่หลากหลายผ่านการ Synergy ของกลุ่มเจมาร์ท เพื่อลดต้นทุน และเพิ่มมาร์จิ้น รวมถึงการบริหารจัดการสินค้าคงคลัง และการบริหารผลิตภัณฑ์ให้มีประสิทธิภาพ และการเป็นพันธมิตรแบบ Exclusive Partnership กับบมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส (ADVANC) หรือเอไอเอส ซึ่งเป็นผู้ให้บริการอันดับ 1 ของประเทศไทย ในการการจัดจำหน่ายซิม และแพ็กเกจในช่องทางการจัดจำหน่ายของเจมาร์ท ซึ่งจะทำให้บริษัทสามารถจัดจำหน่ายมือถือที่มีโปรโมชั่นส่วนลดค่าเครื่องที่แข่งขันได้ และมีรายได้เพิ่มจากส่วนแบ่งรายได้ โดยตั้งแต่เริ่มความร่วมมือดังกล่าวในไตรมาส 4/61 บริษัทมียอดจำหน่ายซิมเพิ่มขึ้น โดยจำนวน SIM Subscriber 4 เดือนล่าสุดมีจำนวนรวมเกือบ 50,000 ซิม และตั้งเป้าปี 62 จะเพิ่มขึ้นไม่ต่ำกว่า 200,000 ซิม
นายกิติพัฒน์ ชลวุฒิ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เจ ฟินเทค จำกัด (J Fintech) กล่าวว่า สำหรับธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล ภายใต้แบรนด์ "J Money" คาดว่าจะพลิกกลับมามีกำไรสุทธิได้ตั้งแต่ไตรมาส 1/62 เป็นต้นไป หลังจากการคัดกรองคุณภาพลูกค้าค้าดีขึ้น โดยพิจารณาจากวงเงินเฉลี่ยของสินเชื่อต่อรายลูกค้าเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ซึ่งปีนี้ตั้งเป้าปล่อยสินเชื่อใหม่ประมาณ 1,500 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีพอร์ตลูกหนี้คงค้างอยู่ที่ 4,020 ล้านบาท โดยจะยังมุ่งเน้นการปล่อยสินเชื่อแฟคตอริ่ง และไม่มีหนี้ด้อยคุณภาพ รวมถึงบริษัทยังตั้งเป้าการตั้งสำรองหนี้สงสัยจะสูญลดลงมาเป็นตัวเลขหลักเดียว หรือ 8% จากปีก่อนมีการตั้งสำรองหนี้งสัยจะสูญจากลูกหนี้เป็นตัวเลขสองหลัก ส่วนธุรกิจเรียกเก็บหนี้ปีนี้คาดว่าจะทำได้มากขึ้น โดยตั้งเป้าไว้ที่ 60 ล้านบาท จากปีก่อนทำได้ 12 ล้านบาท ซึ่งในส่วนนี้จะเข้ามาเสริมรายได้ให้แก่บริษัทในปีนี้
ประกอบกับยังได้นำระบบสินเชื่อแบบดิจิทัลที่ไม่มีตัวกลาง (Decentralized Digital Lending Platform : DDLP) ของบริษัท เจ เวนเจอร์ส จำกัด (JVC) เข้ามาเสริมกับธุรกิจ โดย JVC คาดจะพัฒนาระบบดังกล่าวแล้วเสร็จและเริ่มนำระบบบล็อกเชนมาใช้ได้ตามแผนเดิมหรือก่อนวันที่ 1 ต.ค.นี้
อย่างไรก็ตามมองว่าหากผลการดำเนินงานในปีนี้เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ บริษัทจะยื่นไฟลิ่งเพื่อขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯในปี 63 และคาดจะเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ในช่วงปลายปี 63 เพื่อระดมทุนมาขยายธุรกิจ ซึ่งบริษัทมีเป้าหมายการเติบโตจากการหาพันธมิตรเข้ามาเสริมความแข็งแกร่ง โดยบริษัทอยู่ระหว่างหาพันธมิตรที่จะเข้ามาช่วยในเรื่องของ Know-how คาดว่าจะเห็นความชัดเจนในรายละเอียดได้ภายในปีนี้
นายสุทธิรักษ์ ตรัยชิรอาภรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ JMT กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้และกำไรสุทธิปีนี้เติบโต 50% จากความสามารถในการจัดเก็บหนี้ได้ดี โดยปีนี้มีกองหนี้ที่จะต้องเร่งเก็บอยู่ที่ 6,000 ล้านบาท คาดว่าภายในไตรมาส 2/62 จะเร่งเก็บหนี้ได้ครบทั้งหมด ซึ่งจะส่งผลทำให้ครึ่งปีหลังบริษัทจะมีรายได้และกำไรเพิ่มขึ้นอย่างนัยสำคัญ ขณะที่ครึ่งปีแรกจะพยายามรักษาระดับการทำกำไรให้เป็นไปตามมาตรฐาน
พร้อมกันนี้ตั้งเป้ามีกระแสเงินสดจากการเก็บหนี้ในปีนี้ที่ 3,000 ล้านบาท ขณะเดียวกันยังวางงบลงทุนในการซื้อหนี้ด้อยคุณภาพเข้ามาบริหารจำนวน 4,500 ล้านบาท โดยปีนี้ยังคงรักษาระดับมูลหนี้เข้ามาบริหารราว 20,000 ล้านบาท ส่วนธุรกิจประกันภัยภายใต้การบริหารของบมจ.เจพี ประกันภัย ซึ่ง JMT ถือหุ้นในสัดส่วน 55% ปีนี้ตั้งเป้ามีรายได้จากการขายประกันภัยที่ 300 ล้านบาท โดยจะเน้นการทำมาร์จิ้นให้มากขึ้น และเน้นไปยังการขายผลิตภัณฑ์ Non-Motor
นายสุพจน์ วรรณา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ J กล่าวว่า แนวโน้มธุรกิจให้เช่าและพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ ยังมีโอกาสเติบโตอีกมากในปีนี้ โดยบริษัทจะเริ่มเก็บเกี่ยวผลตอบแทนจากที่ลงทุนไว้ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา และได้ปรับรูปแบบของศูนย์การค้าให้ยิ่งน่าสนใจมากขึ้น เพื่อเพิ่มโอกาสในการปรับเพิ่มอัตราค่าเช่าให้เหมาะสมกับการแข่งขัน และรายได้ รวมถึงการร่วมกันจัดกิจกรรมทางการตลาดร่วมกับบริษัทในกลุ่มเจมาร์ท เช่น การทำพื้นที่ขายให้กับ SINGER เพื่อสร้าง Synergy ร่วมกันในการนำเอาสินค้าของ SINGER จัดทำเป็น Outlet มอบโปรโมชั่นดี ๆ ให้กับผู้บริโภคที่เป็นลูกค้าของบริษัทในแหล่งชุมชนใกล้เคียงกับศูนย์การค้า
ส่วนการก่อสร้างคอนโดมิเนียมจะเสร็จสิ้น และจะมีการทยอยโอนคอนโดมิเนียม Newera บางส่วนในปี 62 และต่อเนื่องในปี 63 พร้อมทั้งหาช่องทางการขยายธุรกิจพัฒนาอสังหาริมทรัพย์อื่น ๆ เพิ่มเติมอีก โดยได้มีแผนในการสร้างศูนย์การค้าแห่งใหม่ที่บริเวณนิคมอุตสาหกรรมอมตะ จ.ชลบุรี ซึ่งมีรูปแบบที่เน้นลงทุนไม่สูงมากและได้ผลตอบแทนค่อนข้างดี โดยก่อนหน้านี้ ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทได้อนุมัติการลงทุนก่อสร้างโครงการศูนย์การค้าดังกล่าว มูลค่าโครงการกว่า 400 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มก่อสร้างในช่วงต้นไตรมาส 2/62 และคาดว่าจะแล้วเสร็จ ปี 63
"ภาพของเราทุกอย่างเคลียร์ขึ้น และเราจะกลับมามุ่งเน้นการเติบโตต่อเนื่อง ทั้งธุรกิจกาแฟ ที่ปีนี้จะมีการขยายสาขาร้านคาซ่า ลาแปง จำนวน 4-6 สาขา และธุรกิจอสังหาริมทรัพย์เพื่อเช่า และเพื่อขายยังมีแผนพัฒนาโครงการใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง"
นายกิตติพงศ์ กนกวิไลรัตน์ กรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ SINGER กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้าพลิกกลับมามีกำไรสุทธิ จากปีก่อนมีผลขาดทุนอยู่ที่ 80.77 ล้านบาท จากการควบคุมคุณภาพลูกหนี้และเก็บหนี้ให้ได้มากที่สุด และเพิ่มผลิตภัณฑ์ที่มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น แอร์อินเวอร์เตอร์ที่เพิ่งนำเข้ามาขาย เป็นต้น รวมถึงขยายสาขาแฟรนไชส์ Singer เพิ่มเป็น 2,000 สาขา โดยมุ่งเน้นไปยังตำบลที่ยังเข้าไม่ถึง จากปีก่อนมีอยู่กว่า 900 สาขา
ขณะที่ตั้งเป้าพอร์ตสินเชื่อรถทำเงินในปี 62 จะเติบโตเป็นเท่าตัวหรือมาอยู่ที่ 2,500 ล้านบาท จากปีก่อนที่มีพอร์ตสินเชื่อรถทำเงินอยู่ที่ 1,200 ล้านบาท จากการพัฒนาระบบเข้าเสริมงานขายและการปล่อยสินเชื่อให้มีประสิทธิภาพ