นายบุญเลิศ ใจมั่น ผู้อำนวยการฝ่ายวางแผนกลยุทธ์และนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.ล็อกซเล่ย์ (LOXLEY) กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้รวมปี 2562 เติบโต 20-25% จากปีก่อนที่มีรายได้ 1.36 หมื่นล้านบาท เนื่องจากทุกกลุ่มธุรกิจมีแนวโน้มเติบโต โดยทยอยรับรู้รายได้จากมูลค่างานในมือโดยรวม (Backlog) ที่ปัจจุบันมีกว่า 1.13 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะรับรู้รายได้ภายในปีนี้สัดส่วน 74% หรือคิดเป็นกว่า 8 พันล้านบาท นอกจากนั้นยังรับรู้รายได้จากธุรกิจที่สร้างรายได้ประจำ (Recurring Income) อาทิ ธุรกิจอาหารอีก 3-3.5 พันล้านบาท
ขณะที่กำไรปีนี้ คาดว่าจะเติบโตตามทิศทางเดียวกับรายได้ และบริษัทยังสามารถปรับลดค่าใช้จ่ายพิเศษต่ำกว่าปีก่อนที่ 2.3 พันล้านบาท ประกอบกับรับรู้โครงการที่มีมาร์จิ้นสูง มีส่วนแบ่งกำไรจากเงินลงทุนในบริษัทร่วม ส่งผลให้ปีนี้บริษัทวางเป้าอัตรากำไรสุทธิจะแตะระดับ 3% สูงสุดในรอบหลายปี พร้อมกับรักษาระดับอัตรากำไรขั้นต้นปีนี้ที่ระดับ 14.3% ใกล้เคียงกับปีก่อน
สำหรับแผนเข้าประมูลโครงการใหม่ทั้งภาครัฐและเอกชนมูลค่า 3.3 หมื่นล้านบาท ประกอบด้วย โครงการที่มีโอกาสสูงชนะงานประมูล 1.3 หมื่นล้านบาท ซึ่งมีความมั่นใจว่าจะได้รับงานในสัดส่วน 50-60% ซึ่งงานส่วนใหญ่เป็นกลุ่มงานบริการระบบด้านการขนส่ง ปัจจุบันบริษัทได้มุ่งเน้นประมูลโครงการที่เน้นมาร์จิ้นสูง อาทิ เมกะโปรเจคมูลค่าเกิน 1 พันล้านบาท ต้องรักษาอัตรากำไรขั้นต้นไว้ที่ 10-12% และโครงการขนาดกลางต้องรักษาอัตรากำไรขั้นต้นไว้ที่ 15-20% เป็นต้น
ขณะที่ธุรกิจด้านระบบเทคโนโลยีบริษัทเดินหน้าบริการระบบดาต้าเซ็นเตอร์ เพื่อรองรับดีมานด์ลูกค้าตามการเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค 4.0 ส่วนธุรกิจพลังงาน ล่าสุดมีโครงการรับเหมาก่อสร้างโรงไฟฟ้าไบโอแมสมูลค่า 700 ล้านบาท
นายบุญเลิศ กล่าวว่า บริษัทเตรียมนำบริษัท ล็อกซเล่ย์ เพาเวอร์ ซิสเต็มส์ จำกัด (LPS) ซึ่งประกอบธุรกิจสายส่งไฟฟ้าและสถานีโรงไฟฟ้าย่อย เข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดได้ข้อสรุปอย่างเร็วที่สุดภายในปี 2563 โดยปัจจุบันอยู่ระหว่างเลือกที่ปรึกษาทางการเงิน
สำหรับแผนขยายธุรกิจด้านระบบรักษาความปลอดภัย ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับบมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) เบื้องต้นเป็นรูปแบบการจัดตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อบริหารระบบดังกล่าวทั้ง 6 สนามบิน คาดว่าจะได้ข้อสรุปภายในเดือนมีนาคมนี้
ส่วนแผนการลงทุนปีนี้ บริษัทวางงบลงทุนไว้ที่ 100–200 ล้านบาท เพื่อใช้ในการพัฒนาระบบคลาวด์ (Cloud ) มูลค่า 70 ล้านบาท และลงทุนทางด้านการวิจัยและพัฒนา (R&D) ราว 30 ล้านบาท ที่เหลือจะพิจารณาการลงทุนอีกครั้ง
สำหรับความคืบหน้าเกี่ยวกับโครงการหวยออนไลน์ ล่าสุดอยู่ในขั้นตอนรอการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด ภายหลังจากก่อนหน้านี้ศาลปกครองชั้นต้นมีคำสั่งให้สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาลจ่ายค่าเสียหายกับบริษัท 1.4 พันล้านบาท แบ่งเป็น เงินค่าเสียหายค่าเครื่อง 900 ล้านบาท และดอกเบี้ย 500 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม ล่าสุดที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีมติเห็นชอบร่าง พ.ร.บ.สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล ซึ่งได้ปรับปรุงแก้ไขจากร่างกฎหมายฉบับเดิม ส่งผลให้กองสลากฯ มีอำนาจในการดำเนินโครงการดังกล่าว เชื่อว่าหากรัฐบาลยังยืนยันเดินหน้าต่อก็น่าจะส่งผลดีกับบริษัทต่อไป