นายนพวงศ์ โอมาธิกุล รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายการเงินและบริหารองค์กร บมจ.ดับบลิวพี เอ็นเนอร์ยี่ (WP) เปิดเผยว่า บริษัทวางแผนธุรกิจในช่วง 3-5 ปีข้างหน้า เพื่อรองรับการเติบโตอย่างยั่งยืน และลดความเสี่ยงจากปัจจุบันที่มีเพียงธุรกิจเดียวคือการจำหน่ายก๊าซปิโตรเลียมเหลว (LPG) ที่มีอัตราการเติบโตค่อนข้างทรงตัวปีละ 2-3% เท่านั้น
ทั้งนี้ บริษัทวางเป้ารายได้จากธุรกิจ LPG จะลดเหลือราว 80% จาก 100% ในปัจจุบัน ส่วนที่เหลืออีก 20% จะมาจากธุรกิจใหม่ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างศึกษาเพื่อเข้าร่วมลงทุน ทั้งในธุรกิจกองเรือ ,ถังแก๊ส และเทรดดิ้งในสิงคโปร์ ที่ยังมองเห็นโอกาสการสร้างมาร์จิ้นที่สูงกว่าธุรกิจ LPG ซึ่งจะช่วยผลักดันกำไรสุทธิให้เพิ่มขึ้นได้ในอนาคต
"ปัจจุบันเราเก่งเรื่อง LPG ฉะนั้น LPG ก็ยังเป็นหลัก แต่ในอีก 3-5 ปีเราก็มองว่าน่าจะ diversify ออกสักประมาณ 20% ของตัวรายได้เรา รายได้เราต้องมีมาจากที่อื่นบ้าง เพราะเป็นการกระจายความเสี่ยง 20% ก็ไม่น้อย เพราะ LPG แบรนด์เราที่เป็นเบอร์ 2 วอลุ่มมหาศาล ที่เรากระจายรายได้ 20% ออกไปก็เป็นตัวเลขเยอะมาก ใน 3-5 ปีข้างหน้าเราจะพยายามทำให้ได้"นายนพวงศ์ กล่าว
นายนพวงศ์ มั่นใจว่า บริษัทมีความพร้อมที่จะหาแหล่งเงินทุนเพื่อรองรับการลงทุนธุรกิจใหม่ โดยปัจจุบันมีกระแสเงินสดอยู่ที่ราว 1 พันล้านบาท และมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย, ภาษี, ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) เข้ามาประมาณ 400 ล้านบาท/ปี ขณะที่มีภาระหนี้สินต่อทุน (D/E) ในส่วนที่ก่อให้เกิดดอกเบี้ยอยู่ในระดับต่ำที่ราว 0.2-0.3 เท่า ทำให้ยังมีศักยภาพในการกู้เงิน
WP มีส่วนแบ่งการตลาดยอดขายก๊าซ LPG ในประเทศ ภายใต้แบรนด์ "เวิลด์แก๊ส" เป็นอันดับ 2 หรือคิดเป็น 18% และมีคลังก๊าซ LPG 6 แห่งใน 5 จังหวัด ขนาดรวม 10,909 ตัน ได้แก่ จ.ลำปาง ,จ.ขอนแก่น ,อ.บางปะกง จ.ฉะเชิงเทรา เฟส 1 และเฟส 2 ,จ.สมุทรสงคราม และจ.พิจิตร และเมื่อคลังก๊าซแห่งใหม่แล้วเสร็จ จะมีความจุเพิ่มเป็น 20,409 ตัน
นางสาวชมกมล พุ่มพันธ์ม่วง รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ของ WP กล่าวว่า แผนธุรกิจของบริษัทจะให้ความสำคัญตั้งแต่ต้นน้ำยันปลายน้ำ จากปัจจุบันที่ยังมีเพียงธุรกิจซื้อมาขายไป LPG เท่านั้น ดังนั้น เพื่อให้เกิดการเติบโตอย่างยั่งยืนจำเป็นจะต้องมีซัพพลายเชน อย่างธุรกิจกองเรือ ที่ปัจจุบันบริษัทยังต้องจ้างการขนส่งทางเรือ แต่เมื่อสามารถเข้าไปร่วมลงทุนกับพันธมิตรที่มีความเชี่ยวชาญอยู่แล้วก็จะสามารถต่อยอดในเชิงธุรกิจและพัฒนาเป็นการนำเข้าและส่งออก LPG เองได้ ซึ่งการลงทุนไม่จำเป็นต้องเป็นกองเรือขนาดใหญ่ เพราะในภูมิภาค CLMV ก็มีการขนส่งด้วยเรือที่มีขนาดไม่ใหญ่มากนัก โดยการลงทุนกองเรือน่าจะเห็นความชัดเจนได้ในปีนี้
ส่วนธุรกิจถังแก๊สนั้น เห็นว่าปัจจุบันบริษัทมีถัง LPG ในตลาดมากกว่า 6 ล้านใบ การเข้าร่วมทุนกับพันธมิตร ไม่ใช่เพื่อรองรับเฉพาะธุรกิจของบริษัท และสามารถควบคุมคุณภาพถังแก๊สได้เท่านั้น แต่จะเป็นการต่อยอดอีกหนึ่งธุรกิจของบริษัทโดยร่วมกันพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อรองรับการส่งออกไปตลาดต่างประเทศที่มีมูลค่ามหาศาลในแต่ละปี
"ตัวนี้เราไม่ได้มองว่าเพื่อมาซัพพอร์ตให้ WP ใช้ แต่เรามองว่าเป็นอีกธุรกิจของเราไปเลย และก็จะต่อยอดได้ ถ้าเราควบุคมถังได้เรามีนวัตกรรมของตัวเอง ก็สามารถออกแบบเราเองได้ แปลว่าถ้าเราจะ copy บริษัทของเราออกไปสู่ประเทศไหนก็ตาม เราก็สามารถไปได้เลย เพราะมีครบทุกอย่าง เพราะเราซื้อโนฮาว ความสามารถเขามา ก็สามารถไปส่งออกน้ำมัน LPG ได้ ที่ปัจจุบันเราคุยกับเขา เขาก็มีส่งออกให้ต่างประเทศอยู่แล้ว ไม่ได้ทำแค่ในประเทศ อย่างถังแก๊สก็ต่อยอดได้อีก คือเรามองว่าเติบโตได้ทั้ง verizontal , horizontal ในอนาคตเป็นการที่ดี ก็มองว่าเขาก็มีโอกาสผันตัวเองเข้าตลาดหลักทรัพย์ฯได้อีก"นางสาวชมกมล กล่าว
นางสาวชมกมล กล่าวอีกว่า แผนธุรกิจของบริษัทยังมองโอกาสการลงทุนในต่างประเทศด้วย โดยมีการศึกษาธุรกิจเทรดดิ้งด้านพลังงานในสิงคโปร์ ทั้ง LPG และอื่น ๆ และมองโอกาสการทำธุรกิจ LPG ในเมียนมา ส่วนในประเทศก็ยังหาโอกาสการขยายคลัง LPG ในประเทศเพิ่มเติมเพื่อเพิ่มโอกาสในการกระจายสินค้า จากปัจจุบันที่มีอยู่ 6 แห่งแต่ยังไม่ครอบคลุมทั่วประเทศ ก็มองในพื้นที่ภาคใต้เพิ่มเติม รวมถึงศึกษาการนำนวัตกรรมใหม่ ๆ เพื่อมาบริหารจัดการการดำเนินงานให้ช่วยลดต้นทุนต่าง ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพของการทำกำไรในอนาคตด้วย