นายสุธี สุขเรือน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) กล่าวว่า บริษัทเตรียมปรับเพิ่มเป้าหมายกำลังผลิตไฟฟ้าในมือจากเดิม 4,300 เมกะวัตต์ (MW) ภายในปี 68 หลังมองเห็นศักยภาพการหากำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่มีเพิ่มขึ้น ทั้งดีลการเข้าซื้อกิจการ (M&A) โครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ในจีน,ญี่ปุ่น และเวียดนาม รวมถึงการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป (Conventional) ในไทยและเวียดนาม ซึ่งคาดว่าจะสามารถประกาศเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่ได้ภายในครึ่งแรกปีนี้
ปัจจุบัน BPP มีกำลังผลิตไฟฟ้าในมือ 2,869 เมกะวัตต์ จากโครงการโรงไฟฟ้า 28 แห่ง ในไทย ,จีน ,ญี่ปุ่น ,เวียดนาม ,ลาว โดยเป็นโครงการเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) แล้ว 17 แห่ง กำลังผลิตรวม 2,145 เมกะวัตต์ และโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนา 11 แห่ง กำลังผลิตรวม 724 เมกะวัตต์ ซึ่งจะทยอย COD ครบในปี 66
สำหรับปีนี้บริษัทวางเป้าหมายจะมีกำไรสุทธิไม่ต่ำกว่าระดับ 3.81 พันล้านบาทในปีก่อน จากกำลังผลิตไฟฟ้าที่จะ COD ในปีนี้รวมประมาณ 114 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น ส่วนขยายโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วมที่จีน 1 โครงการ ขนาด 52 เมกะวัตต์ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ญี่ปุ่นจำนวน 5 โครงการ รวม 62 เมกะวัตต์ ขณะที่ปีนี้ไม่มีการหยุดซ่อมบำรุงใหญ่โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี เหมือนปีที่ผ่านมา ทำให้คาดว่าโรงไฟฟ้าจะมีประสิทธิภาพเดินเครื่องผลิตได้ดีขึ้นมาเป็นระดับไม่ต่ำกว่า 98% รวมถึงรักษาประสิทธิภาพการเดินเครื่องผลิตของโรงไฟฟ้าหงสา ในลาว ไว้ที่ระดับ 87% เหมือนปีก่อน ซึ่งจะทำให้ในปีนี้มีส่วนแบ่งของกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) มาจากโรงไฟฟ้าหงสา 40% , โรงไฟฟ้าบีแอลซีพี 30% ส่วนที่เหลือ 30% มาจากโรงไฟฟ้าพลังงานทดแทน และโรงไฟฟ้าในจีน
"เรากำลังทำตัวเลขกันใหม่ แนวโน้มการหากำลังการผลิตใหม่เข้ามาจะทำได้สูงกว่าเป้า เพราะที่ผ่านมาเราทำได้ดีอย่าง renewable ที่เราวางเป้าว่าจะมี 20% ของ 4,300 เมกะวัตต์ แต่ตอนนี้เราทำได้แล้ว 465 เมกะวัตต์ ก็ทำได้เกินครึ่งหนึ่งแล้ว และในส่วนของ Conventional ก็ยังมีโอกาสอีกมาก"นายสุธี กล่าว
นายสุธี กล่าวว่า เป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้า 4,300 เมกะวัตต์ ภายในปี 68 เมื่อเทียบกับที่มีอยู่ในมือปัจจุบัน 2,869 เมกะวัตต์ คงเหลือกำลังการผลิตที่จะต้องหาใหม่อีกราว 1,400 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าพลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป 1,000 เมกะวัตต์ และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 400 เมกะวัตต์ โดยการมองหากำลังการผลิตใหม่เข้ามาจะมาจากฐานประเทศที่มีอยู่แล้ว และประเทศใหม่ที่มีศักยภาพ
โดยประเทศที่มีฐานผลิตอยู่แล้ว อย่างเวียดนาม นับว่ามีศักยภาพอย่างมากหลังจากที่เวียดนามประกาศเป้าหมายกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มเป็น 87,000 เมกะวัตต์ภายในปี 66 จากปัจจุบันที่มีอยู่ 43,000 เมกะวัตต์ โดยในส่วนนี้แบ่งเป็น พลังงานเชื้อเพลิงทั่วไป 40,000 เมกะวัตต์ ,พลังงานหมุนเวียน 27,000 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลือเป็นเชื้อเพลิงอื่น ๆ ซึ่งปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตในมือสำหรับพลังงานลม 1 แห่ง กำลังผลิต 80 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 3 เฟส แล้วเสร็จเฟสแรกในปลายปี 63 ส่วนอีก 2 เฟสที่เหลือจะแล้วเสร็จในต้นปี 64 โดยกำลังผลิตที่ 80 เมกะวัตต์ เป็นส่วนหนึ่งของกำลังการผลิตที่ได้ลงนาม MOU กับรัฐบาลเวียดนามสำหรับโครงการพลังงานลมทั้งหมด 200 เมกะวัตต์ ซึ่งส่วนที่เหลือยังไม่ได้นับรวมเป็นกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือที่มีอยู่
นอกจากนี้ยังมีโอกาสโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ ในเวียดนามที่อยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรที่ได้รับใบอนุญาตดำเนินการแล้ว และยังมีโอกาสสำหรับโครงการผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงทั่วไป ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างเจรจากับรัฐบาลเวียดนาม แต่ยังไม่สามารถเปิดเผยได้ในขณะนี้
ส่วนในประเทศ ก็มีโอกาสสำหรับการหากำลังการผลิตใหม่ตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 (PDP2018) ที่จะมีโรงไฟฟ้าหลักแข่งขันใหม่รวมประมาณ 8,300 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทมีศักยภาพสำหรับการสร้างโรงไฟฟ้าบีแอลซีพี ส่วนขยาย ได้อีก 1,000 เมกะวัตต์ ที่ปัจจุบันได้รับการอนุมัติรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (EHIA) เรียบร้อย โดยรอรัฐบาลเปิดให้ยื่นข้อเสนออย่างเป็นทางการก็พร้อมที่จะดำเนินการได้ทันที ซึ่งเบื้องต้นจะใช้เชื้อเพลิงถ่านหิน แต่ก็พร้อมที่จะปรับเปลี่ยนเป็นเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติได้หากรัฐบาลมีความต้องการ รวมถึงให้ความสนใจที่จะเข้าร่วมประมูลโรงไฟฟ้าหลักแข่งขันในพื้นที่อื่น ๆ ด้วย
สำหรับในประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 13 โครงการ กำลังผลิตรวม 234 เมกะวัตต์ โดยเป็นโรงไฟฟ้าที่ COD แล้ว 5 โครงการ กำลังผลิตรวม 38 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างพัฒนา ซึ่งจะเดินเครื่องในปีนี้อีก 5 โครงการ รวม 62 เมกะวัตต์ และเดินเครื่องอีก 2 โครงการในปี 63 ส่วนอีก 1 โครงการที่เหลือจะเดินเครื่องผลิตในปี 66 และปัจจุบันบริษัทมองหาการลงทุนใหม่เพิ่มเติมด้วย
ด้านการลงทุนในจีน ปัจจุบันมีโครงการผลิตไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ 6 แห่ง กำลังผลิต 152 เมกะวัตต์ ที่ปัจจุบันเดินเครื่องผลิตแล้วทั้งหมด ขณะที่จีนชะลอการส่งเสริมลงทุนสำหรับโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน หลังจากที่ปัจจุบันมีกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนรวมกันประมาณ 170,000 เมกะวัตต์ ทำให้โอกาสเกิดโครงการใหม่มียากขึ้น แต่ก็มีโอกาสที่จะทำดีล M&A โครงการที่ผู้ประกอบการเดินเครื่องผลิตอยู่แล้วแต่ไม่สามารถดำเนินการต่อไปได้ ก็เสนอขายโครงการออกมา ซึ่งปัจจุบันมีการเจรจาอยู่หลายโครงการ กำลังการผลิตราว 20-50 เมกะวัตต์/โครงการ
ส่วนโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงทั่วไปในจีนนั้น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานถ่านหินซานซีลู่กวง (SLG 1) กำลังการผลิตรวม 1,320 เมกะวัตต์ ซึ่งบริษัทถือหุ้นอยู่ 30% โดยโครงการนี้ยูนิตแรก ขนาด 660 เมกะวัตต์จะแล้วเสร็จในปลายปี 62 และยูนิตที่ 2 ขนาด 660 เมกะวัตต์ จะแล้วเสร็จต้นปี 63 ส่วนโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนร่วม อีก 3 โครงการในจีน ปัจจุบันมีการขยายกำลังการผลิตเฟสที่ 3 ใน 1 โครงการ กำลังการผลิต 52 เมกะวัตต์ จะแล้วเสร็จในปีนี้ ส่วนโอกาสขยายกำลังการผลิตเพิ่มเติมอีกคงต้องรอดู 1-2 ปี ว่าตลาดยังมีความต้องการไฟฟ้าและไอน้ำเพิ่มขึ้นอีกหรือไม่ แต่บริษัทก็มีศักยภาพพร้อมที่จะขยายกำลังการผลิตได้
นายสุธี ยืนยันว่าบริษัทมีศักยภาพในการจัดหาแหล่งเงินลงทุน เพื่อรองรับการหากำลังการผลิตใหม่เข้ามาเพิ่มเติมในมือและการพัฒนาโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในมือแล้ว เนื่องจากมีภาระหนี้สินต่อทุนต่ำทำให้มีศักยภาพในการกู้ยืมเงินเพื่อลงทุนได้ โดยตั้งงบลงทุนในปี 62-63 ไว้จำนวน 125 ล้านเหรียญสหรัฐฯ สำหรับการพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าที่มีอยู่ในมือ แบ่งเป็น โรงไฟฟ้าที่ใช้เชื้อเพลิงทั่วไป จำนวน 60 ล้านเหรียญสหรัฐฯ และโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 65 ล้านเหรียญสหรัฐฯ โดยยังไม่รวมงบลงทุนสำหรับทำดีล M&A