นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รมว.คลัง กล่าวถึงการเพิ่มทุนของกระทรวงการคลังในการควบรวมธนาคารทหารไทย (TMB) กับธนาคารธนชาต (TBANK) ว่า การเพิ่มทุนเป็นการรักษาสิทธิในฐานะผู้ถือหุ้นที่กระทรวงการคลังจะต้องทำ เพราะไม่เช่นนั้นหากเกิด dilute ก็เท่ากับว่ากระทรวงการคลังเป็นผู้สร้างความเสียหายให้เกิดขึ้น อย่างไรก็ดี การควบรวมระหว่าง 2 ธนาคารดังกล่าวขณะนี้ยังเป็นเพียงกรอบการหารือในเบื้องต้น ซึ่งต้องรอขั้นตอนการทำ Due Diligence ให้เรียบร้อยก่อน
"จะตกลงกันได้หรือเปล่ายังไม่รู้เลย ต้องรอ Due diligence ถึงจะรู้ราคา ถึงจะรู้ว่าเขาจะเพิ่มทุนในสัดส่วนเท่าไร แต่นี่เพียงแค่คุยกันในกรอบเบื้องต้นว่าจะทำแบบนี้ แล้วคลังจะเอาไหม เราก็บอกว่า ถ้ารักษาสิทธิ เราก็ต้องเอา ไม่อย่างนั้นเราก็เป็นผู้ทำความเสียหาย ถ้าไม่รักษาสิทธิ dilute เราก็เป็นผู้ทำความเสียหาย พวกที่ทำหุ้นแบบนี้ก็ต้องรู้ ไม่งั้นจะถูก dilute โดยที่ไม่ take action แล้วในเมื่อมีสิทธิแล้วไม่เอา มันแปลว่าอะไร" รมว.คลังกล่าว
ส่วนเงินที่จะนำมาใช้ในการเพิ่มทุน คาดว่าจะมาจากเงินลงทุนและเงินปันผลของกองทุนวายุภักษ์ส่วนหนึ่ง และเงินงบประมาณของกระทรวงการคลังอีกส่วนหนึ่ง
"การลงทุนในทหารไทย ไม่ใช่ยุทธศาสตร์ของรัฐบาลที่จำเป็นต้องลงทุน แต่ครั้งที่แล้วที่ลงไป เพราะจำเป็นต้องรักษาความมั่นคงของสถาบันการเงิน...ส่วนถ้าทำไม่ทันรัฐบาลนี้ ก็ไม่เป็นไร ไม่ได้มีปัญหาอะไร เพราะมันตรงไปตรงมา ก็อยู่ที่รัฐบาลใหม่ ถ้ารัฐบาลใหม่เขาไม่อยากได้ ก็ให้เขาตัดสินใจ เป็นเรื่องของเขา ถ้าพร้อมที่จะถูก dilute แต่ต้องอธิบายให้ได้ว่าถูก dilute ทำไมปล่อยให้ถูก dilute" รมว.คลังกล่าว
พร้อมระบุว่า การควบรวมกันของธนาคารดังกล่าวเป็นเรื่องดี เพราะเมื่อควบรวมกันแล้วจะทำให้ธนาคารใหม่มีศักยภาพในการแข่งขันมากขึ้น เนื่องจากต้นทุนการพัฒนาเทคโนโลยีจะลดลง ท่ามกลางความจำเป็นที่แต่ละธนาคารจะต้องใช้งบประมาณลงทุนค่อนข้างสูงในส่วนนี้จากภาวะของ Disruptive Technology
"technology disruption เป็นอีกตัวหนึ่งที่เป็นปัจจัยที่ทำให้จะต้องเป็นแบงค์ที่ใหญ่ขึ้น ถ้าเป็นแบงก์เล็ก การลงทุนในไอที ด้วยรายได้ของเขา การลงทุนเยอะขนาดนี้เมื่อเทียบกับสัดส่วนรายได้ จะทำให้เขาไม่สามารถแข่งได้ ถ้าแบงก์ยิ่งใหญ่ ยิ่งมีโอกาส ถ้าห่วงเรื่อง disrupt ก็จะต้องใหญ่ขึ้น เพื่อสามารถลงทุนได้ แต่แบงก์ที่ไม่ลงทุน ก็จะมีความเสี่ยง" รมว.คลัง กล่าว