น.ส.ภัทร์ภูรี ชินกุลกิจนิวัฒน์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายการเงินและบัญชี บมจ.บีซีพีจี (BCPG) กล่าวว่า บริษัทตั้งเป้ากำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อม และค่าจัดจำหน่าย (EBITDA) ปี 62 เติบโต 15-20% จากปีก่อนอยู่ที่ 2,496 ล้านบาท เนื่องจากจะมีการจำหน่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) เพิ่มเติมอีก จากปัจจุบันที่มีการ COD ไปแล้วจำนวน 381.1 เมกะวัตต์ ได้แก่ โครงการ Lomligor Wind Farm จ.นครศรีธรรมราช กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์ คาด COD ได้ในช่วงเดือนเม.ย.นี้ และโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Chiba ประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิต 30 เมกะวัตต์ จะ COD ในช่วงปลายปีนี้ รวมถึงโครงการมหาวิทยาลัยอัจฉริยะพลังงานสะอาดที่บริษัทได้รับคัดเลือกจากมหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ให้เป็นผู้ติดตั้งระบบไฟฟ้าแสงอาทิตย์บนพื้นที่หลังคา กำลังการผลิตรวม 12 เมกะวัตต์ ที่จะทยอย COD ในปลายปี 62 เป็นต้นไป
ปัจจุบันบริษัทยังมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนาอีกรวม 191 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น โครงการ Lomligor Wind Farm จ.นครศรีธรรมราช กำลังการผลิต 10 เมกะวัตต์, โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิต 151.1 เมกะวัตต์, โครงการพลังงานความร้อนใต้พิภพ ในประเทศอินโดนีเซีย กำลังการผลิต 24 เมกะวัตต์, โครงการพลังงานลม ในประเทศฟิลิปปินส์ กำลังการผลิต 5.6 เมกะวัตต์
สำหรับการปรับเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าในอัตราใหม่ ของกระทรวงเศรษฐกิจการค้า และอุตสาหกรรม (Ministry of Economy, Trade and Industry : METI) ประเทศญี่ปุ่นภายใต้เงื่อนไขหากผู้ที่จะลงทุนโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ยื่นขอใบอนุญาตไม่ทันวันที่ 30 ก.ย.นี้ จะถูกปรับลดอัตราการรับซื้อค่าไฟฟ้าลงเป็น 21 เยนต่อหน่วย จากเดิมที่มีการรับซื้อไฟฟ้าในอัตราที่ 36 เยนต่อหน่วย และเมื่อได้รับใบอนุญาฯ แล้วจะต้องมีการก่อสร้างโครงการให้แล้วเสร็จภายใน 1 ปี และ COD ตามกำหนด หากไม่ทันทางรัฐบาลจะมีการลดระยะเวลาในการรับซื้อไฟฟ้าลง
ทั้งนี้ บริษัทได้มีการตรวจสอบโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา พบว่ามี 1 โครงการที่เข้าค่ายเกณฑ์ดังกล่าว คือ โครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ Yabuki ที่ประเทศญี่ปุ่น กำลังการผลิต 27.9 เมกะวัตต์ เนื่องจากขณะนี้ยังไม่ได้ยื่นขอใบอนุญาตฯ แต่อย่างไรก็ตามบริษัทจะเร่งดำเนินการเพื่อในทันวันที่ 30 ก.ย.นี้ และลงทุนได้ตามแผนที่วางไว้
นอกจากนี้ บริษัทยังมองโอกาสการลงทุนในโรงไฟฟ้าพลังงานสะอาดอย่างต่อเนื่อง โดยในประเทศไทยจะมุ้งเน้นไปยังการเข้าประมูลงานในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (Power Development Plan : PDP) ของประเทศไทย ฉบับใหม่ 20 ปี (ปี 61-80) แบ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ กำลังการผลิต 10,000 เมกะวัตต์, โซลาร์ฟาร์มลอยน้ำ-Hydro กำลังการผลิตรวม 2,725 เมกะวัตต์ และพลังงานลม กำลังการผลิต 1,485 เมกะวัตต์
พร้อมกันนี้ยังมองโอกาสขยายการลงทุนในต่างประเทศ ได้แก่ ประเทศญี่ปุ่น โดยมองโรงไฟฟ้าไบโอแมสกำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์, อินโดนีเซีย มองการลงทุนโรงไฟฟ้าพลังงานความร้อนใต้พิภพต่อเนื่อง, ฟิลิปปินส์ มองเป็นการพัฒนาพลังงานลม และนอกเหนือจากนั้นยังมองประเทศมาเลเซีย ซึ่งปัจจุบันอยู่ระหว่างรอทราบผลประมูลโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ คาดว่าจะรู้ผลในเดือนส.ค.นี้ ตั้งเป้ากำลังการผลิต 100 เมกะวัตต์ และคาดจะ COD ได้ในปี 63, เวียดนาม มองพลังงานลมและพลังงานแสงอาทิตย์, ไต้หวัน มองพลังงานลม, เกาหลีใต้ มองพลังงานลมและแบตเตอรี่ และออสเตรเลีย มองพลังงานลม
น.ส.ภัทร์ภูรี กล่าวเพิ่มเติมว่า บริษัทฯ ยังมองโอกาสในการเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าอีกด้วย อย่างไรก็ตามมองผลตอบแทนจากการลงทุน (IRR) ทุกรูปแบบที่ 13-15% ต่อโปรเจคต์ โดยได้วางงบลงทุนรวม 5 ปี (62-66) ไว้ที่ 50,000 ล้านบาท แบ่งเป็น ใช้ในการลงทุนพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าใหม่ 50% และซื้อกิจการโรงไฟฟ้า (M&A) 50% ขณะที่ปีนี้จะใช้งบลงทุนที่ 10,000 ล้านบาท ซึ่งแหล่งงเงินลงทุน 5 ปี จะมาจากกระแสเงินสดที่มีอยู่และเงินกู้ อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ก็อยู่ระหว่างพิจารณาออกหุ้นกู้ จากปัจจุบันยังมีวงเงินที่เหลือจากการขออนุมัติผู้ถือหุ้นไว้ 30,000 ล้านบาท เพื่อรองรับการลงทุน
อีกทั้งปัจจุบันก็มีผู้ที่สนใจเข้าซื้อโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศญี่ปุ่น แต่ขณะนี้บริษัทฯ ยังไม่มีการตัดสินใจขาย แต่หากดูแล้วว่าให้ผลตอบแทนดี ก็อาจมีการพิจารณากันอีกครั้งหนึ่ง
ส่วนการเข้าร่วมลงทุนกับพันธมิตรประเทศฮ่องกง โดยบริษัทฯ ถือหุ้นในสัดส่วน 45% เพื่อร่วมกันพัฒนาโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนในภูมิภาคอาเซียน คาดว่าจะเห็นความชัดเจนการพัฒนาโครงการดังกล่าวร่วมกันได้ภายใน 6 เดือนนี้ ซึ่งเบื้องต้นยังเปิดกว้างการพัฒนาโครงการพลังงานทุกรูปแบบ