บมจ.ปตท. (PTT) แจ้งว่า กระทรวงการคลังโดยกรมธนารักษ์ กระทรวงพลังงาน และ ปตท.ได้หารือร่วมกันและได้ข้อสรุปแนวทางการคิดค่าเช่าทรัพย์สินที่ได้ที่ ปตท. ได้รับจากการแปลงสภาพจากการปิโตรเลียมฯ ในวันที่จดทะเบียนจัดตั้ง ปตท. ตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด ดังนี้
หลักเกณฑ์การคิดค่าเช่าทรัพย์สินที่แบ่งแยกให้กับกระทรวงการคลัง เป็นลักษณะของการแบ่งรายได้ (Revenue Sharing) โดยรายได้ค่าผ่านท่อที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลังเพื่อนำมาใช้ในการคำนวณค่าเช่าจะคำนวณจากรายได้ค่าผ่านท่อที่เกิดขึ้นจริงในแต่ละปีของท่อที่เกี่ยวข้องตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด คูณสัดส่วนระยะทางของท่อที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง ทั้งนี้ รายละเอียดเงื่อนไขจะเป็นไปตามข้อกำหนดที่จะมีขึ้นระหว่าง ปตท. และกรมธนารักษ์
อัตราค่าเช่าจะกำหนดเป็นอัตราขั้นบันได โดย รายได้ค่าผ่านท่อที่แบ่งแยกให้กระทรวงการคลัง 0 - 3,600 ล้านบาท คิดอัตราค่าเช่า 5%, รายได้ส่วนเพิ่มในช่วง 3,601-3,700 ล้านบาท อัตราค่าเช่า 10%, รายได้ส่วนเพิ่มในช่วง 3,701 - 3,900 คิดอัตราค่าเช่า 15%, รายได้ส่วนเพิ่มในช่วง 3,901 - 4,100 ล้านบาท คิดอัตราค่าเช่า 20%, รายได้ส่วนเพิ่มในช่วง 4,101 - 4,300 ล้านบาท คิดอัตราค่าเช่า 25%, รายได้ส่วนเพิ่มในช่วง 4,301 - 4,500 ล้านบาท คิดอัตราค่าเช่า 30% และ รายได้ส่วนเพิ่มในช่วง 4,501 - 5,000 คิดอัตราค่าเช่า 35%
โดยอัตราค่าเช่าจะคำนวณย้อนหลังนับแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2544 ซึ่งเป็นวันที่มีการแปลงสภาพการปิโตรเลียมฯ เป็น ปตท. โดยจากการคำนวณตัวเลขเบื้องต้นของ ปตท. คาดว่า ค่าเช่าพร้อมดอกเบี้ยไม่ทบต้นในอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี นับจากวันที่ 1 ตุลาคม 2544 ถึงสิ้นปี 2550 คิดเป็นเงินรวมประมาณ 1,520 ล้านบาท ซึ่งการจ่ายเงินงวดแรกจะทำได้หลังจากที่กรมธนารักษ์และ ปตท. ได้ลงนามสัญญาเรียบร้อยแล้ว
ทั้งนี้ สัญญาเช่าดังกล่าวมีกำหนด 30 ปีและ ปตท. สามารถต่อสัญญาออกไปได้อีกคราวละ 30 ปี โดยภาระค่าเช่าต่อปีที่ ปตท.ต้องจ่ายให้กับกระทรวงการคลังจะต้องไม่ต่ำกว่า 180 ล้านบาท และสูงสุดไม่เกิน 550 ล้านบาท
--อินโฟเควสท์ โดย เสาวลักษณ์ อวยพร/ศศิธร โทร.0-2253-5050 ต่อ 345 อีเมล์: sasithorn@infoquest.co.th--