นายภากร ปีตธวัชชัย กรรมการและผู้จัดการ ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) เปิดเผยว่า แผนกลยุทธ์ตลาดหลักทรัพย์ฯในช่วง 3 ปี (ปี 62-64) เป็นการมุ่งเน้นการพัฒนาแพลตฟอร์มโครงสร้างพื้นฐาน สร้างตลาดทุนยุคดิจิทัลที่ครบวงจรควบคู่กับโอกาสการลงทุนใหม่ และยกระดับประสบการณ์การลงทุนที่สะดวกและรวดเร็ว โดยตลาดทุนไทยจะเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรมใน 2 มิติ โดยหนึ่งในนั้นเป็นการสร้างโอกาสธุรกิจสินทรัพย์ดิจิทัล ซึ่งตลท.จะเริ่มกระบวนการทำงานร่วมกับผู้เกี่ยวข้องในวันที่ 27 มีนาคมนี้ในงาน "ร่วมสร้างตลาดทุนดิจิทัลแห่งอนาคต" โดยคาดว่าจะพัฒนาแพลตฟอร์มต้นแบบและมีความชัดเจนภายในปีนี้ เพื่อให้พร้อมให้บริการในปี 2563
"เราเชื่อมั่นว่าความร่วมมือกับผู้ประกอบการไทยในการพัฒนารูปแบบธุรกิจจากสินทรัพย์ดิจิทัลจะเป็นประโยชน์ต่อประเทศไทย และสร้างจุดเปลี่ยนให้เกิดการพัฒนาอย่างก้าวกระโดดให้กับตลาดทุนไทย โดยคาดว่าจะพัฒนาแพลตฟอร์มต้นแบบและมีความชัดเจนภายในปีนี้ เพื่อให้พร้อมให้บริการในปี 63 โดยตลาดหลักทรัพย์ฯพร้อมทำงานร่วมกับทุกภาคส่วนเพื่อสร้างตลาดทุนอนาคตที่ทุกคนเชื่อมั่น เชื่อมือ เชื่อถือ และเชื่อใจ"นายภากร กล่าว
นายภากร กล่าวอีกว่า ตลท.จะผนึกกำลังทุกภาคส่วนเพื่อสร้างตลาดทุนแห่งอนาคตด้วยทรัพย์สินดิจิทัล ก่อให้เกิดโอกาสใหม่ในตลาดทุนและเปลี่ยนโฉมโลกการลงทุน เพราะเชื่อมั่นว่าอนาคตของตลาดทุนไทยจะเกิดขึ้นได้จากความคิดสร้างสรรค์ที่ทุกภาคส่วนจะร่วมกันค้นหาและออกแบบขึ้น โดยในงาน"ร่วมสร้างตลาดทุนดิจิทัลแห่งอนาคต" จะเชิญผู้สนใจไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานภาครัฐ หน่วยงานกำกับดูแล ธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทจัดการลงทุน ผู้ระดมทุน custodian และฟินเทค ร่วมรับฟังแนวคิดและแลกเปลี่ยนมุมมองในการพัฒนาตลาดทุนแห่งอนาคตที่ครบมิติ
นายภากร กล่าวอีกว่า สำหรับอีกหนึ่งมิติของการเปลี่ยนผ่านสู่ยุคดิจิทัลอย่างเป็นรูปธรรมนั้น จะเป็นการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับการลงทุนในโลกปัจจุบันให้เป็นดิจิทัลทั้งกระบวนการ ตั้งแต่การเปิดบัญชีที่ไม่ต้องใช้กระดาษตลอดกระบวนการภายในปี 61 ด้วยการพิสูจน์ตัวตน การชำระเงินค่าอากรสแตมป์สำหรับสัญญามอบอำนาจแต่งตั้งนายหน้า และการอนุญาตการหักเงินบัญชีธนาคารในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด
นอกจากนี้การพัฒนา FundConnext ซึ่งเชื่อมโยงการจัดจำหน่ายกองทุนในประเทศแล้วกว่า 19 บริษัทหลักทรัพย์จัดการกองทุนรวม (บลจ.) และจะเชื่อมต่อยังไป Clearstream ซึ่งเป็นแพลตฟอร์มการจัดหน่ายกองทุนระดับโลกของตลาดหลักทรัพย์เยอรมนี เปิดประตูเชื่อมโยงการลงทุนระหว่างประเทศไทยกับอีกกว่า 56 ประเทศทั่วโลก เพื่อให้ผู้ลงทุนและผู้จำหน่ายกองทุนในประเทศไทยสามารถลงทุนในกองทุนรวมในต่างประเทศ และเป็นช่องทางให้ผู้ลงทุนในต่างประเทศเข้าถึงกองทุนรวมของไทยได้ผ่านระบบอิเล็กทรอนิกส์
สำหรับระบบการชำระเงินตลาดทุน ซึ่งเริ่มใช้ในปีที่แล้วจะรองรับการชำระเงินการซื้อขายหลักทรัพย์แบบข้ามธนาคาร ส่งผลให้สถาบันตัวกลางทำงานได้สะดวกและบริหารต้นทุนอย่างมีประสิทธิภาพ โดยทั้งหมดนี้จะพร้อมให้บริการภายในไตรมาสที่ 3/62
นอกจากนี้ยังเล็งเห้นความสำคัญของการร่วมพัฒนาตลาดทุนในประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่ม CLMV และอาเซียนโดยเฉพาะในกลุ่มประเทศเพื่อนบ้านที่ตลท.ต้องการที่จะผลักดันตลาดทุนในด้านการซื้อขายแลกเปลี่ยนหลักทรัพย์ระหว่างประเทศ เพื่อเป็นการช่วยเพิ่มสภาพคล่องให้กับหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ของประเทศนั้น ๆ ทำให้มีสภาพคล่องมากขึ้น เพื่อดึงดูดความน่าสนใจในการลงทุน และทำให้บริษัทจดทะเบียนต่าง ๆ เกิดความสนใจเข้ามาระดมทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ซึ่งเป็นการพัฒนาผลิตภัณฑ์ DR (Depositary Receipt) หรือตราสารแสดงสิทธิการฝากหลักทรัพย์ต่างประเทศ
โดยที่ผ่านมามีบล.บัวหลวงได้ออกผลิตภัณฑ์ DR ตัวแรกของไทย "E1VFVN3001" ซึ่งอ้างอิง ETF ที่ลงทุนในดัชนี VN30 ดัชนีหุ้นของบริษัทชั้นนำ 30 บริษัทในเวียดนาม และได้รับการตอบรับเป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยทำให้สภาพคล่องของหุ้นในตลาดหุ้นเวียดนามเพิ่มขึ้น ซึ่งสัดส่วนของสภาพคล่องของหุ้นในตลาดหุ้นเวียดนาม มาจากการออก DR ในไทย สัดส่วน 30%
ส่วนก้าวต่อไปของการช่วยพัฒนาตลาดหุ้นในประเทศเพื่อนบ้านทางตลาดหลักทรัพย์ฯอยู่ระหว่างการหารือในการทำงานร่วมกันหน่วยงานกำกับของลาว และทางตลาดหลักทรัพย์ลาว เพื่อที่จะพัฒนาผลิตภัณฑ์ DR ที่ทางตลาดหลักทรัพย์ของไทยจะนำหุ้นในลาวมาออก DR ขายในไทย และทางตลาดหลักทรัพย์ไทยจะนำ ETF ของหุ้นไทยไปออกในลาว ซึ่งเป็นการแลกเปลี่ยนกัน เพื่อเป็นการช่วยกระตุ้นสภาพคล่องการซื้อขายในตลาดหลักทรัพย์ของทั้ง 2 ประเทศ เพื่อสร้างความสนใจให้กับนักลงทุนต่างๆมากขึ้น