บริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เพิ่มอันดับเครดิตองค์กรของ บมจ.ปริญสิริ (PRIN) เป็นระดับ "BBB-" จากเดิมที่ระดับ "BB+" ในขณะเดียวกัน ทริสเรทติ้งปรับแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทเป็น "Stable" หรือ "คงที่" จาก "Positive" หรือ "บวก" โดยอันดับเครดิตที่ปรับเพิ่มขึ้นสะท้อนถึงพัฒนาการที่ดีขึ้นของความสามารถในการทำกำไรและภาระหนี้ของบริษัท อันดับเครดิตยังสะท้อนถึงฐานรายได้ของบริษัทที่มีขนาดเล็ก สภาพคล่องของบริษัทที่ยังมีความตึงตัว และความกังวลต่อหนี้ภาคครัวเรือนของประเทศที่อยู่ในระดับสูงซึ่งส่งผลกระทบต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ตลอดจนผลกระทบจากเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเกณฑ์ใหม่ของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่อาจส่งผลต่อเงินกู้ที่ได้รับ
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
ฐานรายได้มีขนาดเล็กด้วยจำนวนโครงการที่มีจำกัด บริษัทมีขนาดเล็กกว่าบริษัทพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ส่วนใหญ่ที่ได้รับการจัดอันดับเครดิตโดยทริสเรทติ้ง โดยมีรายได้ 2,000-3,000 ล้านบาทต่อปีในช่วง 7 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ตั้งแต่ปี 2559 บริษัทเน้นขายสินค้าโครงการเดิมที่มีอยู่เพื่อลดสินค้าคงเหลือ ส่งผลให้บริษัทเปิดโครงการใหม่เพียง 2 โครงการในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา โครงการที่เปิด ได้แก่ โครงการ ซิตี้เซนส์ พระราม 2-ท่าข้าม ในปี 2559 และโครงการ ซิตี้เซนส์ รังสิต ในปี 2561 ณ เดือนธันวาคม 2561 บริษัทมีโครงการเหลือขายจำนวน 17 โครงการมูลค่าประมาณ 6,597 ล้านบาท โดยประมาณ 63% เป็นโครงการบ้านเดี่ยวและบ้านแฝด ในขณะที่ประมาณ 23% เป็นโครงการทาวน์เฮ้าส์ และอีก 14% เป็นโครงการคอนโดมิเนียม บริษัทมียอดขายรอการรับรู้รายได้ที่มีขนาดเล็กเนื่องจากสินค้าส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นโครงการที่อยู่อาศัยแนวราบแบบกึ่งสร้างเสร็จหรือแบบสร้างเสร็จ
ในปี 2562 บริษัทมีแผนจะเปิดตัวโครงการอสังหาริมทรัพย์ 4 โครงการซึ่งมีมูลค่าประมาณ 3,520 ล้านบาทประกอบด้วยโครงการแนวราบ 3 โครงการ และคอนโดมิเนียมแบบตึกเตี้ย 1 โครงการบริษัทมีแผนจะเปิดตัวโครงการอสังหาริมทรัพย์เพิ่มในปี 2563 และ 2564 อย่างไรก็ตาม โครงการอาจเลื่อนออกไปขึ้นอยู่กับสภาวะตลาด ณ ขณะนั้น ทริสเรทติ้งคาดว่ารายได้ของบริษัทจะอยู่ในช่วง 2,600-3,000 ล้านบาทต่อปีในปี 2562-2564 หากสามารถเปิดโครงการได้ตามแผน
การควบคุมต้นทุนและการปรับโครงสร้างองค์กรส่งผลให้ความสามารถในการทำกำไรดีขึ้น ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2559 เนื่องจากความพยายามในการปรับลดต้นทุน บริษัทปรับลดต้นทุนการดำเนินงาน เช่น ต้นทุนในส่วนพนักงาน และค่าใช้จ่ายด้านการตลาด โดยการหันมาใช้การตลาดออนไลน์ซึ่งมีราคาถูกกว่าและให้ประสิทธิผลที่ดีแทนการตลาดแบบดั้งเดิม อาทิป้ายประกาศ อีกสาเหตุที่ค่าใช้จ่ายด้านการตลาดลดลงเนื่องมาจากบริษัทเปิดโครงการอสังหาริมทรัพย์ไม่มากนักในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม บริษัทสามารถสร้างยอดขายได้ราว 2,500-3,000 ล้านบาทต่อปี ส่งผลให้อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานเพิ่มขึ้นเป็น 13% ในปี 2559 จาก 8% ในปี 2558 อัตรากำไรเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็น 15% ในปี 2560 และ 18% ในปี 2561
บริษัทมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างเพื่อยกระดับการทำงานในองค์กร ก่อนปี 2559 บริษัทประสบปัญหาการก่อสร้างล่าช้าในบางโครงการซึ่งส่งผลต่อการส่งมอบบ้านได้ไม่ตรงตามกำหนด ปัญหานี้ได้ถูกแก้ไขหลังบริษัทเปลี่ยนนโยบายเป็นขายบ้านสร้างเสร็จ ระยะเวลาส่งมอบโดยเฉลี่ยของโครงการแนวราบจึงลดลงอย่างต่อเนื่องจากเดิมที่มากกว่า 300 วันในปี 2554 เป็นต่ำกว่า 30 วันตั้งแต่ปี 2559 เป็นต้นมา ส่งผลให้อัตราการยกเลิกลดลงเป็นต่ำกว่า 10% ตั้งแต่ปี 2559 จากเดิมอัตราการยกเลิกของบริษัทอยู่ราว 20% ในปี 2554-2558 นอกจากนี้ เพื่อให้การก่อสร้างเร็วขึ้นและลดความผิดพลาด บริษัทได้สร้างโรงงานผลิตพรีบิลท์ขึ้นเมื่อเร็ว ๆ นี้ ภายใต้สมมติฐานประมาณการโดยทริสเรทติ้ง อัตราส่วนกำไรจากการดำเนินงานคาดว่าจะอยู่ที่ราว 15% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า อิงตามยอดขายที่ 2,500-3,000 ล้านบาทต่อปี การควบคุมต้นทุนและการพัฒนากระบวนการก่อสร้างจะช่วยให้ผลการดำเนินงานของบริษัทดีขึ้นในระยะยาว
ภาระหนี้ระดับปานกลาง ความต้องการเงินทุนของบริษัทลดต่ำลงในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา บริษัทเน้นขายสินค้าโครงการเดิมที่มีอยู่และซื้อที่ดินใหม่ค่อนข้างน้อย ส่งผลให้อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนลดลง อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนอยู่ที่ระดับสูงสุดที่ประมาณ 60% ในปี 2557 และลดลงอย่างต่อเนื่องมาอยู่ที่ 44% ณ สิ้นปี 2561 ทั้งนี้ ระดับการก่อหนี้คาดว่าจะไม่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญจากระดับปัจจุบันแม้ว่าจะมีแผนการเปิดโครงการใหม่และแผนซื้อที่ดิน เนื่องจากเป็นโครงการแนวราบและโครงการคอนโดมิเนียมตึกเตี้ยซึ่งมีขนาดค่อนข้างเล็ก
ทริสเรทติ้งประมาณการ บริษัทจะซื้อที่ดินใหม่ 700-1,000 ล้านบาทต่อปี และคาดว่าอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนจะเพิ่มขึ้นแต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่า 50% ตลอดช่วง 3 ปีข้างหน้า บริษัทมีข้อกำหนดตามหุ้นกู้และตามสัญญาทางการเงินในการดำรงอัตราส่วนทางการเงิน โดยต้องคงอัตราส่วนหนี้สินที่มีภาระดอกเบี้ยต่อทุนในระดับที่ต่ำกว่า 2 เท่า และอัตราส่วนหนี้สินต่อทุนในระดับที่ต่ำกว่า 2 เท่า ในขณะที่บริษัทมีอัตราส่วนดังกล่าว ณ สิ้นเดือนธันวาคม 2561 อยู่ที่ 0.87 เท่า และ 0.98 เท่าตามลำดับ ทริสเรทติ้งเชื่อว่าบริษัทจะสามารถปฏิบัติตามข้อกำหนดดังกล่าวได้
ความกังวลต่อหนี้ภาคครัวเรือนของประเทศที่อยู่ในระดับสูง ความต้องการในการซื้ออสังหาริมทรัพย์มีลักษณะเป็นวงจรขึ้นลงและได้รับผลกระทบอย่างมากจากภาวะเศรษฐกิจ ทั้งนี้ จากภาวะชะลอตัวของเศรษฐกิจภายในประเทศส่งผลให้ความต้องการในอสังหาริมทรัพย์เพื่ออยู่อาศัยอยู่ในระดับต่ำ นอกจากนี้ หนี้ภาคครัวเรือนของประเทศที่อยู่ในระดับสูงส่งผลต่อกำลังซื้อของผู้บริโภค ส่งผลให้การปล่อยสินเชื่อของธนาคารยังคงความเข้มงวดโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ซื้อบ้านระดับราคาปานกลางถึงต่ำ บริษัทได้มีการตรวจสอบความสามารถของผู้ซื้อที่มีศักยภาพอย่างเข้มงวด จากการบริหารจัดการ อัตราการปฏิเสธการให้สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยลดลงจาก 5% ในปี 2560 เป็น 1% ในปี 2561 เนื่องจากส่วนมากเป็นบ้านสร้างเสร็จและมีกระบวนการตรวจสอบที่เข้มงวด
ผลกระทบเล็กน้อยจากเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยเกณฑ์ใหม่ ธนาคารแห่งประเทศไทยจะเริ่มบังคับใช้เกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยใหม่ในเดือนเมษายน 2562 ภายใต้เกณฑ์ใหม่นี้ ผู้ซื้อบ้านสามารถกู้เงินได้ไม่เกิน 70%-80% ของมูลค่าหลักประกันสำหรับสัญญากู้ที่อยู่อาศัยหลังที่ 2 และหลังถัด ๆ ไป ซึ่งลดลงจากเดิมที่สามารถกู้ได้ถึง 90%-100% ของมูลค่าหลักประกัน ทริสเรทติ้งคาดว่าเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยมาตรการใหม่นั้นจะส่งผลกระทบต่อความต้องการซื้อคอนโดมิเนียมมากกว่าความต้องการซื้อโครงการแนวราบ
ทริสเรทติ้งคาดว่ามาตรการใหม่นี้จะกระทบบริษัทเพียงเล็กน้อย เนื่องจากโครงการส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นที่อยู่อาศัยแนวราบและลูกค้าส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นกลุ่มผู้ซื้อบ้านหลังแรก อย่างไรก็ตาม มีลูกค้าบางส่วนที่ต้องการสินเชื่อเกินกว่า 100% ของมูลค่าหลักประกันเพื่อครอบคลุมค่าใช้จ่ายในการโอน ซึ่งทำให้ผู้ซื้อบ้านอาจต้องการเวลาเพิ่มขึ้นในการออม อย่างไรก็ตาม บริษัทอาจจะต้องยืดการผ่อนดาวน์ให้แก่ผู้ซื้อบ้านบางรายเพื่อให้พอดีกับเวลาที่ต้องการ
สภาพคล่องของบริษัทมีความตึงตัวแต่คาดว่าสามารถจัดการได้ กระแสเงินสดเมื่อเทียบกับหนี้ปรับตัวดีขึ้นในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาจากกำไรที่เพิ่มขึ้นและหนี้ที่ลดลง โดยอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินเพิ่มขึ้นเป็น 6.2% ในปี 2559 และ 12.1% ในปี 2560 และ 9.8% ในปี 2561 จากระดับต่ำสุดที่ลบ 0.81% ในปี 2557 อย่างไรก็ตาม สภาพคล่องของบริษัทยังมีความตึงตัว ณ เดือนธันวาคม 2561 บริษัทมีภาระหนี้ที่จะครบกำหนดชำระในอีก 12 เดือนข้างหน้าจำนวน 1,528 ล้านบาท ซึ่งประกอบด้วยหุ้นกู้จำนวน 850 ล้านบาท เงินกู้โครงการระยะยาวจำนวน 341 ล้านบาท ตั๋วแลกเงินจำนวน 200 ล้านบาท และวงเงินกู้อื่นจำนวน 137 ล้านบาท
บริษัทได้ออกหุ้นกู้ระยะเวลา 3 ปีจำนวน 500 ล้านบาทมาชำระหุ้นกู้จำนวน 350 ล้านบาทที่จะครบกำหนดไถ่ถอนในเดือนกุมภาพันธ์ 2562 บริษัทมีแผนจะรีไฟแนนซ์สำหรับชำระหนี้หุ้นกู้ที่เหลือที่จะครบกำหนดไถ่ถอนและมีแผนต่ออายุตั๋วแลกเงิน ในขณะเดียวกัน บริษัทจะชำระหนี้เงินกู้โครงการด้วยเงินสดที่ได้รับจากการโอนโครงการที่อยู่อาศัยต่าง ๆ ของบริษัท ส่วนสภาพคล่องทางการเงินของบริษัทนั้นประกอบด้วยเงินสดจำนวน 196 ล้านบาท เงินทุนจากการดำเนินงานของบริษัทประมาณ 250-340 ล้านบาท และวงเงินกู้ยืมจากธนาคารที่ยังไม่ได้เบิกใช้และไม่ติดเงื่อนไขในการเบิกอีก 42 ล้านบาท อีกทั้ง บริษัทมีแผนจะขายสินทรัพย์บางส่วนเพื่อเสริมสภาพคล่อง นอกจากนี้ ณ เดือนธันวาคม 2561 บริษัทมีที่ดินที่ไม่ติดภาระเป็นหลักประกันอยู่ประมาณ 517 ล้านบาท ซึ่งเป็นแหล่งสภาพคล่องได้อีกแหล่งหนึ่ง ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะจัดการสภาพคล่องได้อย่างดีจากสถานะทางการเงินที่มีพัฒนาการที่ดีขึ้น
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน
รายได้ของบริษัทคาดว่าจะเติบโตอยู่ที่ราว ๆ ปีละ 2,500-3,000 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2564
อัตรากำไรขั้นต้นของบริษัทจะอยู่ที่ประมาณ 30% และอัตรากำไรจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ประมาณ 15% ในช่วง 3 ปีข้างหน้า
เงินทุนสำหรับซื้อที่ดินคาดว่าจะอยู่ที่ 700 ล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2564
เงินทุนจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ประมาณ 250-340 ล้านบาทต่อปี ในปี 2562-2564 และอัตราส่วนเงินทุนจากการดำเนินงานต่อหนี้สินทางการเงินจะอยู่ที่ประมาณ 7%-9% ในปี 2562-2564 อัตราส่วนกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายต่อดอกเบี้ยจ่ายจะอยู่ที่ 2-3 เท่า
แนวโน้มอันดับเครดิต "Stable" หรือ "คงที่" สะท้อนความคาดหวังของทริสเรทติ้งว่าบริษัทจะรักษาผลการดำเนินงานได้ตามคาดและคงสถานะทางการเงินที่ระดับเดิมเอาไว้ได้ นอกจากนี้ ทริสเรทติ้งยังคาดว่ารายได้ของบริษัทจะเติบโตอยู่ที่ราว ๆ ปีละ 2,500-3,000 ล้านบาทในช่วง 3 ปีข้างหน้า ในขณะที่สามารถคงอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนต่ำกว่า 50% ไว้ได้ อัตรากำไรจากการดำเนินงานจะอยู่ที่ประมาณ 12%-15%
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง อันดับเครดิตและ/หรือแนวโน้มอันดับเครดิตอาจปรับลดลงได้หากผลการดำเนินงานของบริษัทและ/หรือสถานะทางการเงินถดถอยลงมากกว่าที่คาดไว้อย่างมีนัยสำคัญ การปรับอันดับเครดิตเพิ่มขึ้นยังมีข้อจำกัดในระยะสั้น