PTTOR-GPSC-ซีเอสพีพี พัฒนาต่อยอดผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์วางเป้าติดตั้งแผงในปั๊มเป็น 50 แห่งภายในปี 66

ข่าวหุ้น-การเงิน Thursday March 14, 2019 16:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางสาวจิราพร ขาวสวัสดิ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.น้ำมันและการค้าปลีก (PTTOR) กล่าวว่า พีทีที โออาร์ เริ่มศึกษาและทดลองติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ในสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น ตั้งแต่ปี 2550 และต่อมาได้ร่วมกับบมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) และบริษัท ผลิตไฟฟ้าและพลังงานร่วม จำกัด (CHPP) ในการศึกษาความเป็นไปได้ เพื่อพัฒนาโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ ระยะที่ 1 ตั้งแต่ปี 61 โดยทดลองติดตั้งแผงโซลาร์เซลล์ ในสถานีบริการน้ำมันฯ จำนวน 3 แห่ง ในกรุงเทพฯ ชลบุรี และเชียงใหม่ คาดว่าจะสามารถผลิตได้ภายในครึ่งปีแรกของปี 62

สำหรับความร่วมมือในวันนี้เป็นระยะที่ 2 ของโครงการฯ ซึ่งจะร่วมกันศึกษาและพัฒนาระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์พร้อมระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ในสถานีบริการน้ำมันฯ โดยจะพิจารณารูปแบบดำเนินธุรกิจที่เหมาะสมร่วมกัน โดย PTTOR จะเป็นผู้คัดเลือกรูปแบบพื้นที่ หรือ อาคาร ที่มีความเหมาะสมภายในสถานีบริการฯ เพื่อให้ GPSC และ CHPP ออกแบบและติดตั้งอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับการผลิตไฟฟ้าจากแสงอาทิตย์และการกักเก็บพลังงานไฟฟ้าให้มีความเหมาะสม โดยมีแผนงานร่วมกันในการขยายการติดตั้งแผงโซล่า เซลล์ ภายในสถานีบริการน้ำมันฯ ให้เป็น 50 แห่ง ภายในปี 66

โครงการนี้จะช่วยลดภาระการนำเข้าน้ำมัน และ/หรือ ก๊าซธรรมชาติ เพื่อผลิตกระแสไฟฟ้าของประเทศ โดยพลังงานแสงอาทิตย์ถือเป็นพลังงานสะอาด ไม่ก่อให้เกิดคาร์บอนไดออกไซด์ในกระบวนการผลิต ช่วยลดภาวะโลกร้อน อีกทั้งยังเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์อันดีของกลุ่ม ปตท. ในด้านการรักษาสิ่งแวดล้อมอีกด้วย

ด้านนายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GPSC กล่าวว่า การดำเนินโครงการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ พร้อมระบบกักเก็บพลังงานในสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น เป็นความร่วมมือของกลุ่ม บมจ.ปตท. (PTT) ที่จะขับเคลื่อนนวัตกรรมพลังงานใหม่ ๆ โดยเฉพาะพลังงานทดแทนที่เป็นกระแสของโลกในการยกระดับคุณภาพสิ่งแวดล้อม ซึ่ง GPSC ได้ร่วมกับ CHPP เพื่อประเมินรูปแบบเทคโนโลยีการติดตั้งระบบโซลาร์รูฟท็อป ขนาดกำลังการผลิต และระบบกักเก็บพลังงาน เพื่อติดตั้งในสถานีบริการน้ำมัน

"การดำเนินงานจะคำนึงถึงประสิทธิภาพของการจ่ายไฟที่จะนำระบบกักเก็บพลังงานมาช่วยให้มีความมั่นคงในการจ่ายไฟ ขณะเดียวกันโครงสร้างอาคารจะต้องเหมาะสมและแข็งแรงเพียงพอต่อการติดตั้ง ซึ่งแต่ละพื้นที่อาจต่างกันออกไป หลังจากติดตั้งแล้วติดตามผลตามเวลากำหนด และจะมีการรายงานเพื่อพิจารณาถึงแนวทางพัฒนาต่อไป"นายชวลิต กล่าว

นายกุลพัฒน์ เพิ่มภูศรี ผู้จัดการทั่วไป CHPP ในฐานะผู้พัฒนาพลังงานทดแทนในกลุ่มบริษัท GPSC กล่าวว่า บริษัทมีประสบการณ์ในการพัฒนาโครงการผลิตผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (โซลาร์ฟาร์ม) แบบติดตั้งบนหลังคาอาคาร (โซลาร์รูฟท็อป) และแบบติดตั้งบนทุ่นลอยน้ำ (โซล่าร์ลอยน้ำ) จึงมีความพร้อมที่จะร่วมมือในการติดตั้งภายในสถานีบริการน้ำมัน พีทีที สเตชั่น หากผลการศึกษาประสบความสำเร็จก็จะสามารถต่อยอดการพัฒนาเพื่อการผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ป้อนให้กับสถานีบริการน้ำมันฯ ต่อไป

ทั้งนี้ โครงการดังกล่าวถือเป็นการตอกย้ำภาพความร่วมมือภายในกลุ่ม ปตท. ในการนำจุดแข็งที่เป็น Core Competency ของแต่ละบริษัทมาต่อยอดร่วมกัน เพื่อสร้างประโยชน์ให้เกิดแก่ประเทศในวงกว้างต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ