นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) กล่าวว่า ความคืบหน้าในการนำคลื่น 2600 เมกกะเฮิรตซ์ มาให้จัดสรรว่า สำนักงานฯ ได้มีหนังสือแจ้งมติคณะกรรมการไปที่ บมจ.อสมท.(MCOT) แล้วตั้งแต่สัปดาห์ที่ผ่านมา ขั้นตอนคือรอหน่วยงานจะมีข้อโต้แย้งหรือมีคำตอบอย่างไร เมื่อได้คำตอบจะนำความเห็นเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการ กสทช.อีกครั้ง
ทั้งนี้ สำนักงานได้ทำการประเมินคลื่นความถี่ และกำหนดมาตรการเยียวยา โดยให้คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย คณะเศรษฐศาสตร์มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ทำการศึกษา หากทุกอย่างเป็นไปตามขั้นตอนการประมูลคลื่นความถี่ 2600 เมกกะเฮิรตซ์ น่าจะเกิดขึ้นประมาณเดือน ส.ค.-ก.ย.62น
กสทช.มองว่า ความพร้อมในการให้บริการ 5G อย่างช้า ปลายปี 63 หรือต้นปี 64 เพราะมีผลต่อภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรม หากเทคโนโลยีไม่เกิดขึ้น จะทำให้ผู้ประกอบการในภาคการผลิตต้องเสียโอกาส ภาคการผลิตและภาคอุตสาหกรรมควรจะมี 5G ใช้งานเพื่อให้สมาร์ทพอร์ต หรือ ท่าเรืออัจฉริยะ บริการส่งออกและนำเข้าสินค้าลดขั้นตอนที่เรียกว่าซิงเกิ้ลวินโดว์เกิดขึ้น ปัญหาต่อการลงทุนและการผลิตจะหมดไปเราจะปล่อยให้สิ่งเหล่านี้ช้าไปไม่ได้
การที่ผู้ให้บริการโทรคมนาคมจะมองว่าปี 63 เป็นปีที่ผู้ประกอบการมีภาระในการลงทุนมากทั้งค่าธรรมเนียมใบอนุญาตคลื่นความถี่ 900 เมกกะเฮิรตซ์ และการประมูลคลื่นความถี่ใหม่รวมถึงการลงทุนพัฒนาเครือข่ายเพื่อรองรับ 5G โดยปี 64 น่าจะเป็นปีที่พร้อมให้บริการ 5G กสทช.มองว่า ความจำเป็นที่ต้องรักษาโอกาสของประเทศไทยเพื่อการแข่งขันกับประเทศอื่น
ดังนั้น ใบอนุญาตใช้คลื่นความถี่ที่จะเกิดขึ้นอาจจะเป็นใบอนุญาตขนาดเล็กที่มอบให้เฉพาะผู้ประกอบการในภาคการผลิต กสทช.มองว่าผลที่เกิดขึ้นจาก 5G ไม่ได้เกิดประโยชน์เฉพาะผู้ให้บริการโทรคมนาคมโดยตรง แต่เกิดกับประโยชน์กับประเทศโดยรวมซึ่งรวมทั้งอุตสาหกรรมโทรคมและอุตสาหกรรมการผลิต ดังนั้นการขับเคลื่อน 5G อาจจะไม่ได้ขับเคลื่อนโดยการนำของธุรกิจโทรคมนาคมเสมอไป อาจจะเป็นอุตสาหกรรมภาคต่างๆ ที่มีความจำเป็นนำคลื่นความถี่ไปใช้บริการ โดยการประมูลคลื่นความถี่ระดับชาติจะต้องเกิดขึ้น