นางวนิดา บุญภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ การเงินและบัญชีองค์กร บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมปรับโครงสร้างทางการเงินใหม่เพื่อรองรับแผนการเข้าซื้อกิจการ บมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) ในกรอบวงเงิน 1.4 แสนล้านบาท คาดว่าจะเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการได้ในปลายไตรมาส 2/62 โดยเบื้องต้นจะมีการเพิ่มทุนจดทะเบียนไม่เกิน 7.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะดำเนินการในช่วงไตรมาส 3/62 และปรับหนี้ระยะสั้นเป็นหนี้ระยะยาว แต่ยังต้องพิจารณาตามสภาพตลาดในช่วงนั้นว่าจะเป็นการกู้เงินจากสถาบันการเงิน หรือออกหุ้นกู้ ที่ปัจจบันกำหนดวงเงินออกหุ้นกู้ได้ไม่เกิน 6.85 หมื่นล้านบาท
ทั้งนี้ การจัดแผนโครงสร้างทางการเงินดังกล่าว สืบเนื่องจากการเข้าซื้อกิจการ GLOW ในเบื้องต้นบริษัทต้องใช้เงินกู้ระยะสั้นจากบมจ.ปตท. (PTT) และ บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ในวงเงิน 3.5 หมื่นล้านบาท และเงินกู้ระยะสั้น 1 ปีจากสถาบันการเงินในประเทศ 5 แห่ง กว่า 1 แสนล้านบาท ซึ่งรวมถึงธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) ธนาคารกรุงไทย (KTB) ,ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) และธนาคารเกียรตินาคิน (KKP) ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวส่งผลให้ภาระหนี้สิน/ทุน (D/E) ของบริษัทพุ่งเป็นกว่า 3 เท่า แต่คาดว่าภายหลังการปรับโครงสร้างทางการเงินดังกล่าวแล้ว คาดว่า D/E จะลดลงเหลือไม่เกิน 1 เท่า
หลังจากที่บริษัทได้เข้าซื้อหุ้น GLOW ในสัดส่วน 69.11% ด้วยมูลค่า 9.3 หมื่นล้านบาท จากกลุ่ม Engie Global Development B.V. แล้วเมื่อวานนี้ (14 มี.ค.) หลังจากนี้บริษัทก็จะยื่นคำเสนอซื้อหุ้น (Tender Offer) อย่างเป็นทางการในวันที่ 22 มี.ค.นี้ เบื้องต้นเตรียมเงินไปไว้ราว 4 หมื่นล้านบาท เพื่อทำคำเสนอซื้อในราคาหุ้นละ 91.9906 บาท แต่ราคาดังกล่าวอาจจะปรับลดลง หาก GLOW จ่ายเงินปันผลก่อนสิ้นสุดระยะเวลาการทำคำเสนอซื้อ ซึ่งคาดว่าจะใช้เวลา 25-45 วันทำการ หากบริษัทได้หุ้น GLOW รวมกันเกิน 80% ขึ้นไปก็จะเพิกถอนหุ้น GLOW ออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ คาดว่าอาจจะเกิดขึ้นเร็วสุดในช่วงปลายปีนี้
นายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ ของ GPSC เปิดเผยว่า หลังจากนี้บริษัทก็จะศึกษาโมเดลธุรกิจการดำเนินงานร่วมกันทั้งในส่วนที่จะทำให้เกิดการ Synergy และอัตราการเติบโตต่อไปในอนาคต คาดว่าโมเดลธุรกิจจะมีความชัดเจนมากขึ้นในไตรมาส 3/62 แต่เบื้องต้นการที่ทั้ง GPSC และ GLOW ยังอยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ ก็จะดำเนินการตามแผนงานปกติต่อไป และเห็นว่า GLOW มีประสบการณ์ในการดำเนินธุรกิจโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (IPP) ขณะที่ GPSC ยังไม่มี ก็อาจจะใช้ GLOW เป็นกลไกที่เหมาะสมในการลงทุน IPP ใหม่ในอนาคต โดยจะนำจุดแข็งของแต่ละฝ่ายมาร่วมกันจัดทำโมเดลธุรกิจเพื่อรองรับการเติบโตทั้งในและต่างประเทศต่อไป
การเข้าซื้อกิจการ GLOW จะทำให้บริษัทมีกำลังการผลิตในมือเพิ่มขึ้นจากปัจจุบัน 1,955 เมกะวัตต์ เป็น 4,726 เมกะวัตต์ และเมื่อสิ้นสุดการเข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในประเทศราว 40 เมกะวัตต์ในช่วง เม.ย.62 และการเข้าซื้อหน่วยผลิตไฟฟ้า (ERU) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพลังงานสะอาด (CFP) ของ บมจ.ไทยออยล์ (TOP) ขนาด 250 เมกะวัตต์ ก็จะทำให้กำลังการผลิตไฟฟ้าในมือเพิ่มเป็น 5,016 เมกะวัตต์ เป็น 1 ใน 4 ของผู้ผลิตไฟฟ้ารายใหญ่ของประเทศ
นอกจากนี้การรวมกิจการยังทำให้บริษัทมีกระแสเงินทุนเพื่อรองรับการเติบโตได้ในอนาคต เนื่องจากปัจจุบันบริษัทมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย,ภาษี,ค่าเสื่อมและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ราว 3-4 พันล้านบาท/ปี ขณะที่ GLOW มี EBITDA ราว 1.7-1.8 หมื่นล้านบาท/ปี ขณะที่ระยะสั้นเชื่อว่าจะผลักดันให้กำไรสุทธิของบริษัทเติบโตจากปีก่อนที่ทำได้ระดับ 3.36 พันล้านบาท เนื่องจากรับรู้ผลการดำเนินงานของ GLOW เข้ามา และมีโรงไฟฟ้าใหม่ที่จะเดินเครื่องผลิตไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (COD) ในปีนี้ ได้แก่ โครงการไซยะบุรี และน้ำลิก 1 ในลาว ,ศูนย์ผลิตสาธารณูปการระยองแห่งที่ 4 (CUP-4) รวมถึงรับรู้ผลการดำเนินงานของโซลาร์ฟาร์มในประเทศที่ได้เข้าซื้อราว 40 เมกะวัตต์
นายชวลิต ยืนยันว่าบริษัทมีศักยภาพที่จะมองหาโอกาสการขยายลงทุนธุรกิจไฟฟ้าทั้งในและต่างประเทศต่อไป แม้ว่าจะใช้เงินจำนวนมากในการเข้าซื้อกิจการ GLOW ครั้งนี้ก็ตาม แต่เชื่อว่าหลังจากการปรับโครงสร้างทางเงินแล้วก็จะมีความชัดเจนการลงทุนมากขึ้น โดยปัจจุบันบริษัทยังมีวงเงินกู้ระยะยาวรองรับการลงทุนราว 5 พันล้านบาท และในปีนี้มีแผนใช้เงินลงทุน ไม่รวมการซื้อกิจการ GLOW ในวงเงินไม่เกิน 6 พันล้านบาท ซึ่งเป็นการใช้ลงทุนในโครงการที่อยู่ระหว่างพัฒนาและการเข้าซื้อกิจการโซลาร์ฟาร์ม 40 เมกะวัตต์
เบื้องต้นบริษัทจะยังคงเติบโตตามการขยายงานของกลุ่ม บมจ.ปตท. (PTT) โดยเฉพาะในพื้นที่ระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ที่ยังจะมีการลงทุนขนาดใหญ่อีกมาก และการพัฒนาระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ที่ปัจจุบันอยู่ระหว่างการพิจารณาและทดสอบการคุ้มค่าเชิงพาณิชย์ในการตั้งโรงงานผลิตแบตเตอรี่ลิเทียมไอออน โดยใช้เทคโนโลยี 24M คาดว่าจะรู้ผลในช่วงเดือน มิ.ย.62 ว่าจะเดินหน้าโครงการต่อไปหรือไม่
"การควบรวมกิจการครั้งนี้ ก็จะทำให้มีขีดความสามารถศักยภาพในการลงทุนในประเทศและภูมิภาค และการลงทุนธุรกิจใหม่ ๆ ทิศทางของเราจะเป็นลักษะนั้นที่จะทำ Synergy เพื่อสร้าง Value ก่อน และเร่งแผนให้การเติบโตมีความชัดเจน และเราต้องการเป็นบริษัทที่ยั่งยืนด้วย"นายชวลิต กล่าว