หุ้น MALEE ราคาร่วงลง 8.02% มาอยู่ที่ 8.60 บาท ลดลง 0.75 บาท มูลค่าซื้อขาย 33.47 ล้านบาท เมื่อเวลา 14.53 น. โดยเปิดตลาดที่ 9.45 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 9.45 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 8.55 บาท
บล.ทิสโก้ ระบุในบทวิเคราะห์ฯยังคงแนะ"ขาย"หุ้น บมจ.มาลีกรุ๊ป (MALEE) จากคาดบริษัทยังต้องใช้เวลากว่าผลประกอบการจะพลิกฟื้นกลับมาเห็นเป็นกำไรได้อย่างชัดเจน โดยประเมินมูลค่าจาก PBV เนื่องจากผลประกอบการคาดขาดทุน ราคาเป้าหมาย 7.00 บาท อ้างอิงวิธี PBV ตามตลาดที่ 1.8X
ทั้งนี้ มองว่า ยังคงต้องใช้เวลาในการปรับโครงสร้าง แนวโน้มผลประกอบการปี 2562 คาดยังคาดทุนต่อเนื่อง แต่ลดลงจากปีที่ผ่านมา เนื่องจากคาดรายได้ที่ยังเพิ่มขึ้นได้ไม่มาก ในขณะที่ต้นทุนยังสูงจากอัตราการใช้กำลังการผลิตที่ต่ำตามยอดขาย ประกอบกับการแข่งขันกลุ่มเครื่องดื่มในประเทศที่ยังรุนแรงจะเห็นได้จากอุตสาหกรรมเครื่องดื่มกลุ่มน้ำผลไม้ปีที่ผ่านมาลดลงมากสุด โดยคาด MALEE จะมีผลประกอบการไตรมาส 1/62 ขาดทุนแต่ลดลงเทียบกับไตรมาส 4/61 บริษัทวางแผนปรับโครงสร้างธุรกิจจากการควบคุมต้นทุน และค่าใช้จ่ายให้ลดลง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงาน สำหรับการขยายการลงทุนในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาบริษัทยังต้องใช้เวลาแต่จะค่อย ๆ รับรู้รายได้
อุตสาหกรรมกลุ่มเครื่องดื่มน้ำผลไม้ในประเทศหดตัวอย่างต่อเนื่องโดยปี 2561 มีมูลค่า 1.1 หมื่นล้านบาท -11%YoY จากการแข่งขันในประเทศที่ยังสูง สำหรับ MALEE ยังคงประมาณการเดิมที่คาดผลประกอบการยังขาดทุนในช่วง 2 ปีนี้แต่การขาดทุนจะค่อย ๆ ลดลง แม้ว่าในช่วง 2-3 ปีที่ผ่าน MALEE ได้ขยายธุรกิจออกสู่ต่างประเทศมากขึ้น แต่การลงทุนบางส่วนยังต้องใช้เวลาในการสร้างรายได้
โดยคาดผลประกอบการไตรมาส 1/62 ยังขาดทุนแต่ลดลงเทียบกับไตรมาส 4/61 เนื่องจากไม่มีบันทึกรายการพิเศษจากการตั้งสำรองพนักงานเกษียณอายุและตั้งสำรองสินค้าคงเหลือ 52 ล้านบาท สำหรับอัตราการใช้กำลังการผลิตคาดไตรมาส 1/62 ยังอยู่ที่ 35% และจะเริ่มค่อย ๆ ดีขึ้นในไตรมาส 2/62 เป็นต้นไป จากแผนขยายตลาดต่างประเทศและรับจ้างผลิตเพิ่มขึ้น คาดอัตราการใช้กำลังการผลิตทั้งปีจะค่อย ๆ ดีขึ้นอยู่ที่ 40% จากปีที่ 2561 เฉลี่ยที่ 35% จึงคาดรายได้ปี 2560-2563 เติบโตเฉลี่ยที่ 8% จากการส่งออกเป็นหลักจากการร่วมทุนกับบริษัทร่วมมากขึ้น สำหรับในประเทศคาดรายได้ทรงตัวเนื่องจากการแข่งขันกลุ่มเครื่องดื่มยังคงรุนแรง คาดอัตรากำไรขั้นต้นปี 2562-2563 ยังคงต่ำอยู่ที่ 22%-25.5% เนื่องจากอัตราการใช้กำลังการผลิตยังต่ำในขณะที่ต้นทุนคงที่ยังสูง