นายประเวช องอาจสิทธิกุล รักษาการประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.สายการบินนกแอร์ (NOK) กล่าวว่า บริษัทได้วางเป้าหมายผลประกอบการในปี 62 ต้องการหยุดปัญหาขาดทุนที่เกิดขึ้นต่อเนื่องตลอด 4 ปีที่ผ่านมา โดยล่าสุดสิ้นปี 61 มีผลขาดทุนสะสมราว 8 พันล้านบาท
บริษัทจะใช้กลยุทธ์ฟื้นฟูธุรกิจ ประกอบด้วย การปรับโครงสร้างฝูงบินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยในปีนี้จะบินถอดเครื่องบินแบบ ATR ที่มีอยู่เพียง 2 ลำออกจากฝูงบิน เนื่องจากมีค่าซ่อมบำรุงรักษาสูง และลดจำนวนเครื่องบินแบบโบอิ้ง 737 เหลือ 14 ลำ จากสิ้นปีก่อน 15 ลำ เป็นไปตามสัญญาการเช่าที่สิ้นสุดลง ทั้งนี้ ตามแผน 3 ปี จะเพิ่มเครื่องบินแบบโบอิ้ง 737 อีก 2 ลำในปี 63 และอีก 4 ลำในปี 64 เพื่อทำให้มีฝูงบินโบอิ้ง 737 รวม 20 ลำ และ Q400 จำนวน 8 ลำ
นอกจากนี้ บริษัทมีแผนขยายเส้นทางการบินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น เพิ่มเที่ยวบินไปยังต่างประเทศ อาทิ จีนและอินเดีย เพื่อให้มีรายได้สูง ลดค่าใช้จ่ายคงที่ต่อหน่วย คาดเป็นรูปแบบร่วมกับเครือข่ายพันธมิตร อาทิ ไทยกรุ๊ป โดยให้บริการในรูปแบบเช่าเหมาลำ หรือชาร์เตอร์ไฟลท์ เป็นต้น ซึ่งที่ผ่านมาเริ่มเห็นสัญญาณนักท่องเที่ยวชาวจีนเพิ่มขึ้นแล้ว เชื่อว่าน่าจะเป็นผลบวกกับผลการดำเนินงานปีนี้ คาดหวังว่าทั้งปีอัตราส่วนบรรทุกผู้โดยสาร (Cabin Factor) จะเพิ่มขึ้นมาเป็น 90% จากปีก่อนที่ระดับ 88%
นอกจากนี้ ยังมีแผนขยายฐานกลุ่มลูกค้าใหม่ เป็นส่วนช่วยเพิ่มส่วนแบ่งทางการตลาดฯที่ปัจจุบันมีผู้ใช้บริการราว 10 ล้านคนต่อปี
และที่สำคัญคือพัฒนารูปแบบการให้บริการลูกค้า มีเป้าหมายยกระดับขึ้นเป็นสายการบิน "พรีเมี่ยม โลว์คอสต์ แอร์ไลน์" ในช่วง 2-3 ปีนี้ เพื่อต้องการหลีกเลี่ยงสงครามราคาค่าตั๋วโดยสารที่เป็นปัจจัยหลักทำให้ความสามารถทำกำไรของบริษัทลดลง
ขณะที่ตัวแปรต้นทุนราคาน้ำมันและอัตราแลกเปลี่ยน ล่าสุดได้ร่วมมือกับ บมจ.การบินไทย (THAI) เพื่อกำหนดแนวทางบริหารความเสี่ยงดังกล่าว เช่น การทำประกันความเสี่ยง เพราะสามารถต่อรองค่าเบี้ยได้ในต้นทุนที่ต่ำกว่าความเป็นจริง นับเป็นประโยชน์กับบริษัทอย่างมาก
ส่วนแนวทางแก้ไขการถูกปลดเครื่องหมาย C (Caution) จากทางตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทยนั้น นายประเวศ ยอมรับว่า อาจจะไม่ได้เห็นการถูกปลดเครื่องหมาย C ได้ทันสิ้นปีนี้ แม้ว่าต้นปีบริษัทจะทำการเพิ่มทุนรอบใหม่ ได้เงินระดมทุน 2,300 ล้านบาท ส่งผลให้ส่วนผู้ถือหุ้นบริษัทพลิกเป็นบวก 832 ล้านบาท แต่ตามหลักเกณฑ์ส่วนของผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นเงินกองทุนต้องสูงเกิน 50% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว ดังนั้นคงต้องมาติดตามว่าแผนฟื้นฟูผลประกอบการปีนี้ แต่ตามแผนคาดหวังว่าภายในปี 63 ผลประกอบการจะต้องกลับมามีกำไร 3 ไตรมาสติดต่อกัน ก่อนที่ในปี 64 ผลประกอบการจะกลับมาพลิกฟื้นตัวชัดเจน พร้อมขยายธุรกิจสายการบินได้อย่างแข็งแกร่งอีกครั้ง
อย่างไรก็ตาม บริษัทยังไม่ได้ตั้งเป้าว่าจะสามารถล้างขาดทุนสะสมที่มีราว 8 พันล้านบาทได้เมื่อใด เพราะต้องรอให้ธุรกิจสายการบินกลับมามีกำไรได้อย่างมีนัยสำคัญก่อน ถึงจะค่อยพิจารณาแก้ไขขาดทุนสะสมเป็นลำดับถัดไป
ส่วนกระแสข่าวที่ว่ามีหลายกลุ่มเข้ามาติดต่อขอซื้อหุ้นจากกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่ คือกลุ่มจุฬางกูรนั้น นายประเวศ ไม่ขอแสดงความเห็น และรวมถึงกรณี บมจ.การบินไทย (THAI) ลดสัดส่วนถือหุ้นเพราะไม่ได้เพิ่มทุนครั้งล่าสุด ทำให้ THAI มีสัดส่วนการถือหุ้นใน NOK ลดลงจาก 21.8% เป็น 15.94% โดยมองว่าตนเองมีหน้าที่บริหารงานบริษัทให้เป็นไปตามแผน ให้สามารถกลับมาเติบโตแข่งขันได้ ขณะที่ประเด็นดังกล่าวไม่ได้กระทบกับแนวทางบริหารและขยายธุรกิจที่ดำเนินการมาตั้งแต่ปีก่อนแล้ว และก็จะยังดำเนินการต่อไป
"เรื่องการเปลี่ยนแปลงผู้ถือหุ้น ผมมองเป็นปัจจัยภายนอก แต่สิ่งที่เรากำลังทำอยู่คือต้องให้ NOK หยุดขาดทุนให้ได้ในปีนี้ ก่อนที่จะเข้าสู่ช่วงเติบโตอีกครั้งในปี 64 ถึงเวลานั้นจะเห็น NOK กลับมาขยายกิจการได้อย่างจริงจังอีกครั้ง"นายประเวช กล่าว