ก.ล.ต.คาดปรับเกณฑ์ IPO ง่าย-เป็นสากลช่วยเพิ่มบจ.ใหม่

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday January 28, 2008 16:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          นายชาลี จันทนยิ่งยง ผู้ช่วยเลขาธิการอาวุโส สำนักงานคณะกรรมการหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ก.ล.ต.) คาดว่า จะมีจำนวนบริษัทเข้าจดทะเบียนใหม่ หรือ IPO มากกว่าปี 50 ที่ได้อนุญาตขายหุ้น IPO จำนวน 14 บริษัท ภายหลังที่สำนักงาน ก.ล.ต.ได้มีปรับเกณฑ์การระดมทุนให้ปฏิบัติได้ง่าย เข้าใจได้ง่าย  และมีความเป็นสากล เพื่อให้ตลาดหุ้นไทยแข่งขันกับตลาดหุ้นอื่นได้ 
"ต้องยอมรับว่าเกณฑ์การระดมทุนบริษัทจดทะเบียนพอใช้ไปนานเข้า ก็มีความเข้มงวดมากขึ้น ทำความเข้าใจได้ยาก พอเห็นบริษัทนี้ทำผิดก็ประกาศออกมาซ้ำซ้อน ก็คิดว่าถ้าอยากทำให้ถูกก็ทำให้ง่าย ให้เขารู้ว่าวิธีต้นทุนถูกว่าการกู้แบงก์ แต่ก็ไม่ใช่เป็นการผ่อนคลายกฎเกณฑ์"นายชาลี กล่าว
ทั้งนี้ เพื่อให้ระยะเวลาพิจารณา IPO ใช้เวลาไม่นาน โดยตามขั้นตอนจะใช้ระยะเวลาประมาณ 3 เดือน โดยในปี 50 ที่ผ่านมา มีบริษัทที่ผ่านการอนุญาตไป 14 ราย แบ่งเป็น 4 บริษัทที่ใช้เวลาน้อยกว่า 2 เดือน และ 1 บริษัทใช้เวลา 2-3 เดือนส่วนอีก 9 บริษทใช้เวลาไม่เกิน 4 เดือน
นายชาลีกล่าวว่า ขณะนี้มีจำนวนบริษัทที่ยื่นขอจดทะเบียนเสนอขายหุ้น IPO ไม่ถึง 10 รายที่อยู่ระหว่างการพิจาณาไฟลิ่ง ขณะที่มีจำนวนประมาณกว่า 100 บริษัทที่ยื่นแสดงความจำนงต่อตลาดหลักทรัพย์ในปีก่อนเพื่อขอรับสิทธิทางภาษี และจะเข้าจดทะบียนในปีนี้ ซึ่งคาดว่าอาจเข้าได้ไม่ถึงครึ่ง เนื่องจากทางที่ปรึกษาทางการเงิน (FA) ต้องตรวจสอบข้อมูลให้ดี ก่อนยื่นคำขอ หลังจากที่สำนักงาน ก.ล.ต. ได้ปรับเกณฑ์เกี่ยวกับการให้ความเห็นชอบที่ปรึกษาทางการเงินที่จะถูกตัดแต้มหากทำหน้าที่บกพร่อง ในทางกลับกันถ้าที่ปรึกษาทางการเงินยื่นข้อมูลครบถ้วนก็จะช่วยทำให้ สำนักงาน ก.ล.ต.จะพิจารณาได้รวดเร็ว
อย่างไรก็ตาม ตลาดหลักทรัพย์และที่ปรึกษทางการเงินจะทราบดีว่าจะมีจำนวนบริษัทที่สามารถเข้าตลาดได้ทันในปีนี้ ทั้งนี้ ตลาดหลักทรัพย์ได้ตั้งเป้าบริษัทจดทะเบียนทั้งตลาดหลักทรัพย์ (SET) และ ตลาด mai รวมจำนวน 37 บริษัท
นายชาลี เชื่อว่า บริษัทต่างๆ ขณะนี้กำลังรองบงวดปีซึ่งจะประกาศในช่วงมี.ค. ถึงจะมายื่นขอ ทางสำนักงานก.ล.ต.ก็มีเวลาพิจารณาอีกประมาณ 8 เดือนของปีนี้
อย่างไรก็ตาม ทางก.ล.ต. ก็ได้ศึกษาแนวทางที่จะให้ ที่ปรึกษาทางการเงินเป็นผู้รับผิดชอบในการขายหุ้น IPO โดย ก.ล.ต. เพียงเป็นผู้อนุญาตซึ่งจะไม่ติดปัญหาเวลาการขออนุญาต แต่ทางที่ปรึกษาทางการเงินจะเป็นผู้ให้ข้อมูลในตัวบริษัท แต่หากภายหลังมีปัญหา ผู้ถือหุ้นสามารถฟ้องรั้องกับที่ปรึกษาทางการเงินและ บริษัทได้ ซึ่งในไทยยังไม่มีช่องทางที่จะฟ้องร้องได้ง่าย ปัจจุบัน สิงคโปร์ก็ใช้ระบบนี้
ด้านนางศรัณยา จินดาวนิค ผู้อำนวยการฝ่ายจดทะเบียนหลักทรัพย์ สำนักงาน ก.ล.ต. กล่าวว่า ในปลายปี 50 มีการยื่นขอ IPO กระจุกตัวในครึ่งปีหลัง และส่วนใหญ่ต้องแก้ไขข้อมูล ซึ่งส่วนใหญ่ที่พบเป็นเรื่อง งบการเงิน โครงสร้างผู้ถือหุ้น และ รายการที่เกี่ยวโยงกัน หากที่ปรึกษาทางการเงินกับผู้บริหารบริษัท ผู้สอบบัญชี มีการดำเนินข้อมูลอย่างดี และนัดหมายเวลาล่วงหน้า
โดยเฉพาะข้อมูลจัดโครงสร้างการถือหุ้น เพื่อมิให้เกิดความขัดแย้งทางผลประโยชน์ หรือมีการทำรายการระหว่างกันที่อาจถ่ายเทผลประโยชน์ รวมถึงปรับปรุงระบบการควบคุมภายในให้มีประสิทธิภาพ ก็จะทำให้การยื่น IPO ทำได้รวดเร็ว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ