นายสุธี สุขเรือน ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บ้านปู เพาเวอร์ (BPP) กล่าวว่า บริษัทอยู่ระหว่างศึกษาการทำธุรกิจใหม่ คือ การซื้อขายไฟฟ้าผ่านแพลตฟอร์มระบบกลาง (Energy Trading) ในประเทศญี่ปุ่น ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรอใบอนุญาตจากทางการ คาดว่าจะสามารถเปิดให้บริการได้ในช่วงครึ่งหลังปีนี้ ซึ่งเชื่อว่าการที่เข้าสู่ธุรกิจดังกล่าวจะทำให้บริษัทมีข้อมูลความต้องการและปริมาณไฟฟ้าของตลาดญี่ปุ่น ช่วยเพิ่มโอกาสในการขยายพอร์ตการผลิตไฟฟ้านอกเหนือจากปัจจุบันที่ต้องมีสัญญาซื้อขาย (PPA) เพื่อจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเท่านั้น
"เรามองถึงธุรกิจใหม่ที่เราศึกษาเรื่องของ Energy Trading การขายไฟ Bidding เข้าไปในระบบ รัฐบาลพยายามจะเปิดให้มีการขายไฟเสรีเพื่อให้ตลาดมีการแข่งขันค่าไฟให้ถูกลง เราศึกษาเรื่องนี้มาเกือบ 2 ปี ถ้าเราได้ไลเซ่นส์ครบ มีคุณสมบัติครบที่จะเข้าไปซื้อขายไฟฟ้าในระบบ...เราเข้าไป Bid เราก็จะเห็น demand supply คิดว่าครึ่งหลังน่าจะเริ่มเทรดได้บ้าง แต่ก็คงเป็นแบบเล็ก ๆ"นายสุธี กล่าว
นายสุธี กล่าวว่า ในประเทศญี่ปุ่นมีการซื้อขายไฟฟ้าทั้งการขายเข้าระบบส่ง หรือ Grid และการขายผ่าน Trading ซึ่งขณะนี้มีบริษัทที่ซื้อขายแบบ Trading นับ 100 บริษัท เมื่อบริษัทเริ่มเข้าสู่ธุรกิจการเทรดก็จะมีข้อมูลตลาดมากขึ้น ซึ่งหากบริษัทมีปริมาณและราคาไฟฟ้าตรงกับที่ตลาดต้องการก็สามารถที่จะขายไฟฟ้าเข้าไปในระบบได้ ทำให้มีโอกาสมากขึ้นในการที่จะสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่มเติมโดยไม่ต้องรอสัญญาซื้อขายไฟฟ้าเพียงอย่างเดียว ขณะเดียวกันก็สามารถซื้อไฟฟ้าเพื่อนำมารอขายในระบบในช่วงเวลาที่เหมาะสมได้ด้วย โดยปัจจุบันบริษัทได้ตั้งบริษัทย่อยขึ้นมาเพื่อรองรับการดำเนินงาน และมองโอกาสที่จะขยายต่อไปได้ในอนาคต
ปัจจบันบริษัทมีกำลังผลิตไฟฟ้าในญี่ปุ่น 13 โครงการ กำลังผลิตรวม 234 เมกะวัตต์ (MW) ซึ่งเป็นการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งหมด โดยเป็นโรงไฟฟ้าที่ COD แล้ว 5 โครงการ กำลังผลิตรวม 38 เมกะวัตต์ ส่วนที่เหลืออยู่ระหว่างพัฒนา ซึ่งจะเดินเครื่องในปีนี้อีก 5 โครงการ รวม 62 เมกะวัตต์ และเดินเครื่องอีก 2 โครงการในปี 63 ส่วนอีก 1 โครงการที่เหลือจะเดินเครื่องผลิตในปี 66
นายสุธี กล่าวอีกว่า นอกจากโอกาสการลงทุนในญี่ปุ่นด้วยรูปแบบโมเดลธุรกิจใหม่นี้แล้ว บริษัทก็ยังมองโอกาสการลงทุนในประเทศที่บริษัทมีฐานการผลิตอยู่แล้ว อย่างในลาวที่ปัจจุบันมีโรงไฟฟ้าหงสา เป็นโรงไฟฟ้าหลักของบริษัทอยู่แล้ว ก็ยังพิจารณาการเข้าลงทุนผลิตไฟฟ้าจากพลังน้ำขนาดเล็ก กำลังผลิต 40-50 เมกะวัตต์ ส่วนจะเริ่มดำเนินการได้เมื่อใดนั้นยังต้องรอดูการเพิ่มขึ้นของความต้องการใช้ไฟฟ้าในลาวด้วย ซึ่งคงต้องใช้เวลาระยะหนึ่ง หากพบว่าเหมาะสมก็จะนำเสนอโครงการให้รัฐบาลลาวต่อไป
รวมถึงมองโอกาสการลงทุนในประเทศใหม่ที่ยังไม่ได้เข้าไปดำเนินการในธุรกิจไฟฟ้า ทั้งอินโดนีเซีย ,ฟิลิปปินส์ ,ออสเตรเลีย และไต้หวัน โดยในอินโดนีเซีย มี บมจ.บ้านปู (BANPU) ซึ่งเป็นบริษัทแม่ทำธุรกิจเหมืองถ่านหินอยู่แล้ว ก็ทำให้มีโอกาสต่อยอดธุรกิจผลิตไฟฟ้าได้ และเห็นว่าเป็นประเทศที่มีความต้องการใช้ไฟฟ้าในปริมาณที่มาก แต่เศรษฐกิจยังไม่เติบโตเท่ากับเวียดนาม โดยมองการลงทุนในพื้นที่ที่กลุ่มบริษัทมีประสบการณ์ถ่านหินเพื่อต่อยอดเป็นโรงไฟฟ้าถ่านหิน และมองโอกาสในด้านพลังงานหมุนเวียนด้วยเช่นกัน
ส่วนฟิลิปปินส์ มีศักยภาพทั้งในส่วนของโรงไฟฟ้าเชื้อเพลิงทั่วไปและพลังงานหมุนเวียน ขณะที่ออสเตรเลียและไต้หวัน บริษัทให้ความสนใจโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน
สำหรับในประเทศไทย นอกเหนือจากโครงการโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ที่รัฐบาลมีโอกาสจะเปิดรับซื้อเพิ่มเติมตามแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าผลิตไฟฟ้าของประเทศไทย พ.ศ.2561-2580 (PDP2018) ที่บริษัทให้ความสนใจอยู่แล้วนั้น ยังมองการเข้าลงทุนในการผลิตไฟฟ้าพลังงานอาทิตย์บนผิวน้ำ (โซลาร์ลอยน้ำ) ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่ตามแผน PDP2018 คาดว่าจะมีการรับซื้อไฟฟ้าโซลาร์ลอยน้ำจากเอกชนในปริมาณ 700 เมกะวัตต์ แต่คงจะอยู่ในช่วงปลายแผน ซึ่งบริษัทก็พร้อมที่จะเข้าร่วมแข่งขัน เนื่องจากมีประสบการณ์ที่เคยศึกษาร่วมกับรัฐบาลลาวที่จะทำโซลาร์ลอยน้ำในลาว แต่ยังไม่ได้เริ่มดำเนินการเพราะต้องรอความต้องการใช้ไฟฟ้าในลาวที่จะเพิ่มขึ้นในอนาคตด้วย