(เพิ่มเติม) AOT ชะลอเปิดขายซองดิวตี้ฟรี 4 สนามบิน-บริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์สุวรรณภูมิรอเคลียร์กระแสสังคมค้าน

ข่าวหุ้น-การเงิน Monday March 18, 2019 14:07 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายนิตินัย ศิริสมรรถการ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) เปิดเผยว่า บริษัทชะลอกการเปิดขายซองเอกสารงานให้สิทธิประกอบกิจการจำหน่ายสินค้าปลอดภาษี (ดิวตี้ฟรี) ณ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานภูเก็ต ท่าอากาศยานเชียงใหม่ และ ท่าอากาศยานหาดใหญ่ รวมถึงการให้สิทธิประกอบกิจการเชิงพาณิชย์ภายในอาคารผู้โดยสารท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ออกไปก่อน จากกำหนดการเดิมที่จะเปิดขายซองระหว่างวันที่ 19 มี.ค.-1 เม.ย.62

เนื่องจากหลังจากที่ประกาศหลักเกณฑ์และรายละเอียด (ทีโออาร์) ทั้ง 2 โครงการออกมาแล้ว เกิดกระแสสังคมวิพากษ์วิจารณ์กังวลว่าอาจเกิดการผูกขาด ดังนั้น ทอท.จะชี้แจงจนกระทั่งหมดข้อสงสัย อย่างไรก็ตาม ทอท.มั่นใจว่าการดำเนินการถูกต้องตามขั้นตอน

"วันนี้ผมไม่ข้ามปัญหา เอาให้สิ้นสงสัย ถ้าไม่มีข้อโต้แย้งก็จะพิจารณาขายซอง"นายนิตินัย กล่าว

หลังจากวันนี้ได้แถลงกับสื่อแล้ว ทอท.จะรอฟังกระแสสังคมว่าจะมีฝ่ายใดออกมาให้เหตุผลหักล้างได้ ก่อนที่จะเดินหน้าดำเนินการเปืดประมูลตามแผนงาน โดยมั่นใจว่าจะสามารถเคลียร์ข้อสงสัยทุกอย่างได้ภายใน 1-2 สัปดาห์ จากนั้นคาดว่าจะดำเนินการประมูลและได้ผู้ชนะทั้งสองโครงการภายในเดือน ก.ย. 62

ทั้งนี้ ประเด็นที่นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม ระบุว่าโครงการดังกล่าวอาจเข้าข่าย พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชน พ.ศ.2562 หรือไม่นั้น นายนิตินัย กล่าวว่า เมื่อพิจารณาแล้วกิจกรรมดิวตี้ฟรี และการบริหารพื้นที่เชิงพาณิชย์ ไม่จัดอยู่ธุรกิจโครงสร้างพื้นฐานและบริการสาธารณะ อีกทั้งไม่ได้เป็นกิจการที่เกี่ยวเนื่อง นอกจากนี้ ได้มีตัวแทนอื่น ได้แก่ อัยการ เป็นต้นเข้ามานั่งเป็นกรรมการจากหน่วยงานกลางในการพิจารณาโครงการดังกล่าวแล้ว ซึ่งเป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.)

นายนิตินัย กล่าวชี้แจงว่า ทอท.กำหนดรูปแบบของการให้สิทธิประกอบกิจการโครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากร และการบริหารโครงการกิจกรรมเชิงพาณิชย์ที่เหมาะสมที่สุดและเป็นประโยชน์แก่ทุกฝ่ายในระยะยาว คือ การให้สิทธิสัมปทานเพียงรายเดียว (Master concessionaire) ส่วนการแยกประมูลตามหมวดสินค้า (Category consessions) จะไม่ส่งผลดีต่อองค์กรและประเทศชาติโดยรวม โดยในส่วนของกิจการร้านค้าปลอดอากรไม่เหมือนการค้าปลีกโดยเฉพาะเรื่องสถานที่ ห้างสรรพสินค้ามีประตูอยู่ที่เดิมตลอดไป แต่ท่าอากาศยานมี contact gate ที่เปรียบเสมือนประตู และแต่ละ contact gate สามารถรองรับเครื่องบินได้ในแต่ละกลุ่มที่แตกต่างกัน ดังนั้น การไหลเวียนของผู้โดยสาร (Passenger flow) ในท่าอากาศยาน จึงแตกต่างจากห้างสรรพสินค้า โดยขึ้นอยู่กับประเภทเครื่องบินที่สายการบินนำมาให้บริการ ดังนั้น จึงมีความสุ่มเสี่ยงที่หากมีการแยกสัญญาแล้วจะทำให้ผู้ประกอบการบางรายมีปัญหาเมื่อปริมาณและการไหลเวียนของผู้โดยสารมีการเปลี่ยนแปลงไป

นอกจากนี้ ยังจะทำให้ภายในสนามบินเดียวกัน มีความแตกต่างให้เห็นทั้งในด้านโครงการส่งเสริมการขาย และมาตรฐานการให้บริการ ซึ่งจะสร้างการเปรียบเทียบและความสับสนให้กับผู้โดยสาร อีกทั้งยังนำมาซึ่งการผูกขาดในรายสินค้านั้นๆและไม่ได้เป็นการส่งเสริมให้เกิดการแข่งขันตามที่กล่าวอ้างแต่อย่างใด แต่จะแสดงถึงความไม่มีมาตรฐานของสนามบินของประเทศอีกด้วย

"ความเป็นห่วงมีอยู่ 2 เรื่อง คือ Nice to Have มีข้อสงสัยจะมีการผูกขาด กับ Must to Have โดย Nice to Have เราคิดดีแล้ว แต่จะขอประเมินกระแสก่อน ช้าก่อนอย่าเร่ง ทำให้รอบคอบ ซึ่งเรามั่นใจว่าไม่ผูกขาด"นายนิตินัย กล่าว

นายนิตินัย กล่าวว่า บริษัทยังได้เปิดเสรีเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Duty Free Pick-up Counter) ถือเป็นการยุติการผูกขาดธุรกิจร้านค้าปลอดอากร โดยสามารถเห็นตัวอย่างได้จากการเปิดเสรี Pick-up Counter ที่ท่าอากาศยานภูเก็ต ทำให้มีผู้ยื่นความจำนงประกอบกิจการร้านค้าปลอดอากรในเมืองนับสิบราย ซึ่ง ทอท.คาดว่าหลังจากมีการเปิดเสรี Pick-up Counter ที่ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิจะเป็นจุดเริ่มต้นของการแข่งขันในธุรกิจร้านค้าปลอดอากรที่สำคัญของประเทศไทย โดยคณะกรรมการบริษัทได้มีมติเมื่อ 20 ก.พ.แล้ว แต่ยังไม่ได้กำหนดรูปแบบ

ขณะที่การให้สิทธิประกอบกิจการทั้ง 4 ท่าอากาศยาน ซึ่งประกอบด้วยท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ ท่าอากาศยานเชียงใหม่ ท่าอากาศยานภูเก็ต และท่าอากาศยานหาดใหญ่ รวมอยู่ในสัญญาเดียว เนื่องจากข้อเท็จจริงที่ปรากฏอยู่ในปัจจุบัน ท่าอากาศยานที่มียอดขายน้อย เช่น ท่าอากาศยานเชียงใหม่ คิดเป็น 4-5%ของยอดขายและท่าอากาศยานหาดใหญ่ คิดเป็น 0.04%ของยอดขาย ประสบปัญหาการขาดทุน แต่สามารถยังดำเนินกิจการอยู่ได้ เนื่องจากมีการถัวกำไรจากท่าอากาศยานใหญ่ คือ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ

นอกจากนั้น การเปิดเสรีเคาน์เตอร์ส่งมอบสินค้าปลอดอากร (Duty Free Pick-up Counter) ณ ท่าอากาศยานภูเก็ต ทำให้ร้านดิวตี้ฟรีในท่าอากาศยานภูเก็ตเริ่มประสบปัญหาการขาดทุนจากการแข่งขันของร้านค้าปลอดอากรในเมือง (Downtown Duty Free) แสดงให้เห็นว่าความแข็งแรงและศักยภาพของผู้ประกอบการจึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ซึ่งจากผลการศึกษาของที่ปรึกษาชี้ชัดว่า การรวมสัญญาของโครงการจำหน่ายสินค้าปลอดอากรทั้ง 4 ท่าอากาศยาน จะทำให้ผู้ชนะการประมูลมีอำนาจต่อรองกับผู้แทนจำหน่าย (Supplier) ของสินค้า (Brand Name) ชั้นนำได้มาก ซึ่งธุรกิจร้านค้าปลอดอากรเป็นธุรกิจที่ต้องแข่งขันกับผู้ประกอบการอื่นในระดับโลก

ทั้งนี้ การจะทำให้ท่าอากาศยานภูมิภาคมีสินค้า Brand Name ให้บริการผู้โดยสารเหมือนที่ให้บริการในท่าอากาศยานใหญ่ ทอท.จำเป็นต้องคัดเลือกให้ได้ผู้ประกอบการที่มีศักยภาพมากที่สุดเพื่อให้สามารถแข่งขันในระดับโลกได้ หากท่าอากาศยานของไทยไม่สามารถแข่งขันได้ จะส่งผลเสียต่อประเทศชาติโดยรวมต่อไป

นายนิตินัย กล่าวยืนยันว่า ทอท.ได้ดำเนินการจัดทำข้อกำหนดและรายละเอียดของทั้งสองโครงการตามขั้นตอนอย่างถูกต้องในทุกกระบวนการ โดยคำนึงประโยชน์สูงสุดของ ทอท.และประเทศที่จะได้รับเป็นสำคัญ รวมถึงการที่จะดำเนินการตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 5 มี.ค.62 ที่กำหนดให้มีคนนอกร่วมอยู่ในกระบวนการด้วย ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินการเป็นไปอย่างโปร่งใส สามารถตรวจสอบและชี้แจงต่อสาธารณชนได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ