นายธนาวัฒน์ วรรณดิษฐ์ ผู้จัดการอาวุโส แผนกนักลงทุนสัมพันธ์ บมจ.ทางด่วนและรถไฟฟ้ากรุงเทพ(BEM) เปิดเผยว่า ในปีนี้ คาดการณ์ปริมาณจราจรบนทางด่วน เติบโต 1-2% ใกล้เคียงปีก่อนที่เติบโต 1.3% ซึ่งคาดว่ารายได้ธุรกิจทางด่วนเป็นไปทิศทางเดียวกัน
ในปีที่แล้ว โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 1 (ดินแดง-ท่าเรือ,บางนา-ท่าเรือ และท่าเรือ-ดาวคะนอง)โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนเอ(พระราม 9- รัชดาภิเษก)และส่วนบี(พญาไท-บางโคล่)มีประมาณจราจรรวมกันอยู่ที่ 7 แสนคัน/วัน ซึ่งเป็นทางด่วนในเมืองแทบจะไม่เติบโตเนื่องจากมีปริมาณจราจรแน่น
ประกอบกับเป็นช่วงพื้นผิวจราจรน้อยลงจากงานก่อสร้างรถไฟฟ้าสายสีเหลือง สีชมพูและสีส้ม ขณะทางด่วนที่อยู่นอกเมืองเติบโตดี ได้แก่ ทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนซี(รัชดาภิเษก-แจ้งวัฒนะ)โต 5-6% ส่วนดี(พระราม 9-ศรีนครินทร์) โต 3% ทางด่วนศรีรัช-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯโต 13% รวมทั้ง 3 ส่วนมีปริมาณจราจรรวม 4.6 แสนคัน/วัน โดยส่วนทางด่วนนอกเมืองคาดปีนี้เติบโตตัวเลข 2 หลักรวมทั้งโครงการทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด มี 9 หมื่นคัน/วัน ก็ยังเติบโตดี
ส่วนธุรกิจรถไฟฟ้า คาดว่าในปีนี้จำนวนผู้โดยสารจะเติบโต 5-7% จากปีก่อนมีจำนวนผู้โดยสารเฉลี่ย 3.1 แสนเที่ยวคน/วัน ขยายตัว 5.5% ในวันศุกร์ตัวเลขผู้โดยสารแตะที่ 4 แสนเที่ยวคน/วัน
ในปีนี้ ส่วนต่อขยายสายสีน้ำเงินช่วงหัวลำโพง-หลักสองคาดเปิดเดินรถในเดือนก.ย.62 คาดจะมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มอีก 1 แสนเที่ยวคน/วัน และช่วงเตาปูน-ท่าพระจะเปิดเดินรถในเดือน มี.ค.63 โดยคาดว่าจะมีจำนวนผู้โดยสารเพิ่มอีก 1 แสนเที่ยวคน/วัน ทั้งนี้คาดว่าเมื่อเดินรถเต็มปีในปี 64 คาดว่าจำนวนผู้โดยสารจะแตะ 5-5.5 แสนเที่ยวคน/วัน
ปัจจุบัน สัดส่วนรายได้จากทางด่วนยังสูงสุดที่ 65% รายได้จากรถไฟฟ้า มีสัดส่วน 30% และรายได้จากการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ 5%
นางพเยาว์ มริตตนะพร กรรมการผู้จัดการ BEM กล่าวว่า การทางพิเศษแห่งประเทศไทย(กทพ.) และบริษัทเจรจายุติข้อพิพาททั้งหมด มีมูลค่าข้อพิพาทประมาณ 1.37 แสนล้านบาท ณ 31 ธันวาคม 2561 โดยเจรจาตกลงขยายระยะเวลาทั้ง 3 สัญญาให้สิ้นสุดในวันที่ 21 เมษายน 2600 โดยสัญญาสัมปทานโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 1 และสัญญาสัมปทานโครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วน A, B, C,จะหมดสัญญาสัญญาในปี 2563, โครงการระบบทางด่วนขั้นที่ 2 ส่วนดี สิ้นสุดในปี 2570 และทางด่วนสายบางปะอิน-ปากเกร็ด สิ้นสุดในปี 2569 บริษัทจะปรับการหักค่าเสื่อมราคาไปจนถึงปีสิ้นสุดสัญญาสัมปทานใหม่ที่จะทำให้เกิดค่าใช้จ่ายไม่มาก
ทั้งนี้เงินลงทุนปรับปรุงทางด่วนขั้นที่ 2 ที่ใช้เงิน 3.1 หมื่นล้านบาทนั้นจะนำไปก่อสร้างทางด่วนชั้นบน จะทำให้มีพื้นที่จราจรบนทางด่วนเพิ่มขึ้นจะทำให้ปริมาณจราจรเพิ่มขึ้น คาดใช้เวลาก่อสร้าง 4 ปี
นางสาวปาหนัน โตสุวรรณถาวร รองกรรมการผู้จัดการ การเงิน BEM กล่าวว่า แหล่งเงินลงทุนจะมาจากการดำเนินการของบริษัทที่จะมีรายได้จากการเก็บค่าผ่านทางด่วนขั้นที่ 1 และ 2 รวมปีละ 6 พันล้านบาทหลังจากได้ยืดอายุสัญญา และมีเงินกู้ไม่มาก นอกจากนี้ บริษัทเตรียมออกหุ้นกู้ มูลค่า 5 พันล้านบาทในเดือน พ.ค.นี้เพื่อนำไปทดแทนหุ้นกู้เดิม