นายบุญยง ตันสกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.เซ็น คอร์ปอเรชั่น กรุ๊ป (ZEN) กล่าวว่า บริษัทวางแผนรุกบริการดิลิเวอรี่อาหารจากร้านสาขาทุกแบรนด์ในเครือให้มากยิ่งขึ้น โดยในไตรมาส 2/62 จะเปิดหมายเลขโทรศัพท์คอลล์เซ็นเตอร์ 4 หลักเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ลูกค้าและเป็นช่องทางรับออร์เดอร์ พร้อมเพิ่มจำนวนร้าน Zen, On The Table และตำมั่ว ที่สามารถให้บริการดิลิเวอรี่ในพื้นที่ 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพฯ, เชียงใหม่, ภูเก็ต และเมืองพัทยา ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพและมีกลุ่มเป้าหมายที่นิยมใช้บริการอยู่เป็นจำนวนมาก ตั้งเป้าผลักดันรายได้จากธุรกิจดังกล่าวในปีนี้ประมาณ 100 ล้านบาท หรือมีสัดส่วนรายได้เพิ่มเป็น 5-10% จากปีก่อนที่มีสัดส่วนรายได้ยังไม่ถึง 1%
สำหรับการให้บริการผ่านแอพพลิเคชั่นผู้ให้บริการจัดส่งอาหาร 4 ราย ประกอบด้วย Food Panda, Line Man, Grab Food และ Honestbee รวมถึงติดต่อทางเบอร์โทรศัพท์ของร้านอาหารแต่ละสาขา ถือว่าได้รับการตอบรับที่ดีมาก โดยในไตรมาส 1/62 จึงมีแผนเพิ่มร้านอาหารที่ให้บริการดิลิเวอรี่มากขึ้น
ขณะเดียวกันก็มีแผนเปิดบริการร้านอาหารสาขาย่อยแบบสแตนอโลนในพื้นที่กรุงเทพฯ เพื่อให้บริการแบบดิลิเวอรี่โดยเฉพาะ หรือ Delco (ร้านอาหารที่ไม่มีโต๊ะนั่ง) รวมทั้งอยู่ระหว่างออกแบบบรรจุภัณฑ์อาหารใหม่และพัฒนาเมนูอาหารพิเศษเพื่อจำหน่ายให้แก่ลูกค้ากลุ่มดิลิเวอรี่เท่านั้น ซึ่งจะช่วยสร้างความแตกต่างและเพิ่มโอกาสการขายได้ดียิ่งขึ้น
นายบุญยง กล่าวว่า บริษัทคงเป้าหมายที่จะผลักดันรายได้ในปีนี้ให้เติบโต 15-20% จากปีก่อนที่มีรายได้รวมอยู่ที่ 2,964.7 ล้านบาท ส่วนหนึ่งเป็นไปตามอัตราเติบโตตามยอดขายจากสาขาเดิม (SSSG) ที่ระดับ 4-5% และการขยายสาขาใหม่อีก 123 สาขา แบ่งเป็น ร้านอาหารภายใต้แบรนด์ Zen, On The Table และตำมั่ว จำนวนรวม 36 สาขา ซึ่งจะเป็นสาขาในต่างประเทศ ได้แก่ กัมพูชา ลาว และเมียนมา จำนวนรวม 8-9 สาขา และร้านอาหารรูปแบบแฟรนไชส์อีกจำนวน 87 สาขา โดยในส่วนนี้จะมุ่งเน้นไปที่แบรนด์"เขียง"ประมาณ 40 สาขา ซึ่งมีแผนขยายไปในพื้นที่สถานีบริการน้ำมัน ตึกแถว และโรงพยาบาล เป็นต้น วางงบลงทุนไว้ที่ 285 ล้านบาท
ปัจจุบันบริษัทมีสาขาร้านอาหารในเครือรวมทั้งสิ้น 255 สาขา แบ่งเป็น ร้านอาหารรูปแบบแฟรนไชส์จำนวน 145 สาขา และร้านอาหารที่ลงทุนเองจำนวน 110 สาขา โดยในส่วนนี้จะแบ่งเป็นร้านอาหารที่ให้บริการดิลิเวอรี่ได้ราว 140-150 สาขา
"เรามองว่าช่องทางดิลิเวอรี่มีโอกาสเติบโตที่ดีมากในอนาคต หลังจากมีแพลตฟอร์มแอพพลิเคชั่นเข้ามาช่วยอำนวยความสะดวกในการติดต่อ โดยปีที่ผ่านมาประเมินว่าภาพรวมธุรกิจดิลิเวอรี่อาหาร มีมูลค่าตลาดรวมกว่า 2.7 หมื่นล้านบาท และคาดว่าภายในปี 65 จะเติบโตเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่า เราจึงไม่มองข้ามที่จะรุกเพิ่มยอดขายในส่วนนี้และการที่บริษัท มีสาขากระจายอยู่ในพื้นที่ต่างๆ เป็นจำนวนมาก จะช่วยเพิ่มโอกาสเข้าถึงและให้บริการแก่ลูกค้าได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย" นายบุญยง กล่าว
นายบุญยง กล่าวอีกว่า บริษัทยังมองโอกาสเข้าซื้อกิจการร้านอาหารเพิ่มเติมอีก (M&A) โดยอยู่ระหว่างเจรจากับแบรนด์ร้านอาหารหลายราย ทั้งอาหารจีน และซีฟู้ด เป็นต้น แต่ยังไม่สามารถประเมินได้ว่าจะปิดดีลได้ภายในปีนี้หรือไม่ เบื้องต้นมองขนาดกิจการที่ราว 500-1,000 ล้านบาท
แต่อย่างไรก็ตาม บริษัทตั้งเป้าซื้อกิจการร้านอาหารเข้ามาให้ได้ปีละ 1 ดีล เพื่อผลักดันรายได้รวมให้เติบโตแตะ 10,000 ล้านบาทในปี 66 โดยรายได้ธุรกิจร้านอาหารแบบเดิมจะลดสัดส่วนลงเหลือ 80% จากปี 61 อยู่ที่ 90% ส่วนธุรกิจอื่นๆ ทั้งธุรกิจรีเทล แฟรนไชส์ และแบรนด์ใหม่ๆ จะเติบโตเป็น 20% จากปี 61 อยู่ที่ 10% ขณะเดียวกันก็ตั้งเป้าอัตรากำไรสุทธิภายใน 5 ปีจะขยับขึ้นเป็น 8-10% จากปีก่อนอยู่ที่ 4.7% โดยจะเพิ่มขึ้นให้ได้ปีละ 1-2%
นายบุญยง กล่าวว่า สำหรับแนวโน้มผลประกอบการในไตรมาส 1/62 จะเติบโตเล็กน้อยเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/61 จากการรักษาระดับการเติบโตของยอดขายสาขาเดิมไม่ให้ติดลบ และการเปิดสาขาร้านอาหารเพิ่มเติม รวมถึงยังได้รับอานิงสงส์จากการท่องเที่ยวที่ฟื้นตัวดีขึ้น แต่อย่างไรก็ตามมองว่าภายหลังการเลือกตั้ง และมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่เข้ามา จะช่วยสร้างความเชื่อมั่นและกระตุ้นการลงทุนของภาคเอกชนและภาครัฐ ซึ่งก็น่าจะส่งผลดีต่อบริษัทอย่างมีนัยสำคัญ
ส่วนนโยบายการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำของพรรคการเมืองหลายพรรคที่ใช้หาเสียงกันในขณะนี้ บริษัทมองว่าจะส่งผลกระทบต่อบริษัทไม่มากนัก เนื่องจากปัจจุบันมีพนักงานประจำ พนักงานพาร์ทไทม์ และนักศึกษาทวิภาคี โดยบริษัทจะเพิ่มสัดส่วนของพนักงานสองกลุ่มหลังขึ้นเป็น 40% และอีก 60% จะเป็นพนักงานประจำ เพื่อบริหารจัดการในเรื่องของรายจ่ายค่าแรง