นายพรสนอง ตู้จินดา ประธานกลุ่มธุรกิจลูกค้าธุรกิจ ธนาคารกรุงศรีอยุธยา (BAY) กล่าวว่า ธนาคารตั้งเป้าสินเชื่อกลุ่มลูกค้าธุรกิจเติบโต 6.2% หรือมีพอร์ตสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นปี 6.89 แสนล้านบาท สูงกว่าปีก่อนที่สินเชื่อธุรกิจเติบโต 5.6% โดยมีพอร์ตสินเชื่อคงค้าง ณ สิ้นปีก่อนอยู่ที่ 6.49 แสนล้านบาท
สำหรับในปี 62 ธนาคารคาดว่าจะปล่อยสินเชื่อใหม่ของกลุ่มลูกค้าธุรกิจกว่า 4 หมื่นล้านบาท โดยมองว่าความต้องการใช้สินเชื่อของผู้ประกอบการรายใหญ่และเอสเอ็มอีในปีนี้จะมีแนวโน้มมากขึ้น โดยเฉพาะในช่วงหลังจากความชัดเจนของการเลือกตั้งออกมาแล้ว ซึ่งจะทำให้การลงทุนต่าง ๆ มีการเดินหน้ามากขึ้น โดยในช่วงหลังการเลือกตั้ง ธนาคารจะหันมาเน้นการขยายสินเชื่อเอสเอ็มอีอีกด้วย เพราะธนาคารมองว่าธุรกิจเอสเอ็มอีจะมีการขยายตัวตามการลงทุนที่จะเดินหน้าอย่างชัดเจนหลังการเลือกตั้ง
โดยที่ปัจจุบันสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อธุรกิจของธนาคารมีสัดส่วนรวมอยู่ที่ 40% ของสินเชื่อทั้งหมดของธนาคารที่มีมูลค่าพอร์ตรวมกันอยู่ที่ 1.67 ล้านล้านบาท ซึ่งสัดส่วนพอร์ตสินเชื่อธุรกิจของธนาคาร แบ่งออกเป็น สินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ 25% และสินเชื่อเอสเอ็มอี 15% ซึ่งในส่วนของกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่นั้น ธนาคารจะมุ่งเน้นไปที่การนำเสนอผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่เป็นโซลูชั่นให้กับลูกค้า นอกเหนือจากการสนับสนุนด้านสินเชื่อเพียงอย่างเดียว เพื่อมุ่งหวังการมอบบริการที่ครบวงจรให้กับลูกค้าและเพื่อการเป็นธนาคารหลักที่ลูกค้าใช้บริการ
ด้านนางเมธินี จงสฤษดิ์หวัง ประธานคณะเจ้าหน้าที่ด้านลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ BAY กล่าวว่า การที่ธนาคารมุ่งเน้นการนำเสนอบริการอื่น ๆ นอกเหนือจากการสนับสนุนด้านสินเชื่อให้ลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่นั้น ธนาคารมีความมุ่งหวังที่จะผลักดันสัดส่วนรายได้จากค่าธรรมเนียมในกลุ่มลูกค้าขนาดใหญ่ให้เพิ่มขึ้นเป็น 40% ภายในปี 63 จากปัจจุบันอยู่ที่ 30%
โดยที่บริการอื่น ๆ ที่ธนาคารจะนำเสนอให้กับลูกค้าเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวกในด้านการเงินต่อการทำธุรกิจของลูกค้า เช่น บริการด้าน Transaction Banking บริการด้าน Digital Platform บริการด้านประกันความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยน บริการด้านการเป็นผู้รับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ รวมไปถึงการช่วยเหลือและให้คำปรึกษาแก่ลูกค้าในการขยายการเติบโตของธุรกิจที่เกี่ยวข้องทั้งการเป็นที่ปรึกษาในการควบรวมและซื้อกิจการ (M&A) และจับคู่ทางธุรกิจเพื่อร่วมทุนกัน เป็นต้น
สำหรับการเป็นที่ปรึกษาในการทำดีล M&A ให้กับลูกค้าผู้ประกอบการขนาดใหญ่ในประเทศนั้น ปัจจุบันธนาคารมีการช่วยเหลือลูกค้าในการเจรจาดีล M&A อยู่เป็นจำนวนมาก ซึ่งเป็นลักษณะการที่ลูกค้าผู้ประกอบการในไทยเข้าไปขยายการลงทุนในต่างประเทศ และขยายการลงทุนในประเทศ โดยจะมีดีลที่ทยอยเห็นความชัดเจนในปีนี้ออกมา ซึ่งส่วนใหญ่เป็นกลุ่มธุรกิจในอุตสาหกรรมอาหารและเครื่องดื่ม และกลุ่มท่องเที่ยว ได้แก่ โรงแรม และโรงพยาบาล ที่อยู่ระหว่างการเจรจาดีล M&A ซึ่งแต่ละดีลจะมีมูลค่าอยู่ในช่วง 1-3 หมื่นล้านบาท ส่วนการเป็นผู้รับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นกู้นั้น ในปีนี้ธนาคารคาดว่าจะก้าวขึ้นเป็นธนาคารที่มีส่วนแบ่งตลาดอันดับ 2 ของอุตสาหกรรมธนาคารพาณิชย์ จากปีก่อนที่มีส่วนแบ่งตลาดของการเป็นผู้รับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นกู้อยู่ที่อันดับ 3 โดยมีสัดส่วนของส่วนแบ่งตลาดอยู่ที่ 12-13% รองจากธนาคารกสิกรไทย (KBANK) ที่เป็นอันดับ 1 และธนาคารกรุงเทพ (BBL) ที่เป็นอันดับ 2 ซึ่งในช่วงต้นปีธนาคารได้เป็นผู้รับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ของผู้ประกอบการรายใหญ่ 2 ราย ได้แก่ บมจ.ไทยเบฟเวอเรจ และกลุ่มไมเนอร์ กรุ๊ป ซึ่งมีการออกหุ้นกู้ที่มีวงเงินสูง และธนาคารคาดว่ามูลค่าการเป็นผู้รับประกันการจัดจำหน่ายหุ้นกู้ในปีนี้จะมีมูลค่าสูงกว่าปีก่อนที่ 1.07 แสนล้านบาท เนื่องจากยังมองเห็นแนวโน้มความต้องการออกหุ้นกู้ของผู้ประกอบการต่างๆ เพื่อเป็นการล็อคอัตราดอกเบี้ย ช่วยในการลดต้นทุนทางการเงิน ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยอยู่ในช่วงขาขึ้น และผู้ประกอบธุรกิจขนาดใหญ่ยังคงมีความต้องการออกหุ้นกู้เพื่อการขยายธุรกิจและการรีไฟแนนซ์ นอกจากนี้ ธนาคารยังเป็นที่ปรึกษาในการช่วยเหลือลูกค้าในดีลต่างๆ โดยเฉพาะดีลใหญ่ในต้นปีนี้ คือ การเข้าซื้อกิจการบมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) ของบมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี (GPSC) ที่ธนาคารได้เข้าไปช่วยเหลือในการปลดล็อคให้คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) อนุมัติการเข้าซื้อ ซึ่งได้เสนอแนะแนวทางให้จำหน่ายกิจการของบริษัท โกลว์ เอสพีพี 1 จำกัด ให้แล้วเสร็จก่อน ซึ่งได้จำหน่ายให้กับบมจ.บี.กริม เพาเวอร์ (BGRIM) พร้อมกับต่อยอดไปสู่การสนับสนุนสินเชื่อที่เป็น Syndicated Loan ให้กับ GPSC ในวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาท ซึ่งดีลดังกล่าวเป็นดีลการมอบโซลูชั่นให้กับลูกค้าที่โดดเด่นอย่างหนึ่งของธนาคารในต้นปีที่ผ่านมา
สำหรับความต้องการใช้สินเชื่อของกลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดใหญ่ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมานั้นยังมีทิศทางที่ดี แม้ว่าภาพรวมของเศรษฐกิจไทยยังทรงตัว แต่มองว่าหลังจากการเลือกตั้งมีความชัดเจนแล้วจะมีความต้องการใช้สินเชื่อมากขึ้น เพื่อเริ่มเดินหน้าการลงทุน ทำให้ในปีนี้ธนาคารตั้งเป้าการเติบโตของสินเชื่อธุรกิจขนาดใหญ่ในปี 62 เติบโต 8% หรือมีสินเชื่อคงค้างของกลุ่มธุรกิจขนาดใหญ่เพิ่มเป็น 4.08 แสนล้านบาท จากปีก่อนที่ 3.78 แสนล้านบาท พร้อมกับการขยายในส่วนของเงินฝากของลูกค้ากลุ่มธุรกิจให้เพิ่มขึ้น 10% มาอยู่ที่ 2.87 แสนล้านบาท จากปีก่อนที่ 2.68 แสนล้านบาท เพื่อทำให้ลูกค้ากลุ่มธุรกิจหันมาเลือกใช้บริการของธนาคารเป็นธนาคารหลัก