นายจักรพงส์ สุเมธโชติเมธา กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.สากล เอนเนอยี (SKE) เปิดเผยกับ"อินโฟเควสท์"ว่า บริษัทวางเป้าในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือภายในปี 65 บริษัทจะมีมูลค่าหลักทรัพย์ตามราคาตลาด (Market Cap) ขึ้นไปแตะระดับ 10,000 ล้านบาท จากปัจจุบันอยู่ที่ราว 946.50 ล้านบาทเท่านั้น โดยเชื่อว่าแผนงานที่วางไว้ว่าจะเพิ่มกำลังผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดในมือให้เป็น 30 เมกะวัตต์ ขณะที่ธุรกิจให้บริการสถานีหลักก๊าซ NGV ที่เป็นธุรกิจหลักเดิม ยังมีแนวโน้มเติบโตได้ดีจะช่วยผลักดันให้มีความเป็นไปได้
"ไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่งภายใน 5 ปีเราจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมเป็น 30 เมกกะวัตต์ ยังคงเน้นด้านธุรกิจพลังงานเป็นหลัก ที่ผ่านมาเราก็เห็นแล้วว่าเทรนด์มาจริงๆ ในแง่ของกำไรธุรกิจโรงไฟฟ้ามีมาร์จิ้นสูง ถ้าเราขยายกำลังผลิตไฟฟ้าได้ตามแผน จากโอกาสตามแผน PDP ของภาครัฐ และธุรกิจหลักจากการขายก๊าซ NGV-CBG เติบโตควบคู่กับไปด้วย เป้าหมายมาร์เก็ตแคปขึ้นไประดับ 10,000 ล้านในอีก 5 ปีข้างหน้าตามเป้าก็มีโอกาสเป็นไปได้สูง"นายจักรพงส์ กล่าว
ทั้งนี้ ตามแผนในอีก 5 ปีข้างหน้า บริษัทจะเพิ่มกำลังการผลิตไฟฟ้าในมือขึ้นเป็น 30 เมกะวัตต์ โดยเน้นโรงไฟฟ้าเอกชนรายเล็ก (SPP) และเล็กมาก (VSPP) ขนาดกำลังการผลิตไม่เกิน 10 เมกกะวัตต์ เบื้องต้นมองโอกาสขยายในประเทศเป็นหลัก ทั้งพลังงานทดแทนจากแสงอาทิตย์,ลม,ไบโอแมส รวมไปถึงโรงไฟฟ้าขยะ เพราะปัจจุบันบริษัทมีบริษัทลูกที่ดำเนินการธุรกิจกำจัดขยะ ทำให้มีความได้เปรียบการนำขยะมาแปรรูปเป็นเชื้อเพลิงได้
"บริษัทยังคงมุ่งเน้นขยายกิจการไปในด้านพลังงานเป็นหลัก โดยเฉพาะในเรื่องของพลังงานทดแทนที่เป็นพลังงานสะอาด โดยเชื่อว่ายังมีแนวโน้มการเติบโตในอนาคต หลังจากที่ประเทศประสบปัญหาเกี่ยวกับภาวะฝุ่นละอองในอากาศอย่างหนัก ประกอบกับแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ พ.ศ.2561-2580 หรือ PDP2018 ฉบับใหม่ วางเป้าหมายการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทนเกือบ 2 หมื่นเมกกะวัตต์"นายจักรพงส์ กล่าว
อย่างไรก็ตาม หากการขยายพลังงานทดแทนในประเทศไม่เกิดขึ้นตามที่คาดการณ์ บริษัทได้เตรียมมองแนวทางทดแทนไว้ ด้วยการขยายไปยังต่างประเทศเพื่อที่จะให้มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ เพราะโดยปกติธุรกิจโรงไฟฟ้าจะมีมาร์จิ้นสูง หรือมีอัตรากำไรขั้นราว 30% และมีอัตรากำไรสุทธิกว่า 20% เพื่อให้ช่วยผลักดันกำไรเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญในช่วง 5 ปีข้างหน้าด้วย
ปัจจุบัน SKE มีโรงไฟฟ้าชีวมวลแม่กระทิง ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 9.90 เมกะวัตต์ มีสัญญาขายไฟฟ้า 8 เมกะวัตต์ ราคาขายไฟฟ้าที่ 4.54 บาท/หน่วย ระยะเวลาสัญญา 20 ปี ซึ่งจะเริ่มจ่ายไฟเข้าสู่ระบบเชิงพาณิชย์ (COD) ในเดือน มิ.ย.62 คาดว่าจะรับรู้รายได้ในปีนี้ประมาณ 100 ล้านบาท
นายจักรพงส์ กล่าวอีกว่า ธุรกิจหลักของบริษัทในขณะนี้ยังเป็นสถานีก๊าซธรรมชาติหลักเอกชน (Private Mother Station) โดยให้บริการอัดก๊าซ NGV แก่รถของ PTT เพื่อขนส่งไปให้กับสถานีบริการ NGV นอกแนวท่อส่งก๊าซ หรือสถานีลูก รวมถึงดำเนินการปรับปรุงคุณภาพก๊าซธรรมชาติเพื่อให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
ขณะนี้บริษัทมีสถานีก๊าซ NGV จำนวน 2 แห่ง คือ ในจังหวัดปทุมธานี และ จังหวัดสระบุรี เบื้องต้นปีนี้ตั้งเป้ายอดบรรจุก๊าซ NGV เพิ่มเป็น 600 ตันต่อวัน จากปี 61 เฉลี่ยอยู่ที่ 580 ตันต่อวัน ทั้งนี้ เชื่อว่าหากมีความต้องการสูงขึ้น โดยเฉพาะจากการปรับเปลี่ยนรถโดยสารต่าง ๆ มาใช้เชื้อเพลิง NGV เช่น รถเมล์ขสมก.ที่จะมีการจัดซื้อเพิ่มอีก 700 คัน หลังจากซื้อล็อตแรกไปแล้ว 489 คัน และทางกลุ่ม ปตท.มีแนวโน้มจะเปิดประมูลสร้างสถานีก๊าซธรรมชาติเอกชนเพิ่ม ก็น่าจะทำให้บริษัทโอกาสทางธุรกิจเพิ่มขึ้นอีกในอนาคต
ส่วนโครงการ CBG Station จังหวัดนครราชสีมามีกำลังการผลิตไบโอมีเทนอัดรวมที่ 9 ตันต่อวัน ล่าสุดได้ขยายการให้บริการกลุ่มภาคอุตสาหกรรมมากขึ้นจากเดิมกลุ่มรถยนต์ ซึ่งทำให้ธุรกิจดังกล่าวมีศักยภาพทำกำไรสูงกว่าในปีที่ผ่านมา
*ปีนี้หวังรายได้ปีนี้โตกว่า 50% หลัง COD โรงไฟฟ้าแห่งแรก-ธุรกิจ NGV หนุน
สำหรับผลประกอบการปี 62 นายจักรพงส์ กล่าวว่า แนวโน้มรายได้รวมทั้งปีจะเติบโต 50% จากปีก่อน เพราะนอกจากจะรับรู้รายได้จากโรงไฟฟ้าชีวมวลแม่กระทิงที่จะเริ่ม COD ในเดือน มิ.ย.นี้แล้ว จะมาจากธุรกิจหลักบริการอัดก๊าซ NGV ตั้งเป้ายอดบริการบรรจุก๊าซจะเพิ่มเป็น 600 ตันต่อวัน จากปี61 เฉลี่ย 580 ตันต่อวัน ขณะที่โครงการ CBG Station อ.ชุมพร จ.นครราชสีมา ที่มีกำลังการผลิตไบโอมีเทนอัดรวมที่ 9 ตันต่อวัน ล่าสุดได้ขยายการให้บริการกลุ่มภาคอุตสาหกรรมมากขึ้นจากเดิมกลุ่มรถยนต์ ซึ่งทำให้ธุรกิจดังกล่าวมีศักยภาพทำกำไรสูงกว่าในปีที่ผ่านมา
บริษัทยังคงมองหาการลงทุนในธุรกิจใหม่ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยจะเน้นขนาดการลงทุนไม่ใหญ่นัก ความเสี่ยงไม่สูง และมีโอกาสเติบโตในอนาคต ปัจจุบันอยู่ระหว่างการศึกษาธุรกิจใหม่ 1 ธุรกิจที่มีโอกาสทั้งการเข้าลงทุนเอง หรืออาจจะเป็นการร่วมลงทุน เบื้องต้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 100 ล้านบาท ซึ่งอยู่หว่างพิจารณารายละเอียดเพื่อหาข้อสรุป
"มีโครงการอะไรเข้ามาเราก็ดู และศึกษาหากเป็นไปได้เราก็ทำ ซึ่งเราก็คำนึงถึงทรัพยากรณ์ที่เรามี โดยปัจจุบันเรายังคงมีแหล่งเงินที่พร้อมในการลงทุนได้ โดยมีอัตราส่วนหนี้สินต่อทุน (D/E) ต่ำกว่า 1 เท่า ยังสามทรถกู้จากสถาบันทางการเงิน ออกหุ้นกู้ และจากตลาดทุน"นายจักรพงส์ กล่าว
https://youtu.be/gLfBjfVpecA