นายเกษมสันต์ วีระกุล ประธานกรรมการบริษัทฯ และกรรมการอิสระ บมจ.ซีเอ็ดยูเคชั่น (SE-ED) เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานในปี 62 ว่า บริษัทตั้งเป้ารักษาระดับรายได้และกำไรสุทธิให้ใกล้เคียงปีก่อนที่มีรายได้ 3,304.68 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 14.61 ล้านบาท
ในปีนี้บริษัทจะขับเคลื่อนภารกิจต่างๆ ภายใต้ยุทธศาสตร์สำคัญ คือ การสร้างขวัญกำลังใจ และเติมเต็มความสามารถที่เหมาะสมกับยุคสมัยให้กับทีมซีเอ็ด, ปรับร้านหนังสือซีเอ็ดที่มีสาขามากที่สุดในประเทศไทย จำนวนรวมทั้งสิ้น 350 สาขาให้มีความแตกต่าง และสามารถตอบสนองความต้องการของลูกค้าให้ได้ดีที่สุด, พัฒนาหน่วยธุรกิจต่างๆ ให้มีประสิทธิภาพสูงขึ้นโดยเฉพาะสำนักพิมพ์ และการจัดจำหน่าย, ลงทุนในด้านดิจิทัลเพื่อรองรับการเติบโตของธุรกิจ e-commerce และ e-book, ร่วมมือกับบริษัท และองค์กรอื่นๆ ในวงการหนังสือเพื่อเสริมสร้างความแข็งแรงของวงการ กระตุ้นการอ่าน และช่วยกันรักษาธุรกิจรายย่อยๆ ในวงการ
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าขณะนี้บริษัทไม่ได้วางงบลงทุนไว้ แต่มีความพร้อมในการลงทุนในทุกๆ ด้าน ทั้งการตลาด, การออกหนังสือใหม่, การนำหนังสือที่เป็นความรู้ น่าสนใจเข้ามาในร้าน เป็นต้น เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้อ่าน และให้ผู้อ่านเข้าถึงง่าย
นายเกษมสันต์ กล่าวว่า ตั้งแต่ช่วงปลายปีที่แล้วที่ตนได้เข้ารับตำแหน่ง ต้องยอมรับว่าวงการหนังสือทั้งประเทศกำลังอยู่ในช่วงขาลง ขวัญและกำลังใจของคนในวงการตกต่ำ จึงเป็นความท้าทายอย่างยิ่งที่ได้ตั้งเอาไว้ว่าจะพยายามอย่างที่สุดที่จะรักษาร้านหนังสือซีเอ็ดให้อยู่คู่สังคมไทยต่อไปในกระแสโลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
"แม้ว่าวงการหนังสือในประเทศไทยจะเป็นช่วงขาลง แต่เราจะไม่มีการปรับลดสาขา หรือเปิดสาขาเพิ่ม โดยจะพยายามรักษาร้านหนังสือที่มีอยู่ในปัจจุบันเอาไว้ให้มากที่สุด และสร้างความแตกต่าง ซึ่งเรามองว่าคนจะต้องเข้าถึงร้านหนังสือได้ง่าย ประกอบกับพัฒนาการให้บริการหนังสือผ่านเว็บไซต์ เช่น การสั่งซื้อหนังสือออนไลน์ ที่สามารถรับหนังสือผ่านหน้าร้านที่ปัจจุบันมีอยู่ 350 สาขา ได้ทันทีโดยไม่ต้องรอ"นายเกษมสันต์ กล่าว
ขณะนี้บริษัทอยู่ระหว่างเจรจากับพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อแสวงหาความร่วมมือในการแก้ปัญหาต่างๆ ของวงการหนังสือที่มีผลต่อธุรกิจของ SE-ED ได้แก่ ปัญหาด้าน Disruption, ด้านภาษี, ด้านการขนส่ง เป็นต้น คาดว่าการเจรจาดังกล่าวน่าจะเห็นความชัดเจนมากขึ้นในการประชุมเดือน มี.ค.นี้ จากนั้นก็จะร่วมมือกับรัฐบาลในการรณรงค์ให้คนไทยเห็นความสำคัญของการอ่านหนังสือให้มากยิ่งขึ้น และร่วมกันหามาตรการสนับสนุนให้ร้านหนังสือรายเล็กๆ ตามภูมิภาคให้มีความแข็งแรงสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้
"เราได้ร่วมมือกันกับสำนักพิมพ์ทั้งรายใหญ่และรายย่อย เพื่อระดมความคิดว่าจะทำอย่างไรให้ต้นทุนหนังสือถูกลง เนื่องจากทุกวันนี้ต้นทุนหลักของสำนักพิมพ์มาจากต้นทุนการนำเข้ากระดาษที่มีภาษีสูง ทำให้เรารวมตัวกันเพื่อให้ราคาหนังสือถูกลง เพื่อให้ผู้อ่านเข้าถึงได้ง่าย จากนั้นเราก็จะหารือกับรัฐบาลให้มีนโยบายในการส่งเสริมการอ่านของคนในประเทศ เพื่อให้วงการหนังสือกลับมาคึกคักได้อีกครั้ง"
นอกจากนั้น ล่าสุด บริษัทยังร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ คือ บมจ.พีทีจี เอ็นเนอยี (PTG) เพื่อกระตุ้นยอดขาย จากการร่วมเป็นพันธมิตรกับบัตร PTT Max Card โดยสมาชิกผู้ถือบัตรจะสามารถนำคะแนนสะสมของการ์ดเอามาใช้เป็นส่วนลดในการซื้อหนังสือในร้านซีเอ็ดได้ตั้งแต่เดือน เม.ย.นี้ เป็นต้นไป และนอกจากนี้ก็จะเห็นการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจในลักษณะนี้อย่างต่อเนื่อง
บริษัทยังเปิดตัวสำนักพิมพ์ใหม่เพิ่มอีก 5 สำนักพิมพ์ คือ สำนักพิมพ์ Fukurou (ฟุกุโร) หมวดคู่มือเรียน-สอบระดับประถมและมัธยม, Wisdom World หมวดคู่มือเรียน-สอบระดับอุดมศึกษาขึ้นไป, Unicorn หมวดวรรณกรรม, Life+ หมวดสุขภาพ ไลฟ์สไตล์ อาหาร และ Change+ หมวดจิตวิทยา พัฒนาตนเอง จากปัจจุบันที่มีสำนักพิมพ์ภายใต้ชื่อ SE-ED เพียงสำนักพิมพ์เดียว
ทั้งนี้ เพื่อกระจายกลุ่มผู้อ่านให้หลากหลายมากขึ้น เนื่องด้วยมองว่ากลุ่มหนังสือที่จะเป็นตัวขับเคลื่อนวงการหนังสือในปีนี้จะประกอบด้วย 5 กลุ่มหลัก ได้แก่ คู่มือการเรียนการสอน, วรรณกรรม,พัฒนาตนเอง,การเงิน การลงทุน และหนังสือที่เกี่ยวกับเด็ก เป็นต้น โดยปีนี้บริษัทตั้งเป้าออกหนังสือใหม่ประมาณ 400 ปก
สำหรับผลประกอบการปี 61 บริษัทมีรายได้จากการขาย 3,304.68 ล้านบาท ลดลง 10.62% ต้นทุนขายสินค้าและบริการรวม 2,172.51 ล้านบาท ลดลง 10.61% ส่งผลให้บริษัทมีกำไรขั้นต้น 1,132.17 ล้านบาท ลดลง 10.64% EBITDA เท่ากับ 147.71 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 22.91% ส่งผลให้มีกำไร 14.61 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 156.85% จากปีก่อนหน้าขาดทุน 25.70 ล้านบาท
บริษัทพลิกมามีกำไรได้เพราะสามารถบริหารจัดการสินค้าให้มีอัตราหมุนเวียนที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น ปรับส่วนผสมสินค้าภายในร้านให้เหมาะสมสอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมายของแต่ละสาขาได้ดียิ่งขึ้น รวมถึงการควบคุมค่าใช้จ่ายอย่างต่อเนื่องในทุกด้าน และการบุกตลาดใหม่ๆ อาทิ ตลาดสถาบันที่มีการตอบรับอย่างชัดเจนขึ้นต่อเนื่อง เพราะบริษัทมุ่งเน้นการส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการยกระดับความสามารถของนักเรียน นักศึกษา และสถาบันการศึกษาได้ตรงจุดมากขึ้น โดยได้ร่วมมือกับสำนักพิมพ์ Oxford ในการจัดจำหน่ายแบบเรียนภาษาอังกฤษ และหลักสูตรในการพัฒนาครูภาษาอังกฤษและเครื่องมือในการวัดประเมินความสามารถทางภาษาอังกฤษ 4 ทักษะ ตามกรอบ CEFR (Cambridge Assessment)
นอกจากนี้ซีเอ็ดยังเป็นผู้นำสื่อการเรียนรู้ด้าน STEM (Science Technology Engineering and Mathematics) เนื่องจากซีเอ็ดเล็งเห็นถึงความสำคัญในการกระตุ้นการเรียนรู้ STEM Education โดยจะร่วมมือกับหน่วยงานระดับประเทศ และระดับนานาชาติ ในการสรรหาอุปกรณ์ในห้องเรียน เพื่อให้เด็กไทยได้มีโอกาสสัมผัสอุปกรณ์การเรียนรู้ของห้องเรียนที่เก่งๆ ในโลก