เชื่อว่านักลงทุนหลายๆ ท่านคงคาดหวังกับผลตอบแทนตลาดหุ้นไทยในปี 2562 เพราะนับตั้งแต่เปิดศักราชใหม่ SET INDEX ทะยานต่อเนื่องกว่า 100 จุดเพียงแค่ 2 เดือนเศษเท่านั้น ปัจจัยสนับสนุนคงหนีไม่พ้นประเด็น ปัจจัยภายนอกเริ่มผ่อนคลายทั้งสถานการณ์ สงครามการค้าจีน-สหรัฐฯ ,ทิศทางดอกเบี้ยของธนาคารกลางสหรัฐ(เฟด) ส่อแววว่าการปรับขึ้นอาจชะลอไปอย่างไร้กำหนด และที่สำคัญ คือความหวังการเลือกตั้งในประเทศวันที่ 24 มีนาคมนี้ รัฐบาลชุดใหม่จะเข้ามากระตุ้นเศรษฐกิจและกำลังซื้อในประเทศให้พลิกกลับมาฟื้นตัว ได้อย่างเป็นรูปธรรม
แต่เมื่อย้อนมองกราฟ SET INDEX ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา ท่าทีความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุนเริ่มเปลี่ยนไปในทิศทาง เชิงลบ ทั้งกลุ่มนักลงทุนต่างชาติที่ยังไม่เห็นสัญญาณขนเงินกลับมาลงทุนในหุ้นไทยรอบใหม่ ทำให้สภาพคล่องซื้อขายในตลาดฯ มาจากแค่กลุ่ม นักลงทุนภายในประเทศเท่านั้น ทำให้มีแรงขายสลับออกมาในกลุ่มหุ้นมาร์เก็ตแคปขนาดใหญ่เป็นตัวแปรกดดันดัชนีฯให้เกิดภาวะปรับฐานทันที
ความเชื่อมั่นที่กำลังหดหายไปจะกดดันให้ SET INDEX ร่วงลงไปหาจุดต่ำสุดรอบใหม่นี้ได้แค่ไหน ก่อนประเทศไทยเตรียมเข้า สู่โค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง
สำนักข่าว "อินโฟเควสท์" ต่อสายถึงนายเทิดศักดิ์ ทวีธีระธรรม ผู้ช่วยกรรมการผู้อำนวยการฝ่ายวิจัย บล.เอเซีย พลัส ให้ความเห็นว่า ตลาดหุ้นไทยส่งสัญญาณาณปรับฐานรอบใหม่ตั้งแต่ต้นเดือนมีนาคม เนื่องจากนักลงทุนมีมุมมองทางการ เมืองที่เปลี่ยนไป จากเดิมที่เคยคาดหวังกระแสเงินลงทุนต่างชาติ (Fund Flow) จะไหลเข้ามาลงทุนในตลาดหุ้นไทย หลังจากมีการเลือก ตั้งในวันที่ 24 มีนาคม แต่พอเริ่มเข้าสู่โค้งสุดท้ายก่อนการเลือกตั้ง สถานการณ์ต่าง ๆ เริ่มมีความไม่แน่นอน อาทิ ประเด็นการจัดตั้ง รัฐบาล และโฉมหน้านายกรัฐมนตรีคนใหม่ เป็นต้น ปัจจัยเสี่ยงดังกล่าวทำให้นักลงทุนส่วนใหญ่เลือกปรับพอร์ตด้วยการทยอยขายหุ้นเพื่อลด ความเสี่ยงในช่วงนี้
นักวิเคราะห์ เอเซีย พลัส มองว่า ยังไม่สามารถคาดเดาได้ว่า SET INDEX จะพลิกกลับมาเป็นขาขึ้นอีกครั้งได้เมื่อใด แต่ เชื่อว่าแนวโน้มการปรับฐานจะใช้ระยะเวลาอีกสักพัก จนกว่าสถานการณ์ทางการเมืองจะเริ่มนิ่ง มีความชัดเจนการจัดตั้งรัฐบาล พร้อมกับ เดินหน้านโยบายกระตุ้นเศรษฐกิจอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ หากบรรยากาศการลงทุนในระยะสั้นยังไม่ดีขึ้น มีโอกาสที่ SET INDEX จะปรับ ฐานหลุดแนวรับแรก 1,620 จุด ลงไปทดสอบแนวรับสำคัญที่ 1,600 จุดในระยะถัดไป
นายเทิดศักดิ์ มองประเด็นหุ้นกลุ่ม บมจ.ปตท. (PTT) ที่มีแรงขาย "ชอร์ตเซล" (short sale) ป็นมูลค่าสูงสุดในเดือน มีนาคมนี้เกิดจากแรงกดดันจาก Fund Flow ไหลออกตลาดหุ้นไทยต่อเนื่อง แต่ในทางกลับกันปัจจัยสนับสนุนกลุ่มพลังงานอย่างราคาน้ำมันใน ตลาดโลกเริ่มทยอยปรับตัวขึ้น สวนทางกับราคาหุ้นกลุ่ม ปตท.ที่ไม่ได้ปรับตัวขึ้นตาม และราคาหุ้นต่ำกว่าพื้นฐานความเป็นจริง ทำให้ส่วนต่าง ผลตอบแทนเพิ่มขึ้น ดังนั้น เชื่อว่าในระยะสั้นมีโอกาสสูงที่กลุ่ม ปตท.จะเกิดภาะซื้อคืนหลังการขายช็อต (cover short) ผลักดันราคาหุ้น พลิกกลับมาเด้งขึ้นระยะสั้นได้
ฝ่ายวิจัยฯ ยังแนะนำหุ้นกลุ่ม ปตท. ได้แก่ PTT,PTTEP,PTTGC และหุ้นเด่นอิงการบริโภคในประเทศ ได้แก่ SCC,BJC,LH เป็นต้น
สำนักข่าว "อินโฟเควสท์" ได้รวบรวมข้อมูล 10 หุ้นที่มียอดธุรกรรมขายชอร์ต (Short Sales) มูลค่ามากที่สุดนับ ตั้งแต่วันที่ 1-15 มี.ค.62 (ที่มา:ตลท.)
อันดับ 1 บมจ.พีทีที โกลบอล เคมิคอล (PTTGC) มีปริมาณขายชอร์ต 34,602,700 หุ้น มูลค่ารวม 2,369 ล้านบาท
อันดับ 2 บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) มีปริมาณการขายชอร์ต 13,884,200 หุ้น มูลค่ารวม 1,683 ล้านบาท
อันดับ 3 บมจ.ปตท.(PTT) มีปริมาณการขายชอร์ต 30,116,900 หุ้น มูลค่ารวม 1,441 ล้านบาท
อันดับ 4 บมจ.อินโดรามา เวนเจอร์ส (IVL) มีปริมาณการขายชอร์ต 23,614,900 หุ้น มูลค่ารวม 1,154 ล้านบาท
อันดับ 5 บมจ.ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) มีปริมาณการขายชอร์ต 5,183,000 หุ้น มูลค่ารวม 1,002 ล้านบาท
อันดับ 6 บมจ.ซีพี ออลล์ (CPALL) มีปริมาณการขายชอร์ต 12,938,300 หุ้น มูลค่ารวม 999 ล้านบาท
อันดับ 7 บมจ.พลังงานบริสุทธิ์ (EA) มีปริมาณการขายชอร์ต 18,793,000 หุ้น มูลค่ารวม 888 ล้านบาท
อันดับ 8 บมจ.ปูนซิเมนต์ไทย (SCC) มีปริมาณการขายชอร์ต 1,792,400 หุ้น มูลค่ารวม 848 ล้านบาท
อันดับ 9 บมจ.ไทยออยล์ (TOP) มีปริมาณการขายชอร์ต 10,569,500 หุ้น มูลค่ารวม 750 ล้านบาท
อันดับ 10 บมจ.ท่าอากาศยานไทย (AOT) มีปริมาณการขายชอร์ต 11,018,300 หุ้น มูลค่ารวม 747 ล้าน บาท
มาที่มุมมองของนายปริญญ์ พานิชภักดิ์ กรรมการผู้จัดการ บล. ซีแอลเอสเอ(ประเทศไทย) เปิดเผยกับ "อินโฟเควสท์" ว่า พฤติกรรมของกลุ่มนักลงทุนต่างชาติส่วนใหญ่ช่วงนี้เป็นลักษณะการล็อกขายทำกำไร หลังจากได้ผลตอบแทนจากการลงทุนในช่วง 3-6 เดือนที่ ผ่านมา ขณะที่ตามสถิติในอดีตพบว่าหลังจากการเลือกตั้งแทบทุกครั้ง SET INDEX มีทิศทางปรับตัวลงก่อนพักตัวเป็นลักษณะไซด์เวย์ เพื่อรอ ความชัดเจนของนโยบายทางเศรษฐกิจรัฐบาลชุดใหม่ว่าจะออกมาเป็นรูปธรรมได้หรือไม่ และส่งบวกต่อเศรษฐกิจได้มากน้อยอย่างไร
ตัวแปรสำคัญที่จะปลดล็อกความเชื่อมั่นนักลงทุนต่างชาติ นอกเหนือจากการเมืองในประเทศที่ต้องเริ่มนิ่งแล้ว ปัจจัยภายนอกก็มี ส่วนสำคัญเช่นกัน โดยเฉพาะนโยบายของเฟด หากไม่เร่งปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยภายในปีนี้ ก็มีความเป็นไปได้ที่ Fund Flow จะไหลเข้า ตลาดหุ้นไทยอีกครั้ง ตามทิศทางค่าเงินดอลลาร์อ่อนค่า แต่สิ่งที่ต้องระวัง คือ สงครามการค้าจีนและสหรัฐฯ แม้จะมีท่าทีผ่อนคลาย แต่ยังไม่ มีข้อยุติ ส่งผลให้สถานการณ์ยืดเยื้อจนกระทบเศรษฐกิจโลก
ตอกย้ำกับบทวิจัยฯ บล.กสิกรไทย วิเคราะห์กรอบแนวรับในสัปดาห์นี้ (18-22 มี.ค.) จะอยู่บริเวณ 1,610 และ 1,600 จุด ปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามอย่างใกล้ชิด ประกอบด้วย การประชุมนโยบายการเงินของเฟด (19-20 มี.ค.), การประชุมคณะกรรมการ นโยบายการเงิน (กนง.) (20 มี.ค.), ความคืบหน้าการเจรจาการค้าระหว่างสหรัฐและจีน, สถานการณ์การแยกตัวของอังกฤษออกจาก สหภาพยุโรป (Brexit) รวมถึงปัจจัยทางการเมืองภายในประเทศ
นอกจากนี้ ยังมีข้อมูลเศรษฐกิจสหรัฐฯ ที่สำคัญ ได้แก่ ยอดขายบ้านมือสองเดือน ก.พ. รวมถึงผลสำรวจภาคการผลิตของ เฟดฟิลาเดลเฟียเดือน มี.ค. ส่วนปัจจัยต่างประเทศที่สำคัญอื่น ๆ ได้แก่ การประชุมนโยบายการเงินของธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) รวมถึงดัชนี PMI ภาคการผลิต (เบื้องต้น) เดือน มี.ค.ของญี่ปุ่น ยุโรป และสหรัฐฯ
https://youtu.be/g3S3K78cojs