นายชเนศวร์ แสงอารยะกุล กรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ไพลอน (PYLON) เปิดเผยว่า บริษัทตั้งเป้ารายได้ปี 62 จะเติบโตไม่ต่ำกว่า 15% ตามภาพรวมการลงทุนในประเทศที่จะมีโครงการใหม่ ๆ เกิดขึ้นจำนวนมาก อาทิ โครงการรถไฟฟ้าในเส้นทางต่างๆ รวมถึงการลงทุนของภาคเอกชน ซึ่งจะช่วยเพิ่มโอกาสในการเข้าไปรับงานของบริษัท นอกเหนือจากงานในมือ (Backlog) ที่รอส่งมอบอีกมาก และบริษัทยังเดินหน้าเข้าประมูลงานใหม่อย่างต่อเนื่อง
ปัจจุบันบริษัทมี Backlog ราว 1,120.40 ล้านบาท แบ่งเป็นงานภาคเอกชน 60% และภาครัฐ 40% คาดว่าจะรับรู้รายได้ในปีนี้ทั้งหมด และอยู่ระหว่างประมูลงานใหม่กว่า 3,000 ล้านบาท โดยคาดหวังจะได้รับงานไม่ต่ำกว่า 20% ของมูลค่างานทั้งหมด
นอกจากนี้ บริษัทยังอยู่ระหว่างการเจรจากับ บมจ.ชีวาทัย (CHEWA) เพื่อเข้ารับงานโครงการพัฒนาอสังหาริมทรัพย์ของ CHEWA อย่างต่อเนื่อง หลังจากช่วงที่ผ่านมาได้รับงานไปบ้างแล้ว 2-3 โครงการ และขณะนี้ทาง CHEWA ได้เร่งเปิดตัวโครงการใหม่เพิ่มขึ้น จึงเป็นโอกาสของบริษัทในการเข้าไปรับงาน
"ในช่วงที่ผ่านมาก็รับงานจากชีวาทัยบ้างแล้ว ทั้งนี้หากได้รับโอกาสก็จะทำให้บริษัทสามารถวางแผนการใช้เครื่องจักรในแต่ละปีได้ว่าจะมีเครื่องจักรเพื่อเตรียมไว้รองรับงานของชีวาทัย ได้มากน้อยแค่ไหน และจะเตรียมเครื่องจักรไว้สำหรับงานประมูลอื่นๆเท่าไหร่บ้าง ซึ่งก็จะเหมือนกับการเข้าไปรับงานประจำจากโครงการของ AP "นายชเนศวร์ กล่าว
สำหรับภาพรวมอุตสาหกรรมงานฐานรากปี 62 ถือเป็นช่วงขาขึ้น จากแรงขับเคลื่อนสำคัญของโครงการภาครัฐ อาทิ โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน มูลค่า 2.5 แสนล้านบาท และงานขยายสนามบินอู่ตะเภา ทางด่วนและรถไฟฟ้าสายต่างๆ ในเขตกรุงเทพฯ โดยจะทยอยเข้ามาในช่วงครึ่งหลังของปีนี้ ส่วนงานเอกชนก็เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง ทั้งโครงการมิกซ์ยูส (Mixed-Use), คอนโดมิเนียม ถือเป็นปัจจัยบวกต่อบริษัทที่ทำธุรกิจรับเหมาก่อสร้างงานฐานรากเป็นอย่างมาก
ขณะเดียวกันแนวโน้ม Transportation Action Plan 62 ยังคงเป็นยุคทองของโครงการขนส่งมวลชนภาครัฐไปอีกอย่างน้อย 5 ปี ซึ่งธุรกิจเสาเข็มและฐานรากเป็นกลุ่มแรกๆ ที่จะได้ประโยชน์จากงานก่อสร้างทั้งในส่วนของภาครัฐและเอกชน คาดว่าโครงการภาครัฐ เช่น ทางด่วนพระราม 3-ดาวคะนอง , รถไฟฟ้า MRT สายสีม่วงใต้ และโครงการรถไฟฟ้า MRT สายสีส้มตะวันตก คาดว่าจะสามารถออก TOR และเปิดประมูลได้ภายในปีนี้
ในแง่ประเด็นเกี่ยวกับการเลือกตั้งที่มีความชัดเจน บริษัทถือเป็นประเด็นบวกต่อภาพรวมของอุตสาหกรรมการก่อสร้าง เพราะจะช่วยทำให้เกิดการลงทุนใหม่ๆ ในประเทศ และสนับสนุนให้การรับงานประเภทฐานรากของบริษัทขยายตัวต่อเนื่อง
ทั้งนี้ บริษัทวางงบลงทุนราว 150 ล้านบาท เพื่อรองรับแผนการปรับปรุงประสิทธิภาพการทำงาน และรองรับการลงทุนเพิ่ม โดยปัจจุบันบริษัทมีกำลังการผลิตอยู่ที่ 25 ชุด และมีอัตราการใช้กำลังการผลิตอยู่ที่ 90% ซึ่งเพียงพอต่อการรับงานต่างๆ