PTTEP คาดเข้าซื้อ"เมอร์ฟี่ ออยล์"ในมาเลย์หนุน EBITDA ปีนี้เพิ่มราว 16% จากเป้าหมายเดิม, ปรับแผนลงทุน 5 ปีใหม่กลางปีนี้

ข่าวหุ้น-การเงิน Friday March 22, 2019 17:37 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) คาดว่ากำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ,ภาษี ,ค่าเสื่อม และค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) ปีนี้จะทำได้ไม่ต่ำกว่า 16% จากระดับ 3,860 ล้านเหรียญสหรัฐในปีที่แล้ว หลังจากการเข้าซื้อกิจการของเมอร์ฟี่ ออยล์ คอร์ปอเรชั่น ในมาเลเซีย ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในไตรมาส 2/62 จะช่วยหนุนปริมาณขายเพิ่มขึ้น 15-18% ในปี 62-63 และช่วยผลักดันให้ EBITDA ในปีนี้เพิ่มขึ้น 16% จากเป้าหมายของเดิมของบริษัท รวมถึงจะทำให้ปริมาณสำรองปิโตรเลียมของบริษัทเพิ่มเป็น 6 ปีจากเดิม 5 ปี

ทั้งนี้ เมอร์ฟี่ ออยล์ ซึ่งเป็นบริษัทผู้ผลิตปิโตรเลียมในสหรัฐ มีแผนจะขายสินทรัพย์ในภูมิภาคนี้ออกไปเพื่อกลับไปลงทุนในประเทศใกล้เคียงสหรัฐ โดยหลังการขายสินทรัพย์ในมาเลเซียแล้ว ยังมีแผนที่จะขายสินทรัพย์ในเวียดนามและบรูไน รวมถึงออสเตรเลีย ออกมาด้วย โดยบริษัทก็ให้ความสนใจที่จะเข้าซื้อสินทรัพย์ของเมอร์ฟี่ ออยล์ ในเวียดนามและบูรไน ซึ่งเป็นแหล่งปิโตรเลียมที่อยู่ระหว่างการสำรวจ โดยคาดว่าจะเริ่มต้นเจรจาในเดือน พ.ค.นี้

"การที่เราเข้าไปซื้อหุ้น และ take asset ของเมอร์ฟี่ ออยล์ ในมาเลเซีย จะช่วยเติมเต็มในภาคการพัฒนา 3 แปลงสำรวจที่มีอยู่แล้วในมาเลเซีย asset ของเมอร์ฟี่ ที่ได้เข้ามาเพิ่มเติม ในส่วนที่เมอร์ฟี่ มีการผลิตอยู่แล้ว ก็จะทำให้มีเงินหมุนเวียนเข้ามาทันที และทำให้มีความพร้อมหากการสำรวจ 3 แปลงที่ได้มาปีก่อนประสบความสำเร็จ"นายพงศธร กล่าว

เมื่อวานนี้ (21 มี.ค.) PTTEP ประกาศความสำเร็จการเข้าซื้อกิจการเมอร์ฟี่ ออยล์ ในมาเลเซีย มูลค่า 2,127 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยมีแหล่งปิโตรเลียมทั้งหมด 5 โครงการ

นายพงศธร กล่าวว่า การเข้าซื้อกิจการของเมอร์ฟี่ ออยล์ ในมาเลเซีย ที่คาดว่าจะแล้วเสร็จในช่วงไตรมาส 2/62 ก็จะทำให้สามารถรับรู้ปริมาณขายปิโตรเลียมเข้ามาในปีนี้เพียง 24,000 บาร์เรล/วัน จากแต่ละปีจะรับรู้ปริมาณขายรวม 48,000 บาร์เรล/วัน ซึ่งจะทำให้ปริมาณขายปิโตรเลียมของบริษัทในปีนี้เพิ่มขึ้นเป็นราว 344,000 บาร์เรล/วัน จากเป้าหมายปริมาณขายปิโตรเลียมปีนี้ที่ราว 320,000 แสนบาร์เรล/วัน

ขณะที่แหล่งผลิตของเมอร์ฟี่ ออยล์ คาดว่าจะเพิ่มระดับการผลิตเพิ่มขึ้นในปี 63 ซึ่งเมื่อคิดตามสัดส่วนร่วมทุนก็จะทำให้ปริมาณขายของเมอร์ฟี่ ออยล์ เพิ่มขึ้นเป็น 60,000 บาร์เรล/วันในปี 63 จาก 48,000 บาร์เรล/วันในปัจจุบัน

ทั้งนี้ การลงทุนครั้งนี้คาดว่าจะสร้างอัตราผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ให้กับบริษัทในช่วง 10-15% โดยสามารถสร้างกระแสเงินสดให้กับบริษัทราว 300-500 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี ขณะที่โครงการของเมอร์ฟี่ ออยล์ มีค่าใช้จ่ายในการลงทุนราวปีละ 300-400 ล้านเหรียญสหรัฐ

อย่างไรก็ตาม บริษัทเตรียมทบทวนแผนลงทุน 5 ปี (ปี 62-66) ใหม่ จากเดิมที่อยู่ระดับ 16,105 ล้านเหรียญสหรัฐ หลังการเข้าซื้อกิจการเมอร์ฟี่ ออยล์ ครั้งนี้ และการได้สัญญาแบ่งปันผลผลิต (PSC) ในโครงการบงกชและเอราวัณ รวมถึงการจะเริ่มลงทุนพัฒนาโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ โดยคาดว่าแผนลงทุนใหม่จะประกาศได้ในช่วงกลางปีนี้ ทั้งในส่วนของงบลงทุน ,ปริมาณขายปิโตรเลียม และแผนทางการเงิน

สำหรับแผนทางการเงินนั้น บริษัทได้ใช้เงินสดที่มีอยู่ราว 4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อซื้อกิจการของเมอร์ฟี่ ออยล์ ในมาเลซีย จำนวน 2,127 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้คงเหลือเงินสดราว 1,900 ล้านเหรียญสหรัฐ ขณะที่ในช่วงกลางปีนี้บริษัทมีแผนชำระคืนเงินกู้ราว 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐ และจ่ายภาษี ราว 300 ล้านเหรียญสหรัฐ และจ่ายปันผลราว 300 ล้านเหรียญสหรัฐ ทำให้ต้องพิจารณาปรับแผนทางการเงินให้มีความเหมาะสมต่อไป

อย่างไรก็ตามบริษัทมีหนี้สินต่อทุน (D/E) ต่ำราว 0.16 เท่า จากนโยบายที่จะมี D/E ไม่เกิน 0.5 เท่า ทำให้ยังมีศักยภาพในการกู้ราว 3,000-4,000 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อรองรับโอกาสการลงทุนใหม่ ๆ ที่จะเข้ามาหลังยังมองโอกาสการลงทุนใหม่ต่อเนื่อง โดยเฉพาะในละแวกรอบประเทศ ทั้งในไทย ,มาเลเซีย และเมียนมา

ส่วนแผนการลงทุนในด้านการขุดเจาะสำรวจปีนี้ วางเป้าหมายจะใช้เงินลงทุนราว 200 ล้านเหรียญสหรัฐ เพื่อขุดหลุมสำรวจ 8 หลุม ในเมียนมา และมาเลเซีย และการลงทุนพัฒนาแหล่งโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ คาดว่าจะใช้เงินราว 100 ล้านเหรียญสหรัฐในปีนี้

นายพงศธร กล่าวถึงความคืบหน้าการประกาศการตัดสินใจขั้นสุดท้าย (FID) ในโครงการโมซัมบิกนั้น คาดว่าจะมีขึ้นในช่วงต้นเดือนพ.ค. ส่วนความคืบหน้าธุรกิจโรงไฟฟ้า (Gas to Power) ในเมียนมา คาดว่าจะมีความชัดเจนในปลายไตรมาส 2 หรือไตรมาส 3 ปีนี้

ทั้งนี้ ภายหลังการเข้าซื้อกิจการเมอร์ฟี่ ออยล์ในมาเลเซีย ครั้งนี้จะทำให้พอร์ตการลงทุนในมาเลเซีย ของ PTTEP มีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 รองจากในไทย ในเชิงของปริมาณขายปิโตรเลียมและปริมาณสำรองปิโตรเลียม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ