สมาคมตลาดตราสารหนี้ไทย (ThaiBMA) สรุปภาวะตลาดตราสารหนี้ประจำสัปดาห์ (18 - 22 มีนาคม 2562) ปริมาณการซื้อขายตราสารหนี้ มีมูลค่ารวม 438,463.63 ล้านบาท หรือเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณวันละ 87,692.73 ล้านบาท ปรับตัวลดลงจากสัปดาห์ก่อนหน้าประมาณ 2% ทั้งนี้เมื่อแยกตามประเภท ของตราสารแล้ว จะพบว่ากว่า 63% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมด หรือประมาณ 274,923 ล้านบาท เป็นการซื้อขายในตราสารหนี้ที่ออกโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (state Agency Bond) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วเป็นตราสารที่มีอายุคงเหลือค่อนข้างน้อย (ไม่เกิน 6 เดือน) ขณะที่พันธบัตรรัฐบาลที่ออกโดยกระทรวงการคลัง (Government Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 131,869 ล้านบาท และหุ้นกู้ที่ออกโดยภาคเอกชน (Corporate Bond) มีมูลค่าการซื้อขายเท่ากับ 19,462 ล้านบาท หรือคิดเป็น 30% และ 4% ของมูลค่าการซื้อขายทั้งหมดที่เกิดขึ้น ตามลำดับ
สำหรับพันธบัตรรัฐบาล ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรกคือรุ่น LB23DA (อายุ 4.7 ปี) LB226A (อายุ 3.2 ปี) และ LB386A (อายุ 19.3 ปี) โดยมีมูลค่าการซื้อขาย ในแต่ละรุ่นเท่ากับ 22,816 ล้านบาท 20,117 ล้านบาท และ 18,972 ล้านบาท ตามลำดับ
ขณะที่หุ้นกู้ภาคเอกชน ที่มีปริมาณการซื้อขายสูงที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่ หุ้นกู้ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) รุ่น BAY196A (AAA(tha)) มูลค่าการซื้อขาย 1,091 ล้านบาท หุ้นกู้ของบริษัท แลนด์แอนด์เฮ้าส์ จำกัด (มหาชน) รุ่น LH19OB (A+) มูลค่าการซื้อขาย 1,074 ล้านบาท และหุ้นกู้ของธนาคารกรุงศรีอยุธยา จำกัด (มหาชน) รุ่น BAY211A (AAA(tha)) มูลค่าการซื้อขาย 1,025 ล้านบาท
อัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลปรับลดลงในตราสารระยะยาว ส่วนหนึ่งมาจากปัจจัยต่างประเทศ ภายหลังจากผลการประชุมธนาคารกลางสหรัฐฯ (FOMC) เมื่อวันที่ 19-20 มี.ค. มีมติเป็นเอกฉันท์ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.25-2.50% ส่งสัญญาณจะไม่ปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีนี้ ซึ่งต่างจากผลการประชุมเดือน ธ.ค. 2561 ที่ระบุว่า Fed จะปรับขึ้น อัตราดอกเบี้ยนโยบาย 2 ครั้งในปีนี้ ด้านประธานคณะมนตรียุโรปขยายระเวลาการแยกตัวของอังกฤษออกจากสหภาพยุโรป (Brexit) ออกไปอีก 2 สัปดาห์ (12 เม.ย.) จากเดิมสิ้นสุดใน สิ้นเดือน มี.ค.นี้ ขณะที่ผลการประชุมธนาคารกลางอังกฤษ (BoE) เมื่อวันที่ 21 มี.ค. มีมติเอกฉันท์ 9-0 เสียง ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ระดับ 0.75% สำหรับปัจจัยในประเทศ ผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 20 มี.ค. มีมติเป็นเอกฉันท์ 7 ต่อ 0 ให้คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ต่อปี พร้อมกับปรับลดประมาณการอัตราการ ขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ในปี 2562 จากเดิมที่ 4% ลงมาที่ 3.8% ด้านสำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ( สบน.) ประกาศจะดำเนินการทำธุรกรรม bond switching ครั้งที่ 2 ในรูปแบบ Multiple-to-Multiple (Source bonds และ Destination bonds จำนวนหลายรุ่น) โดยได้กำหนด Source bonds จำนวน 4 รุ่น ได้แก่ LB196A, LB206A, LB21DA, LB226A สำหรับรายละเอียดอื่นๆทาง สบน. จะประกาศให้ทราบอีกครั้งต่อไป
สัปดาห์ที่ผ่านมา (18–22 มี.ค. 2562) มีกระแสเงินลงทุนต่างชาติไหลออกจากตลาดตราสารหนี้ไทยรวมสุทธิ 2,602 ล้านบาท โดยเป็นการขายสุทธิในตราสารหนี้ระยะสั้น (อายุคง เหลือไม่เกิน 1 ปี) 1,992 ล้านบาท และซื้อสุทธิในตราสารหนี้ระยะยาว (อายุมากกว่า 1 ปี) 1,852 ล้านบาท และมีตราสารหนี้ที่ถือครองโดยนักลงทุนต่างชาติหมดอายุ 2,462 ล้านบาท
หมายเหตุ: อันดับเครดิต หมายถึง อันดับเครดิตของหุ้นกู้เฉพาะรุ่น หรือ อันดับเครดิตของผู้ออกหุ้นกู้
ความเคลื่อนไหวในตลาดตราสารหนี้ไทย สัปดาห์นี้ สัปดาห์ก่อนหน้า เปลี่ยนแปลง สะสมตั้งแต่ต้นปี (18 - 22 มี.ค. 62) (11 - 15 มี.ค. 62) (%) (1 ม.ค. - 22 มี.ค. 62) มูลค่าการซื้อขาย แบบปกติ - Outright Trading (ล้านบาท) 438,463.63 449,365.64 -2.43% 4,620,723.77 มูลค่าการซื้อขายเฉลี่ยต่อวัน (ล้านบาท) 87,692.73 89,873.13 -2.43% 81,065.33 ดัชนีพันธบัตรรัฐบาล (Gov Bond Gross Price index) 106.16 105.74 0.40% ดัชนีหุ้นกู้เอกชน (Corp Bond Gross Price index) 104.16 104.08 0.08% เส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Gov Bond Yield Curve) --% ช่วงอายุของตราสารหนี้ 1 เดือน 6 เดือน 1 ปี 3 ปี 5 ปี 10 ปี 15 ปี 30 ปี สัปดาห์นี้ (22 มี.ค. 62) 1.61 1.75 1.8 1.8 2.12 2.51 2.86 3.31 สัปดาห์ก่อนหน้า (15 มี.ค. 62) 1.62 1.76 1.8 1.81 2.19 2.59 2.94 3.33 เปลี่ยนแปลง (basis point) -1 -1 0 -1 -7 -8 -8 -2