BT ลบ 3.05% โบรกฯแนะ"ขาย"สะท้อนอาจต้องเพิ่มทุนรอบ 3, เสี่ยงตั้งสำรองฯ

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday January 29, 2008 15:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          หุ้น BT ราคาไหลลง 3.05% มาอยู่ที่ 1.27 บาท ลดลง 0.04 บาท มูลค่าซื้อขาย 32.81 ล้านบาท เมื่อเวลา 14.52 น. โดยเปิดตลาดที่ 1.35 บาท ราคาปรับตัวขึ้นสูงสุดที่ 1.35 บาท และราคาปรับตัวลงต่ำสุดที่ 1.27 บาท 
บทวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.โกลเบล็ก แนะ"ขาย"หุ้น BT ปรับลดราคาเหมาะสมปี 51 มาที่ 0.90 บาท สะท้อนการเพิ่มทุนที่จะเกิดขึ้นอีกราว 3 พันลบ. ที่หุ้นละ 1.20 บาท ซึ่งเป็นมูลค่าทางบัญชีหลังการเพิ่มทุนปีก่อน รวมถึงสะท้อนความเสี่ยงเรื่องการตั้งสำรองด้อยค่า CDO เพิ่มด้วย
BT ประกาศเพิ่มทุนครั้งที่ 2 ของปี 50 ไปเมื่อปลายปีที่ผ่านมา แต่จะได้เงินชำระค่าหุ้นเพิ่มทุนเรียบร้อยในเดือนม.ค.51 ซึ่งคาดว่าหากรวมเงินเพิ่มทุนแล้ว มูลค่าบัญชีต่อหุ้นน่าจะอยู่ที่ 1.17 บาทต่อหุ้น เพิ่มขึ้นจาก 0.78 บาทต่อหุ้นในปลายปี50 อย่างไรก็ตามแม้หลังการเพิ่มทุนเราคาดว่าBTจะยังมีระดับเงินกองทุนอยู่ในระดับต่ำ โดยคาด BIS Ratio หลังได้รับเงินเพิ่มทุนน่าจะอยู่ที่ราว 10% เพิ่มขึ้นจากระดับที่ปริ่ม 8.5%ในปี 50 ซึ่งระดับเงินกองทุนที่ 10%เป็นระดับที่ยากต่อการขยายธุรกิจในอนาคต จึงคาดว่า BT อาจต้องเพิ่มทุนอีกรอบซึ่งน่าจะต้องระดมทุนอีกอย่างน้อย 2-3 พันลบ. เพื่อเพิ่มระดับเงินกองทุนให้สูงราว 12-14%จึงจะเพียงพอและเหมาะสมสำหรับธนาคารพาณิชย์ในการขยายธุรกิจ
สำหรับประเด็นการลงทุนเกี่ยวกับควบรวม คาดว่าหากเป็นเช่นนั้นน่าจะมีการเก็งกำไรเกิดขึ้นจากการคาดการณ์ราคาซื้อซึ่งไม่คาดว่าจะสูงไปกว่ามูลค่าที่เหมาะสมที่ราว 0.90-1 บาทต่อหุ้น หรืออาจเก็งกำไรจากอัตราส่วน Swap Share ซึ่งขึ้นกับใครที่จะมาควบรวม ดังนั้นการเก็งกำไรในระดับราคาปัจจุบันจึงมีความเสี่ยง อีกประการคือไม่คาดว่า BT จะเป็นแกนนำในการควบรวมกิจการไม่ว่าจะเป็นกรณีใด
ตกเป็นเป้าหมายของการซื้อกิจการ เนื่องจากความเป็นไปได้ที่ต้องระดมเงินทุนเพิ่มอีกจึงจะทำให้ BT อยู่รอดได้ โดยคาดว่ามีความเป็นไปได้ 3 แนวทางหลัก คือ จากพันธมิตรใหม่ โดยซื้อหุ้นเดิมจาก FIDF และหุ้นเพิ่มทุนรอบใหม่ ซึ่งน่าจะทำให้พันธมิตรใหม่ถือหุ้นของBTได้เกิน 50% (จากFIDF 42.13% เป็นโครงสร้างหลังการเพิ่มทุน และเงินเพิ่มทุนใหม่อีกจำนวนหนึ่ง) แนวทางนี้เราคาดว่าเป็นไปได้แต่ต้องเป็นสถาบันในประเทศโดยใช้เงินลงทุนประมาณ 6พันลบ.-1 หมื่นลบ.เพื่อคุมเสียงส่วนใหญ่ และมีอำนาจในการบริหารมากกว่ากลุ่มTPG
จากผู้ถือหุ้นเดิม ได้แก่ กลุ่มTPG, FIDF และอื่นๆ ใส่เงินเพิ่มทุนเพิ่ม สำหรับแนวทางนี้มีความเป็นไปได้ แต่หากเป็นเช่นนั้น ก็ยังไม่อาจทำให้BTฟื้นตัวขึ้นได้ในระยะสั้น-กลาง
และการควบรวมกิจการพร้อมการเพิ่มทุน ที่มีความเป็นไปได้มากที่สุด โดยน่าจะเกิดจากการซื้อกิจการของ BT โดยธนาคารอีกแห่งหนึ่งแล้วนำไปควบรวมกัน พร้อมใส่เงินเพิ่มทุนเพิ่ม ทั้งนี้ คาดว่ามีความเป็นไปได้สูงที่จะได้เห็นการควบรวมกันระหว่าง BT และ SCIB เนื่องจาก 1.มีกลุ่มผู้ถือหุ้นใหญ่กลุ่มเดียวกัน คือกองทุนฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน หรือ FIDF (ข้อมูลล่าสุด FIDF จะถือ BT ราว 42%หลังการเพิ่มทุนและถือ SCIB 47.58%) 2.เพิ่มศักยภาพในการแข่งขันจากฐานทุนและสินทรัพย์ที่เพิ่มขึ้น และ3.ลดต้นทุนในการดำเนินงานระยะยาว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ