นายพงศธร ทวีสิน ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.สำรวจและผลิตปิโตรเลียม (PTTEP) หรือ ปตท.สผ. กล่าวว่า การที่องค์การทางทะเลระหว่างประเทศ (IMO) กำหนดให้เรือเดินสมุทรต้องใช้น้ำมันเตาที่มีค่ากำมะถันต่ำไม่เกินกว่า 0.5% ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.63 นั้น คาดว่าจะส่งผลให้ราคาน้ำมันเตาลดลงราว 20 เหรียญสหรัฐ/บาร์เรล ขณะที่สูตรราคาขายก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทยของปตท.สผ.อิงกับราคาน้ำมันเตากำมะถันสูง ก็จะกระทบต่อราคาขายก๊าซฯในอ่าวไทยและรายได้ของบริษัทส่วนหนึ่ง
อย่างไรก็ตาม ปตท.สผ.เริ่มเจรจากับผู้ซื้อเพื่อขอปรับสูตรราคาก๊าซฯ แต่คาดว่าจะดำเนินการได้ค่อนข้างลำบาก เนื่องจากผู้ซื้อก๊าซฯ จากปตท.สผ. ยังมีผู้ซื้อรายย่อยอีกนับพันรายที่จะต้องแก้ไขสัญญา ดังนั้น ปตท.สผ.จึงได้เริ่มทำประกันความเสี่ยงความผันผวนของราคาน้ำมันในส่วนนี้ โดยเชื่อว่าผลกระทบดังกล่าวจะเกิดขึ้นในช่วง 2-3 ปีนี้เท่านั้น เพราะการที่ได้สัญญาสำรวจและผลิตปิโตรเลียมในรูปแบบแบ่งปันผลผลิต (PSC) สำหรับแหล่งบงกชและเอราวัณที่อยู่ในอ่าวไทยนับตั้งแต่ปี 65 เป็นต้นไปนั้น จะมีสูตรราคาก๊าซฯ อิงกับราคาน้ำมันดิบ ดูไบ
"ภายในปี 65 ไม่น่าจะมีปัญหานี้แล้ว กรณีน้ำมันเตากำมะถันสูงคงจะมีประเด็นในช่วง 2-3 ปีนี้ เราก็จะทำประกันความเสี่ยงและมีแผนงานที่เราจะพยายามจัดการกับประเด็นนี้"นายพงศธร กล่าวในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2562
นายพงศธร กล่าวยืนยันว่า ปตท.สผ.ไม่มีการพิจารณาเรื่องการเพิ่มทุน แม้ว่าจะเห็นการลงทุนค่อนข้างมากในช่วงนี้ เนื่องจากมีเงินสดจำนวนมากราว 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ ประกอบกับมีอัตราหนี้สินต่อทุน (D/E) 0.16 เท่า ซึ่งยังมีศักยภาพที่จะกู้ยืมได้อีกราว 4 พันล้านเหรียญสหรัฐ
ส่วนความคืบหน้าการพัฒนาโครงการโมซัมบิก โรวูมา ออฟชอร์ แอเรีย วัน ที่ถือสัดส่วน 8.5% คาดว่าจะมีการประกาศตัดสินใจลงทุนขั้นสุดท้าย (FID) อย่างไม่เป็นทางการในการประชุมเกี่ยวกับธุรกิจก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) ที่เซี่ยงไฮ้ ในวันที่ 4 เม.ย. และคาดว่าจะประกาศ FID อย่างเป็นทางการที่โมซัมบิกในวันที่ 24 เม.ย.นี้ หลังจากขณะนี้ได้รับสัญญาซื้อขาย LNG ที่เหมาะสมในการพัฒนาโครงการได้แล้ว โดยการประกาศ FID ดังกล่าวก็จะช่วยหนุนปริมาณสำรองปิโตรเลียมของ ปตท.สผ.ให้เพิ่มมากขึ้นด้วย
นอกจากนี้ ในส่วนการได้รับสัญญา PSC สำหรับแหล่งบงกชและเอราวัณ ตั้งแต่ปี 65-66 นั้น แม้ปตท.สผ.จะเพิ่มสิทธิประโยชน์ตอบแทนให้กับรัฐเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันที่อยู่ในระบบสัมปทาน และการประมูลด้วยราคาก๊าซฯ ที่ต่ำ อาจจะทำให้มาร์จิ้นที่ได้รับลดลง แต่ยืนยันว่าจะไม่กระทบต่อกำไรสุทธิ เพราะการที่ ปตท.สผ.ได้สัญญา PSC ทั้งสองแหล่งจะทำให้เกิดการ Synergy ระหว่างกัน และด้วยปริมาณการขายปิโตรเลียมที่เพิ่มขึ้นราว 70% จากทั้งสองแหล่งอย่างมีนัยสำคัญก็จะเข้ามาทดแทนได้
สำหรับแผนการลงทุนในแหล่งบงกชและเอราวัณในระยะต่อไปนั้น จะเน้นการรักษาระดับการผลิตให้มีความต่อเนื่องตามเป้าหมายที่ระดับ 1,500 ล้านลูกบาศก์ฟุต/วัน โดยในช่วง 3 ปีก่อนที่สัญญา PSC จะเริ่มนั้นคาดว่าจะใช้เงินลงทุนราว 400-500 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่หลังจาก PSC มีผลแล้ว การลงทุนจากทั้งสองแหล่งจะใช้กระแสเงินสดของแหล่งผลิตเพื่อลงทุนในตัวเอง โดยจะเป็นการลงทุนในแหล่งบงกชราว 450-550 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี และเอราวัณ ประมาณ 600-650 ล้านเหรียญสหรัฐ/ปี
นายพงศธร ย้ำว่า ภาพของ ปตท.สผ.ในระยะ 3-5 ปีข้างหน้าจะมีการพัฒนาโครงการต่าง ๆ ให้มีการเดินหน้าและจะช่วยสร้างกำลังการผลิตให้เพิ่มขึ้น รวมถึงจะมีการทอยบันทึกปริมาณสำรองปิโตรเลียมเพิ่มขึ้นจากการได้รับสัญญาแหล่งปิโตรเลียมใหม่ ๆ เข้ามา เช่น โครงการโมซัมบิกที่จะประกาศ FID เร็ว ๆ นี้ และโครงการแอลจีเรีย ฮาสสิ เบอร์ ราเคซ ที่เพิ่งประกาศ FID เมื่อเร็ว ๆ นี้
ทั้งนี้ แผนกลยุทธ์ของ ปตท.สผ.หลังจากนี้ จะโฟกัสการลงทุนในประเทศรอบบ้าน และตะวันออกกลาง โดยเฉพาะในโอมาน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (UAE) ที่มีปริมาณสำรองปิโตรเลียมเป็นอันดับ 6 ของโลก ขณะที่ในช่วงเวลานี้หลายประเทศก็เริ่มมีแหล่งปิโตรเลียมที่ทยอยหมดสัญญาก็จะเป็นโอกาสให้ ปตท.สผ.เข้าไปแข่งขันเพื่อให้ได้แหล่งปิโตรเลียมเหล่านั้นเข้ามาเพิ่มเติม ซึ่งจะช่วยสร้างฐานปริมาณสำรองและอัตราการเติบโตการผลิตได้ดีขึ้น ซึ่งจะสร้างความยั่งยืนและสม่ำเสมอให้กับปตท.สผ.
ส่วนผลกระทบจากการตั้งสำรองตามร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ ที่มีการปรับอัตราค่าชดเชยกรณีการเลิกจ้างและเกษียณอายุจากเดิม 300 วันเป็น 400 วันนั้น คาดว่าจะมีการตั้งสำรองอยู่ที่ระดับ 572 ล้านบาท โดยคาดว่าจะดำเนินการตั้งสำรองทันทีเมื่อกฎหมายมีผลบังคับใช้