นางศุภจี สุธรรมพันธุ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บมจ. ดุสิตธานี (DTC) กล่าวว่า นับตั้งแต่ปี 62 กลุ่ม DTC จะขับเคลื่อนยุทธศาสตร์ในช่วงที่ 2 ซึ่งจะเป็นช่วงการรับรู้ศักยภาพของการเติบโตจากโครงการใหม่ ไม่ว่าจะเป็นการเปิดตัวโรงแรมใหม่อีกหลายแห่งในประเทศต่างๆ ทั่วโลกภายใต้รูปแบบการรับจ้างบริหาร แฟรนไชส์ หรือเช่ามาบริหารเพื่อสร้างรายได้โดยไม่ต้องลงทุนเอง รวมถึงการเปิดสถาบันการศึกษาการโรงแรมแห่งใหม่ในฟิลิปปินส์ และการเสริมธุรกิจอาหารให้มีความชัดเจนและแข็งแกร่งขึ้น ซึ่งจะส่งผลให้รายได้ของกลุ่มดุสิตธานีเติบโตขึ้นและทดแทนรายได้ที่หายไปจากการหยุดให้บริการของโรงแรมดุสิตธานี กรุงเทพฯ
อย่างไรก็ตาม สิ่งเหล่านี้จะเกิดขึ้นไม่ได้เลย หากการดำเนินยุทธศาสตร์ในระยะที่ 1 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมาไม่ได้เป็นไปตามที่วางไว้ โดยเฉพาะในช่วงปี 61 ซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายของแผนระยะแรก DTC ได้ดำเนินการอย่างเข้มข้น จนทำให้บริษัทมีพัฒนาการและประสบความสำเร็จในหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นการขยายแบรนด์ของโรงแรมและรีสอร์ทในเครือดุสิตอย่างต่อเนื่องด้วยการเปิดตัวโรงแรมใหม่ 6 แห่งในภูมิภาคเอเชีย แปซิฟิก ซึ่งสองแห่งเป็นตลาดใหม่ที่ไม่เคยมีโรงแรมมาก่อน เช่น ภูฐานและเวียดนาม
นอกจากนี้ DTC ยังรุกเข้าไปยังเมืองท่องเที่ยวชั้นนำในตลาดตะวันออกกลางและจีน ในรูปแบบของการรับจ้างบริหารโรงแรมและแฟรนไชส์ ทำให้ปัจจุบัน กลุ่ม DTC มีโรงแรมและรีสอร์ทในเครือที่กำลังจะเปิดรวมทั้งหมด 64 แห่ง และในขณะเดียวกัน ยังอยู่ระหว่างศึกษาโอกาสทางธุรกิจและความเป็นไปได้ในการเช่าซื้อสินทรัพย์ (lease agreement) เพื่อมาบริหารเองในตลาดที่มีศักยภาพสูงอย่างออสเตรเลีย ยุโรปและญี่ปุ่นอีกด้วย
"เรายังเดินหน้าศึกษาพฤติกรรมของผู้บริโภคที่เปลี่ยนแปลงไปตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี และคอยปรับตัวให้กับการเปลี่ยนแปลง ดังนั้น ในปีที่ผ่านมา กลุ่มดุสิตธานีได้ขยายไปสู่โรงแรมแบรนด์ "อาศัย" เพื่อรองรับลูกค้าที่เป็นนักเดินทางกลุ่มมิลเลนเนียล ที่ชื่นชอบประสบการณ์การท่องเที่ยวที่เข้าถึงเหมือนกับเป็นคนในท้องถิ่นจริงๆ ตามย่านในเมืองใหญ่ๆ ทั่วโลก ซึ่งดุสิตฯ ได้เตรียมความพร้อม
สำหรับการเติบโตในเซ็กเมนต์นี้ ด้วยโรงแรมอาศัยที่จะเปิดตัวให้บริการ 5 แห่งใน 3 ประเทศได้แก่ ไทย เมียนมา และฟิลิปปินส์ รวมถึงการเข้าซื้อกิจการของ อีลิท เฮเวนส์ แบรนด์ผู้ให้บริการเช่าวิลล่าหรูระดับไฮเอนด์ชั้นนำของเอเชีย ก็เป็นอีกก้าวสำคัญของดุสิตฯ ในการขยายตัวเข้าไปในธุรกิจบริการบ้านพักตากอากาศระดับบน เพื่อเพิ่มความสามารถของเราในการมอบบริการให้กับลูกค้าที่มีความต้องการที่แตกต่างออกไป ทำให้เครือ DTC มีวิลล่าตากอากาศกว่า 200 หลัง พร้อมด้วยพนักงานที่ทำหน้าที่ให้บริการตามวิลล่าเหล่านั้นในหลายประเทศ เช่น อินโดนีเซีย ไทย ศรีลังกา ญี่ปุ่น และมัลดีฟส์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มดุสิตธานีกล่าว
พร้อมกันนี้ DTC ยังได้ขยายการลงทุนไปยังธุรกิจอาหาร ซึ่งเป็นธุรกิจที่มีความเกี่ยวเนื่องกับธุรกิจหลักด้วยการผนึกกำลังกับพันธมิตรที่แข็งแกร่ง ด้วยการตั้งบริษัทดุสิต ฟู้ดส์ เพื่อลงทุนในบริษัทเอ็นอาร์ อินสแตนท์ โปรดิวซ์ หรือเอ็นอาร์ไอพี ที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกซอสและเครื่องปรุงอาหาร รวมถึงเครื่องดื่มชนิดต่างๆ ซึ่งเป็นอุตสาหกรรมต้นน้ำ
และล่าสุดยังได้เข้าลงทุนในบริษัท เอ็บเพอคิวร์ เคเทอริ่ง จำกัด (ECC) ผู้นำธุรกิจอาหารและเครื่องดื่มโรงเรียนนานาชาติในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพื่อสร้างการเติบโตในธุรกิจอาหารและธุรกิจเคเทอริ่ง รวมถึงการจัดตั้งบริษัท ดุสิต กูร์เมต์ ในช่วงก่อนหน้านี้ เพื่อต่อยอดการทำการตลาดผลิตภัณฑ์อาหาร ที่มองเห็นโอกาสและศักยภาพในการนำประสบการณ์ของดุสิตฯ มาต่อยอดเพื่อสร้างรายได้ และทำให้แบรนด์ดุสิตเป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น
ในขณะที่ดุสิตธานีแสวงหาโอกาสลงทุน เพื่อสร้างความเติบโต สร้างความหลากหลายและกระจายความเสี่ยงในธุรกิจต่างๆ บริษัทก็เดินหน้าปรับโครงสร้างทรัพย์สินภายใต้การบริหารเพื่อเพิ่มศักยภาพให้กับทรัพย์สิน โดยล่าสุด ทรัสต์เพื่อการลงทุนในอสังหาริมทรัพย์และสิทธิการเช่าดุสิตธานี (DREIT) ได้มีมติขยายการลงทุนในกรรมสิทธิ์และสิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ และทรัพย์สินที่เกี่ยวข้องในโครงการโรงแรมดุสิตธานี มัลดีฟส์ จากบริษัทย่อยของดุสิตธานี ซึ่งการขายโรงแรมดุสิตธานี มัลดีฟส์ ให้กับ DREIT ครั้งนี้ เป็นไปตามกลยุทธ์การลงทุนและการจัดการโครงสร้างทางการเงินและโครงสร้างทรัพย์สินให้เกิดประโยชน์สูงสุด โดยที่ DTC ยังคงเป็นผู้บริหารโรงแรมดุสิตธานี มัลดีฟส์ ทำให้ยังคงรับรู้รายได้จากการบริหารไว้เช่นเดิม
ทั้งนี้ จากการวางรากฐานที่เข้มแข็งในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา ทำให้มั่นใจว่า ยุทธศาสตร์ในระยะที่ 2 นับตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป จะเป็นการรับรู้ศักยภาพการเติบโตจากการกระจายการลงทุน รวมถึงเพิ่มโอกาสในการสร้างรายได้และแสวงผลตอบแทนจากการลงทุนให้กับดุสิตธานีได้อย่างแท้จริง