นายสมบัติ นราวุฒิชัย เลขาธิการ และกรรมการผู้อำนวยการ สมาคมนักวิเคราะห์การลงทุน (IAA) เปิดเผยว่า ผลสำรวจความเห็นนักวิเคราะห์และผู้จัดการกองทุนต่อมุมมองในด้านการลงทุนและคาดการณ์ทิศทางดัชนีตลาดหุ้นไทย (SET Index) ในช่วงไตรมาส 2/62 อยู่ที่เฉลี่ย 1,689 จุด โดยปัจจัยที่มีผลต่อดัชนีในระยะสั้น นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่มองว่า ประเด็นหลักที่มีความสำคัญอันดับแรกเป็นเรื่องการเมืองในประเทศ รวมไปถึงการจัดตั้งรัฐบาล ส่วนปัจจัยที่มีผลรองมา คือ สงครามการค้าระหว่างประเทศจีน และประเทศสหรัฐ
ขณะเดียวกัน นักวิเคราะห์ฯ มองว่าปัจจัยทางการเมืองอาจจะเป็นผลกระทบทางด้านลบและมีความผันผวนมากขึ้น โดยมองจุดต่ำสุดที่อาจจะเกิดขึ้น คือ 1,583 จุด หากพรรคการเมืองอันดับที่ 4 และที่ 5 ยังไม่สามารถเลือกได้ว่าจะอยู่ฝั่งไหน และ หากพรรคการเมือง หรือหัวหน้าพรรคใด ถูกคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ให้ใบเหลืองหรือใบแดง รวมถึงความไม่แน่นอนเกี่ยวกับสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐยังหาข้อสรุปไม่ได้
ในส่วนของผลสำรวจความเห็นต่อเป้าหมายดัชนี ณ สิ้นปี 62 เฉลี่ยอยู่ที่ 1,740 จุด โดยมีปัจจัยบวกที่ต้องติดตามต่อเนื่องคือการเมืองในประเทศ และทิศทางอัตราดอกเบี้ยของสหรัฐ ซึ่งเป็นปัจจัยที่ผู้ตอบแบบสำรวจให้คะแนนชัดเจนว่าเป็นผลบวก และคาดว่ากระแสเงินทุนต่างชาติจะไหลกลับเข้าสู่ประเทศไทย
ขณะที่ปัจจัยลบอื่น ๆ ที่จะส่งผลต่อตลาดหุ้นไทยในช่วงสั้น ได้แก่ เศรษฐกิจต่างประเทศหลักทั้งสหรัฐ ยุโรป เอเชีย ขณะที่ปัจจัยรองลงมาคือผลประกอบการของบริษัทจดทะเบียนที่จะออกมาในช่วงไตรมาส 1/62
สำหรับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายของคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) นักวิเคราะห์ฯ ส่วนใหญ่คาดการณ์ว่าในปี 62 จะไม่มีการปรับขึ้นอีก แต่อย่างไรก็ตาม นักวิเคราะห์ฯ บางส่วนคาดว่าอาจจะมีการปรับขึ้นอีก 0.25% ขณะเดียวกันนักวิเคราะห์ฯ ส่วนน้อยคาดว่ามีโอกาสจะปรับลดอัตราดอกเบี้ย
นายสมบัติ กล่าวต่อว่า นักวิเคราะห์ฯ ส่วนใหญ่คาดการณ์กำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS) ในปีนี้จะเฉลี่ยอยู่ที่ 110.02 บาท ซึ่งส่วนใหญ่คาดจะเฉลี่ยอยู่ที่ระหว่าง 110-114.99 บาท ขณะที่อัตราการเติบโตของกำไรสุทธิต่อหุ้น (EPS Growth) เฉลี่ยอยู่ที่ 9.67%
นักวิเคราะห์ฯ ส่วนใหญ่แนะนำ 5 หุ้นเด่น ได้แก่ AOT มองว่าจะได้รับปัจจัยสนับสนุนจากการท่องเที่ยวซึ่งเป็นนโยบายหลักของทุกพรรคการเมือง, BBL ได้รับแรงหนุนจากการลงทุนในประเทศที่ฟื้นตัว ซึ่งจะหนุนโดยสินเชื่อภาคธุรกิจ, CPALL มีปัจจัยบวกจากการบริโภคที่ฟื้นตัวจากมาตรการผลักดันของภาครัฐ ซึ่งเป็นผลดีจากความเชื่อมั่นผู้บริโภค และนโยบายรัฐบาลชุดใหม่ที่เกี่ยวกับการกระตุ้นการบริโภค นอกจากนี้ยังเป็นบริษัทที่มีกระแสเงินสดที่แข็งแกร่ง
SCC คาดว่ากำไรจะเริ่มกลับมาเติบโตอีกครั้งในปี 62 หลังจากที่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมาปรับตัวลดลง จากธุรกิจปูนซีเมนต์ฟื้นตัว และราคาน้ำมันมีเสถียรภาพ และ STEC โดยอิง Theme การลงทุนโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งหุ้นรับเหมาก่อสร้างได้รับประโยชน์จากการลงทุนโครงการขนาดใหญ่ ขณะที่บริษัทมีงานในมือแล้วถึง 1.2 แสนล้านบาท และมีโอกาสได้งานใหม่เพิ่มเติม