นางวนิดา บุญภิรักษ์ รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ การเงินและบัญชีองค์กร บมจ.โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ (GPSC) คาดว่ากำไรในไตรมาส 1/62 จะดีกว่าระดับ 486 ล้านบาทในไตรมาส 4/61 ที่มีหยุดซ่อมบำรุงโรงไฟฟ้าศรีราชา ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าเอกชนรายใหญ่ (IPP) ขนาด 700 เมกะวัตต์ (MW)
สำหรับในส่วนต้นทุนก๊าซธรรมชาติไม่ได้สูงขึ้นมาก ขณะที่มีการปรับขึ้นค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ (เอฟที) ในต้นปีนี้แต่ก็ไม่มากนัก และมีภาระหนี้สูงขึ้นหลังจากที่ได้กู้เงินระยะสั้นเพื่อซื้อหุ้น 69.11% ในบมจ.โกลว์ พลังงาน (GLOW) จากกลุ่ม Engie
อย่างไรก็ตาม เมื่อเทียบกับผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/61 ปริมาณขายไฟฟ้าไม่ต่างกันอย่างมีสาระสำคัญ แต่ในเชิงต้นทุนจะสูงขึ้นจากราคาก๊าซฯที่สูงขึ้น
ด้านนายชวลิต ทิพพาวนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ GLOW กล่าวในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 62 ในวันนี้ โดยยืนยันว่าการเข้าซื้อกิจการ GLOW นับว่ามีความเหมาะสมนอกจากจะทำให้พอร์ตการผลิตไฟฟ้าของบริษัทเพิ่มขึ้นเป็น 4,726 เมกะวัตต์ จากระดับ 1,955 เมกะวัตต์แล้ว ยังจะทำให้เกิดการ Synergy ร่วมกันในอนาคต รวมถึงการนำความเชี่ยวชาญของแต่ละฝ่ายมาร่วมกันเพื่อก่อให้เกิดประสิทธิภาพและความมั่นคงด้านพลังงานในอนาคต
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันที่ปรึกษาทางการเงินอิสระยังอยู่ระหว่างการพิจารณามูลค่ายุติธรรมของการเข้าซื้อกิจการ GLOW โดยคาดว่าจะรู้ผลหลังการทำคำเสนอซื้อหุ้น GLOW ที่จะเสร็จสิ้นในช่วงกลางเดือน พ.ค.เบื้องต้นมีความเป็นไปได้ที่มูลค่ายุติธรรมจะต่ำกว่าราคาที่บริษัทเข้าซื้อหุ้น GLOW ที่เป็นการซื้อจากกลุ่ม Engie ที่ระดับ 91.9906 บาท/หุ้น และทำเทนเดอร์ฯที่ราคา 90.8136 บาท/หุ้น
ส่วนความคืบหน้าแผนการตั้งโรงงานแบตเตอรี่ ระบบกักเก็บพลังงาน (Energy Storage) ปัจจุบันอยู่ระหว่างการรอนำเซลล์แบตเตอรี่จากเทคโนโลยี 24M ที่ผ่านการทดลองจากห้องแล็ปมาทดลองใช้ในเชิงพาณิชย์ ซึ่งต้องใช้ระยะเวลาพอสมควร แต่คาดว่าปีนี้จะเป็นปีที่มุ่งหวังว่าจะพบความก้าวหน้าอย่างมีนัยสำคัญจากการทดสอบเชิงพาณิชย์ว่ามีความคุ้มค่าหรือไม่ หลังจากนั้นจึงจะพิจารณาว่าจะเดินหน้าหรือไม่เดินหน้าโรงงานต้นแบบด้วยเทคโนโลยี 24M ต่อไป
สำหรับแผนของบริษัทในระยะ 3-5 ปีข้างหน้าจะดูแลบริหารจัดการกิจการของตัวเองและบริษัทในเครือทั้งหมดเพื่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะเพิ่งมีการลงทุนขนาดใหญ่ด้วยการเข้าซื้อกิจการ GLOW ขณะเดียวกันก็จะพิจารณาการเติบโตควบคู่กันไปด้วย โดยจะยังคงเป็นการเติบโตตามกลุ่มบมจ.ปตท.(PTT) และการเติบโตตามการลงทุนในโครงการพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EEC) และโอกาสการเติบโตในต่างประเทศ ซึ่งมุ่งให้ความสนใจในเมียนมาและลาว
ขณะที่ล่าสุดที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 62 ในวันนี้อนุมัติการเข้าลงทุนโครงการ Energy Recovery Unit โดยการเข้าซื้อหน่วยผลิตไฟฟ้า (Energy Recovery Unit:ERU) ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของโครงการพลังงานสะอาด (Clean Fuel Project : CFP) ของบมจ.ไทยออยล์ (TOP) เพื่อรับโอนกรรมสิทธิ์ในโครงการ ERU จากไทยออยล์ โดยมีมูลค่าเทียบเท่าทั้งสิ้นไม่เกิน 757 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หรือประมาณ 2.41 หมื่นล้านบาท เมื่อโครงการแล้วเสร็จในไตรมาส 3/66
โครงการ ERU ใช้เชื้อเพลิงหลักคือ กากน้ำมัน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์พลอยได้จากกระบวนการกลั่นของโครงการ CFP โดยโครงการ ERU มีกำลังการผลิตไฟฟ้าและไอน้ำ ติดตั้งประมาณ 250 เมกะวัตต์ และ 175 ตันต่อชั่วโมง
นายชวลิต กล่าวว่า การลงทุนครั้งนี้คาดว่าจะได้รับอัตราผลตอบแทนการลงทุน (IRR) ที่ระดับ 8% โดยโครงการจะมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) ระหว่างบริษัทในฐานะผู้ขาย และ TOP ในฐานะผู้ซื้อ มีระยะเวลา 25 ปี ซึ่งจะมีราคาค่าไฟฟ้าเชื่อมโยงกับราคาตลาด
ขณะที่การชำระเงินสำหรับการลงทุนโครงการ ERU นั้นจะแบ่งเป็นการชำระ 20% หรือ 137.64 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือราว 4.38 พันล้านบาทใน 4 งวด ตั้งแต่ปี 62,63,64 และ 65 หลังจากนั้นจะชำระ 80% ในวันที่มีการโอนกรรมสิทธิ์ที่จะเกิดขึ้นในไตรมาส 3/66
ส่วนผลกระทบจากการตั้งสำรองตามร่างกฎหมายคุ้มครองแรงงานฉบับใหม่ ที่มีการปรับอัตราค่าชดเชยกรณีการเลิกจ้างและเกษียณอายุจากเดิม 300 วันเป็น 400 วันนั้น คาดว่าจะมีการตั้งสำรอง 40.3 ล้านบาท
"เราจะบริหารทรัพย์สินที่เราเข้าไปลงทุนเพื่อให้ผลตอบแทนที่ดีที่สุด และ growth engine คู่ขนานกันไปเราจะยึดแนวปฎิบัติที่จะดูคุณภาพโครงการและความเสี่ยงกับผลตอบแทน และจะพิจารณาการลงทุนของเราไม่ให้มีความเสี่ยงจนกระทบผู้ถือหุ้นทุกภาคส่วน รวมถึงการเพิ่มทุนด้วยจะกำหนดประมาณการเพิ่มทุนให้เหมาะสมกับแผนในเรื่องการใช้กระแสเงินสด"นายชวลิต กล่าวต่อที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2562
อนึ่ง GPSC อยู่ระหว่างเตรียมปรับโครงสร้างทางการเงินใหม่เพื่อรองรับแผนการเข้าซื้อกิจการ GLOW ในกรอบวงเงิน 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งจะมาจากเงินกู้ยืมระยะสั้น 1 ปี หลังจากนั้นบริษัทมีแผนจะเพิ่มทุนจดทะเบียนไม่เกิน 7.4 หมื่นล้านบาท ซึ่งจะดำเนินการในช่วงไตรมาส 3/62 และปรับหนี้ระยะสั้นเป็นหนี้ระยะยาว แต่ยังต้องพิจารณาตามสภาพตลาดในช่วงนั้นว่าจะเป็นการกู้เงินจากสถาบันการเงิน หรือออกหุ้นกู้ ที่ปัจจุบันกำหนดวงเงินออกหุ้นกู้ได้ไม่เกิน 6.85 หมื่นล้านบาท