THCOM เดินหน้าทำตลาดไอพีสตาร์ เน้นไทย-จีน-อินเดีย พร้อมขยายตลาดดาวเทียมบรอดคาสท์เข้าเพื่อนบ้าน-เอเชียใต้

ข่าวหุ้น-การเงิน Tuesday April 2, 2019 18:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอนันต์ แก้วร่วมวงศ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.ไทยคม (THCOM) กล่าวในที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2562 ว่า ในปี 62 บริษัทให้ความสำคัญบริการด้านบรอดแบนด์ในการเพิ่มประสิทธิภาพของการใช้งานแบนด์วิธ บนแพลตฟอร์มไอพีสตาร์ หรือดาวเทียมไทยคม 4 และแพลตฟอร์มของพันธมิตรทางธุรกิจ เพื่อสร้างโอกาสในการเพิ่มปริมาณการใช้งานแบนด์วิธดาวเทียมไทยคม 4 โดยเฉพาะในประเทศไทย อินเดีย และจีน อีกทั้งยังมีแผนขยายธรุกิจบรอดแบนด์ไปสู่ตลาดกลุ่มใหม่และธุรกิจปลายน้ำในประเทศ ที่มีศักยภาพและมีความได้เปรียบในการแข่งขัน

พร้อมกันนี้บริษัทฯ อยู่ระหว่างการศึกษาความเป็นไปได้ทางธุรกิจร่วมกับพันธมิตร ในการดำเนินโครงการดาวเทียมบรอดแบนด์ขนาดใหญ่ (Very High Throughput Satellite) ที่มีโครงสร้างต้นทุนต่อหน่วยต่ำ เพื่อให้บริการบอรดแบนด์ในอนาคต

ทั้งนี้ ในปีนี้บริษัทฯ จะมุ่งเน้นการดำเนินงานในธุรกิจทั้ง 3 ด้าน ได้แก่ ธุรกิจดาวเทียม บริการที่เกี่ยวข้อง และธุรกิจใหม่

สำหรับธุรกิจดาวเทียมและบริการที่เกี่ยวข้อง ในส่วนของดาวเทียมแบบทั่วไปในปี 62 บริษัทยังคงมุ่งเน้นการร่วมมือกับบริษัทในภูมิภาค เพื่อยกระดับความเป็นผู้นำในอุตสาหกรรมการให้บริการแพร่ภาพสัญญาณโทรทัศน์ (Broadcast) ทั้งในประเทศไทย และภูมิภาคเอเชีย และการนำเสนอบริการที่มีคุณภาพ เพื่อรองรับการออกอากาศรายการโทรทัศน์ที่มีความคมชัดสูงในระบบ High Definition และ Ultra-High Definition และบริการเสริมต่างๆ เพื่อช่วยเพิ่มศักยภาพให้กับผู้ประกอบการ

นอกจากนี้บริษัทฯ มีแผนขยายบริการดาวเทียมไปยังตลาดเกิดใหม่ที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะประเทศในภูมิภาคลุ่มแม่น้ำโขง และเอเชียใต้ โดยเน้นการนำเสนอบริการส่งช่องรายการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมถึงบ้านผู้รับโดยตรง และมีความแรง ของสัญญาณสูง เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้ประกอบการในภูมิภาคดังกล่าว

"ดาวเทียมทั่วไป ในไทยเราได้มีการลงนามสัญญาระยาวกับ ทรูวิชั่นส์ เพื่อใช้งานต่อในไทยคม 8 และประเทศเมียนมา ก็ได้มีการเซ็นสัญญากับผู้ประกอบการเคเบิ้ลทีวี ในการบริการ DTH ไปจนถึงเดือนส.ค.64, ในแอฟริกา ก็ได้เซ็นสัญญากับสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ สำหรับการบริการวิดีโอแพลตฟอร์มบนดาวเทียมไทยคม 6 ส่วนดาวเทียมบรอดแบนด์ ในไทยได้ลงนามสัญญาแบนด์วิธและอุปกรณ์ ในโครงการโทรคมนาคมพื้นฐาน และขายกล่องทีวีดิจิทัลประมาณ 1,000 กล่อง เพื่อสนับสนุนการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม DLTV และฟิลิปปินส์ ก็ได้ขายแบนด์วิธดาวเทียมไทยคม 4 ให้กับบริษัทในฟิลิปปินส์ ส่วนในออสเตรเลียก็มีการบริการเชื่อมต่อข้อมูลผ่านระบบดาวเทียมเคลื่อนที่ทางทะเล หรืออินเทอร์เน็ตในเรือ"

ด้านบริการใหม่ที่มีความใกล้เคียงกันนั้น บริษัทยังคงให้บริการอย่างต่อเนื่องในการเชื่อมต่อข้อมูลผ่านระบบดาวเทียมแบบเคลื่อนที่โดยให้ความสำคัญ ในการเชื่อมต่อบนผืนทะเล และสมาร์ทแพลตฟอร์ม Over The Top (OTT) เพื่อให้บริการส่งรายการโทรทัศน์หรือวิดีโอผ่านโครงข่าย อินเทอร์เน็ตไปยังผู้ชมได้ทุกที่ทุกเวลา

สำหรับภูมิภาคแอฟริกา บริษัทมีแผนกลยุทธ์ในการสร้างความแตกต่างจากคู่แข่งขันโดยการมุ่งเน้น กลุ่มประเทศเป้าหมาย อย่างชัดเจน รวมทั้งการสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรเพื่อนำเสนอ บริการแบบครบวงจรเพื่อตอบสนองความต้องการของลูกค้า โดยเน้นนำเสนอบริการช่องรายการโทรทัศน์ดาวเทียมบริการเชื่อมต่อโครงข่ายโทรศัพท์เคลื่อนที่ บริการเครือข่ายข้อมูลในระบบ VSAT (Very Small Aperture Terminal) และบริการเชื่อมต่อเครือข่าย อินเทอร์เน็ต นอกเหนือจากนี้ บริษัทฯ ยังร่วมมือกับพันธมิตรผู้ให้บริการสถานีภาคพื้นดินในทวีปยุโรป เพื่อให้บริการแพร่กระจายช่องรายการโทรทัศน์ผ่านดาวเทียมจากทวีปยุโรปสู่ทวีปแอฟริกาอีกด้วย

ส่วนในปี 64 ที่จะสิ้นสุดสัมปทานดาวเทียมไทยคม 4, ไทยคม 5 และ ไทยคม 6 ของบริษัทฯ กับกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ได้วางแผนการดำเนินงานหลังจากนั้น บริษัทฯ จะมีการพิจารณาเข้าร่วมลงทุนในรูปแบบ PPP ในการใช้เทคโนโลยีบางส่วน เช่น ใช้ดาวเทียมขนาดเล็กไปเชื่อมต่อกับดาวเทียมที่มีอยู่ เพื่อยืดอายุการใช้งานดาวเทียม เป็นต้น รวมถึงการดำเนินกิจการดาวเทียมไทยคม 7,8 ที่อยู่ในระบบใบอนุญาตภายใต้การกำกับดูแลคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) จะยังคงดำเนินการต่อเนื่องภายหลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน โดยขณะนี้ดาวเทียมไทยคม 7 และไทยคม 8 ยังมีกรณีพิพาทอยู่ในชั้นอนุญาโตตุลาการ ซึ่งเพิ่งเริ่มนับหนึ่ง และคาดว่าจะใช้เวลาหลายปีกว่าจะได้ข้อยุติ

อย่างไรก็ตามบริษัทฯ ยังคงมองหาพันธมิตรทางธุรกิจในภูมิภาค เพื่อศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างดาวเทียม โดยอาศัยใบอนุญาตในต่างประเทศ รวมถึงพันธมิตรในรูปแบบอื่นๆ เช่น ตัวแทนจำหน่าย การร่วมมือในการให้บริการและมีการแบ่งรายได้ เป็นต้น

"เรามีความมั่นใจค่อนข้างสูง ในการเข้าร่วม PPP เนื่องจากเป็นผู้ประกอบการในไทยเพียงรายเดียว แต่เราก็ต้องยอมรับการแข่งขันสากล ที่จะต้องมีคู่แข่งขันเข้ามา และเคารพกติกาที่กระทรวงฯ วางไว้ให้ ขณะที่หากไม่ได้ เรามีการดำเนินงานแบบคู่ขนาน หรืออะไรที่ให้ประโยชน์สูงสุดเราจะทำไปก่อน โดยไม่รออะไรที่ไม่แน่นอน และพยายามเลือก Slot ที่อยู่ใกล้ๆ หรือตำแหน่งที่ตั้งวงโคจร ที่สร้างประโยชน์สูงสุดให้กับไทยคม"ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร THCOM กล่าว

นายอนันต์ กล่าวว่า ในอนาคตบริษัทฯ ต้องการลดการพึ่งพารายได้จากธุรกิจดาวเทียมลง โดยจะขยายตัวไปสู่ธุรกิจใหม่ คือ เอ็นจิเนียริ่ง โซลูชั่นส์ หรือบริการวิศวกรรมต่างๆ ซึ่งถือเป็นจุดแข็งของบริษัทฯ อีกทั้งในเรื่องของบริการดิจิทัลเทคโนโลยีต่างๆ ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ