บมจ. คัมเวล คอร์ปอเรชั่น (KUMWEL) ยื่น Filing version แรก เมื่อวันที่ 1 เม.ย.62 เพื่อเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน 130 ล้านหุ้น คิดเป็นประมาณ 30% ของทุนจดทะเบียนหลังการเสนอขาย IPO วัตถุประสงค์ในการระดมทุนเพื่อใช้เป็นเงินลงทุนและเงินทุนหมุนเวียนในการดำเนินธุรกิจ โดยบริษัทจะขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ เอ็ม เอ ไอ (mai) ซึ่งมีบริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน
KUMWEL ประกอบธุรกิจผลิตและจำหน่ายผลิตภัณฑ์สำหรับระบบต่อลงดิน (Grounding System) ระบบป้องกันฟ้าผ่า (Lightning Protection System) ระบบป้องกันเสิร์จ (Surge Protection System) ระบบตรวจจับและเตือนภัยฟ้าผ่า (Lightning Detection & Warning System) อย่างครบวงจร ตามมาตรฐานสากล ภายใต้ตราสินค้า "Kumwell"
บริษัทมีบริษัทย่อย ได้แก่ (1) บริษัท คัมเวล จำกัด (KW) ดำเนินธุรกิจผลิตและจำหน่ายแม่พิมพ์ กราไฟต์ (Graphite Mold) ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับระบบต่อลงดิน ให้แก่ KUMWEL แต่เพียงผู้เดียว (2) บริษัท คัมเวล-นาวแคสท์ จำกัด (KWN) ดำเนินธุรกิจให้เช่าเสาสัญญาณตรวจจับสภาพอากาศสำหรับการเตือนฟ้าผ่า ให้แก่ KUMWEL แต่เพียงผู้เดียว
กลุ่มลูกค้าของบริษัทและบริษัทย่อยมีทั้งในประเทศและต่างประเทศ ไม่ว่าจะเป็นประเทศในแถบภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ บรูไน กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย เมียนมาร์ ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สิงคโปร์ ตลอดจนประเทศในภูมิภาคอื่นๆ เช่น จีน ฮ่องกง ญี่ปุ่น เกาหลี บังกลาเทศ ศรีลังกา ปากีสถาน อิหร่าน สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ กาต้าร์ โอมาน เยเมน ซาอุดิอาระเบีย ฝรั่งเศส เบลเยี่ยม สวิตเซอร์แลนด์ เยอรมณี สวีเดน เดนมาร์ก อเมริกาใต้ เป็นต้น ขณะที่สัดส่วนรายได้หลักเป็นลูกค้าในประเทศราว 75%
บริษัทมีทุนจดทะเบียนเท่ากับ 215,000,000 บาท เป็นทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้ว 150,000,000 บาท แบ่งออกเป็นหุ้นสามัญจำนวน 300,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท โดยภายหลังจากการเสนอขายหุ้น IPO บริษัทจะมีทุนจดทะเบียนเรียกชำระแล้วเต็มมูลค่าเ แบ่งเป็นหุ้นสามัญจำนวน 430,000,000 หุ้น มูลค่าที่ตราไว้หุ้นละ 0.50 บาท
ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัทฯ ณ วันที่ 13 มี.ค.61 คือ กลุ่มนายบุญศักดิ์ เกียรติจรูญเลิศ ถือหุ้น 277,950,400 หุ้น คิดเป็นสัดส่วน 92.65% หลังเสนอขาย IPO แล้วจะลดสัดส่วนหุ้นเหลือ 64.64%, นายโชคอนันต์ พิเชียรนวกุล ถือหุ้น 16,919,200 หุ้น คิดเป็น 5.64% จะลดสัดส่วนหุ้นเหลือ 3.935% และนายศรัณย์ แซ่จู ถือหุ้น 5,130,400 หุ้น คิดเป็น 1.71% หลังเสนอขาย IPO ครั้งนี้แล้วจะลดสัดส่วนการถือหุ้นเป็น 1.193%
ผลการดำเนินงานของบริษัทตั้งแต่ปี 59-61 บริษัทมีรายได้จากการขายและการให้บริการเพิ่มขึ้นจาก 399 ล้านบาทในปี 59 เป็น 426 ล้านบาทในปี 60 และ 460.63 ล้านบาทในปี 61 ขณะที่ต้นทุนขายและการให้บริการเพิ่มขึ้นจาก 221.38 ล้านบาทในปี 59 เป็น 243.86 ล้านบาทในปี 60 และ 266.05 ล้านบาทในปี 61
ส่วนกำไรสุทธิลดลงจาก 75.14 ล้านบาทในปี 59 มาที่ 66.36 ล้านบาทในปี 60 และ 31.99 ล้านบาทในปี 61 อัตรากำไรขั้นต้นจาก 44.54% ในปี 59 มาที่ 42.79% ในปี 60 และ 42.24% ในปี 61 อัตรากำไรสุทธิจาก 18.73% ในปี 59 มาที่ 15.27% ในปี 60 และ 7.19% ในปี 61
สาเหตุที่ทำให้กำไรสุทธิและอัตรากำไรสุทธิลดลงในปี 60 อย่างมีนัยสำคัญ เนื่องจากมีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรซึ่งเกิดจากการปรับโครงสร้างเงินเดือน ค่าที่ปรึกษาการเตรียมเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ส่วนปี 61 มีค่าใช้จ่ายด้านบุคลากรเพิ่มขึ้นจากการปรับโครงสร้างเงินเดือน การว่าจ้างที่ปรึกษามาช่วยสนับสนุนการดำเนินธุรกิจในด้านต่างๆ ค่าเผื่อการด้อยค่าสินค้าล้าสมัยที่เพิ่มขึ้น จากการทบทวนและปรับเปลี่ยนนโยบายการตั้งค่าเผื่อฯ ให้มีความเหมาะสมกับลักษณะการประกอบธุรกิจของบริษัทมากยิ่งขึ้น และค่าใช้จ่ายจากการจ่ายโดยใช้หุ้นเป็นเกณฑ์ ซึ่งเป็นผลมาจากการจัดโครงสร้างกลุ่มบริษัทภายใต้การควบคุมเดียวกัน
ณ 31 ธ.ค.61 มีสินทรัพย์รวม 441.73 ล้านบาท หนี้สินรวม 90.28 ล้านบาท และส่วนของผู้ถือหุ้น 351.45 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นแต่ละปีไม่เกินกว่า 50% ของกำไรสุทธิตามงบการเงินเฉพาะกิจการของบริษัทหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และหักสำรองต่างๆ ทุกประเภทตามที่กฎหมายกำหนด