นายชาญศิลป์ ตรีนุชกร ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บมจ.ปตท.(PTT) ระบุว่า ปตท.ยังมองโอกาสที่จะมีความร่วมมือกับ บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) ในธุรกิจอื่น ๆ ที่สามารถส่งเสริมซึ่งกันและกัน (Synergy) หลังจากที่ได้จับมือกันเข้าร่วมประมูลพัฒนาโครงการท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ระยะ 3 (ช่วงที่1) และโครงการท่าเรือแหลมฉบัง (ทลฉ.) ระยะที่ 3 (ท่าเทียบเรือ F) แต่คงไม่ใช่ในธุรกิจน้ำมันที่เป็นธุรกิจหลักของ ปตท.
"เรายินดีที่จะร่วมมือกับกัลฟ์ฯ ต่อไปหากเป็นธุรกิจที่ Synergy กันได้...ที่ผ่านมาเราก็ร่วมมือกับหลายกลุ่มทั้งในประเทศและต่างประเทศ โลกทุกวันนี้คงยืนอยู่คนเดียวไม่ได้"นายชาญศิลป์ กล่าว
นายชาญศิลป์ กล่าวว่า แม้ว่า GULF ที่ปัจจุบันเป็นลูกค้าก๊าซรายใหญ่ของ ปตท.จะมีความสนใจที่จะดำเนินธุรกิจนำเข้าก๊าซธรรมชขาติเหลว (LNG) เช่นกัน แต่ ปตท.ก็มีความพร้อมรับมือในธุรกิจที่มีการแข่งขันอยู่แล้ว เพราะเชื่อว่าการแข่งขันจะทำให้ ปตท.มีความเข้มแข็งมากขึ้น ขณะที่ GULF ก็เป็นผู้ใช้ก๊าซฯในปริมาณมาก เพราะมีโรงไฟฟ้าขนาดใหญ่ (IPP) ในมือที่อยู่ระหว่างพัฒนา และยังมีแผนการขยายธุรกิจอย่างต่อเนื่อง
สำหรับความร่วมมือกับ GULF ปัจจุบันเป็นการร่วมกันเข้าประมูลงานโครงการสาธารณูปโภคขนาดใหญ่ของภาครัฐ อย่างโครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังนั้น เนื่องจาก ปตท.มีความชำนาญและมีประสบการณ์การบริหารท่าเรือขนส่งของเหลว ซึ่งการจะหันมาพัฒนาท่าเรือแหลมฉบังก็เป็นการเปลี่ยนการบริหารจากท่าเรือของเหลว มาเป็นลักษณะของตู้คอนเทนเนอร์เท่านั้น ส่วนการพัฒนาท่าเรืออุตสาหกรรมมาบตาพุด ก็สามารถรองรับการขนถ่ายก๊าซธรรมชาติ และวัตถุดิบเหลวสำหรับกลุ่มอุตสาหกรรมปิโตรเคมี
ส่วนโอกาสความร่วมมือกับ GLUF ในธุรกิจโรงไฟฟ้านั้น นายชาญศิลป์ กล่าวว่า ในแง่ของ ปตท.มีความชำนาญด้านการผลิตไฟฟ้าเพื่อขายให้กับภาคอุตสาหกรรม โดยเฉพาะในกลุ่ม ปตท.
นายชาญศิลป์ กล่าวถึงความคืบหน้าการจะกลับเข้าไปลงทุนใหม่ในอินโดนีเซีย หลังจากที่ก่อนหน้ามีข้อพิพาทคดีมอนทาราและแม้ทางการอินโดนีเซียจะได้ถอนคำฟ้องดังกล่าวไปแล้ว แต่คงยังไม่เห็นการลงทุนใหม่ของกลุ่ม ปตท.ในเร็ว ๆ นี้ เพราะรัฐบาลอินโดนีเซียมีการเปลี่ยนแปลงกฎระเบียบบ่อยครั้ง บางครั้งเมื่อเริ่มต้นศึกษาโครงการมีกฎระเบียบเป็นอย่างหนึ่ง แต่เมื่อจะลงทุนแล้วกลับเปลี่ยนไปอีกอย่างหนึ่ง ซึ่งเป็นข้อจำกัดต่อการลงทุน
ประกอบกับ ขณะนี้ ปตท.ให้ความสำคัญกับการลงทุนในกลุ่มประเทศ CLMV เป็นหลัก โดยเฉพาะในธุรกิจน้ำมันและค้าปลีกที่ปตท.ประสบความสำเร็จค่อนข้างมากในประเทศกัมพูชา และลาว ขณะเดียวกันก็ให้ความสำคัญกับภูมิภาคตะวันออกลางในธุรกิจผลิตปิโตรเลียมซึ่งเป็นแหล่งที่มีศักยภาพ โดยเฉพาะในโมซัมบิก