นายณัฐชาต เมฆมาสิน ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการ ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บล.ทรีนีตี้ ประเมินดัชนีตลาดหลักทรัพย์ (SET Index) เดือน เม.ย.62 จะแกว่งตัว Sideways โดยให้กรอบแนวต้านสำคัญไว้ที่ระดับ 1,680 จุด อิง Forward PE ที่ 14 เท่า และประมาณการ EPS ปี 63 ที่ 120 บาท ส่วนกรอบแนวรับแรกประเมินไว้ที่ 1,620 จุด ซึ่งเป็นระดับที่ทำให้ Earning yield gap กลับเข้าสู่ค่าเฉลี่ยระยะยาว และแนวรับสำคัญอยู่ที่ 1,580 จุด ในเชิงกลยุทธ์แนะนำนักลงทุนขึ้นขาย-ลงซื้อตามกรอบแนวต้าน-แนวรับดังกล่าว
สำหรับกลุ่มหุ้นที่คาดว่าจะปรับตัว Outperform ตลาดในเดือนนี้ ได้แก่ 1.กลุ่มหุ้นขนาดใหญ่ที่จ่ายปันผลสูงแต่ราคายังคง Laggard และมี Valuation ถูก ได้แก่ BBL, PTTGC, BCP 2.กลุ่มโรงกลั่นที่คาดว่าจะมีผลการดำเนินงานดีในไตรมาส 1/62 ได้แก่ TOP 3.กลุ่มหุ้นที่ได้ประโยชน์จากการพิจารณาเกณฑ์ NVDR ของ MSCI และราคายังคง Laggard ได้แก่ MTC, BDMS, CPN, CPALL
4.กลุ่มหุ้นที่มีโอกาสถูกพิจารณานำเข้าสู่ดัชนี MSCI ในรอบเดือน พ.ค.ได้แก่ KTC 5.กลุ่มหุ้นที่คาดว่าจะถูกนำเข้าสู่ดัชนี SET50 ในรอบเดือน มิ.ย.ได้แก่ OSP 6.กลุ่มหุ้นอสังหาริมทรัพย์ที่อาจมีแรงเข้าซื้อเพื่อเก็บเงินปันผล ได้แก่ AP, QH 7.กลุ่มหุ้นที่รับรู้ข่าวร้ายไปมากและมีความเสี่ยงต่ำแล้ว ได้แก่ ROBINS 8.กลุ่มหุ้นที่มักปรับตัว Outperform ได้ดีในทุกไตรมาส 2 ของทุกๆปี ได้แก่ KCE
นายณัฐชาต กล่าวว่า สำหรับปัจจัยสำคัญที่ต้องติดตามในเดือนนี้ ได้แก่ การปรับตัวลงมาของอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล (Bond yield) สหรัฐฯทำให้ SET Index มีความน่าสนใจมากขึ้นผ่านมิติของ Earning yield gap (EYG) โดยจากการคำนวณล่าสุดพบว่าระดับดัชนีที่จะทำให้ EYG กลับเข้าสู่ค่าเฉลี่ยระยะยาวได้แก่ 1,620 จุด ซึ่งเป็นที่มาของแนวรับแรกประจำเดือนนี้ มองว่าจะเป็นปัจจัยประคับประคองตลาดหุ้นไทยที่สำคัญในระยะสั้น
ดัชนี PMI ภาคการผลิตทั่วโลกประจำเดือน มี.ค.ที่เริ่มทยอยออกมาแล้วเริ่มตั้งแต่จีนเมื่อช่วงสิ้นเดือนที่ผ่านมา ซึ่งออกมาดีกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้ และถือเป็นครั้งแรกในรอบ 4 เดือนที่กลับมายืนอยู่ในบริเวณขยายตัวได้อีกครั้ง หากในช่วงต้นเดือน เม.ย.นี้ ประเทศสำคัญอื่นอย่างเช่น ยูโรโซนและสหรัฐฯมีการรายงานตัวเลขที่ดีขึ้นจากเดือนก่อนด้วย คาดจะทำให้ดัชนี Global PMI มีการฟื้นตัวขึ้นได้ และจะส่งผลบวกเชิง Sentiment ต่อตลาดหุ้นเกิดใหม่
รวมทั้ง คาดการณ์ความผันผวนของตลาดหุ้นไทยจะอยู่ในระดับต่ำต่อไป เนื่องจากนักลงทุนบางส่วนอาจจะยังคงอยู่ในโหมด Wait & See จากความยืดเยื้อของการจัดตั้งรัฐบาลภายในประเทศ ซึ่งหากวิเคราะห์จากผลการนับคะแนนล่าสุด ประเมินว่ารัฐบาลชุดใหม่อาจจำเป็นต้องเริ่มต้นจากเสียงในสภาล่างที่เกินกึ่งหนึ่งไปไม่มาก ซึ่งอาจทำให้เสถียรภาพในการบริหารงานช่วงแรกมีไม่มากเท่าที่ควร
นายณัฐชาต ยังให้ข้อมูลเพิ่มเติมถึงผลการพิจารณาของ MSCI ที่มีมติให้ใช้ข้อมูล NVDR เข้าเป็นส่วนหนึ่งในเกณฑ์การพิจารณาคัดเลือกหุ้นเข้าสู่การคำนวณดัชนี โดยจะมีการบังคับใช้ในช่วงการปรับตะกร้าปลายเดือนพฤษภาคมนี้เพียงรอบเดียว ทั้งนี้ ทรีนีตี้พบว่ามีประเด็นที่น่าสนใจดังต่อไปนี้ 1.จากการคำนวณของ MSCI ที่เผยแพร่ในรอบล่าสุดปรากฏว่าไม่มีการนำหุ้น MTC ออกจากดัชนีแต่อย่างใด ซึ่งต่างจากผลการคำนวณครั้งแรกที่เผยแพร่เมื่อช่วงเดือนมกราคม
2.ถึงแม้ว่า INTUCH, DTAC, RATCH, CENTEL จะถูกนำเข้าสู่ดัชนีตามที่ MSCI ชี้แจงไว้ก่อนหน้านี้ แต่ปรากฏว่าน้ำหนักที่ได้รับมีการถูกลดทอนเล็กน้อยจากการคำนวณครั้งก่อน ด้วยเหตุนี้อาจต้องระวังแรงขาย Sell on fact ที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยเฉพาะหุ้นที่ราคาปรับขึ้นมามากแล้ว เช่น INTUCH, DTAC, RATCH
3.จากการคำนวณล่าสุดพบว่า SCB จะเป็นหุ้นตัวเดียวที่ได้รับการลดน้ำหนักอย่างมีนัยสำคัญจากเกณฑ์ใหม่นี้ 4.SAWAD ซึ่งเป็นหุ้นที่ถูกปรับลดน้ำหนักในการคำนวณครั้งก่อนของ MSCI กลับเตรียมได้รับน้ำหนักเพิ่มขึ้นจากการคำนวณล่าสุด 5.จากการสังเกตของทรีนีตี้ล่าสุดพบว่า MSCI ตัดสินใจไม่ใช้เกณฑ์ NVDR limit กับหุ้นในกลุ่มสถาบันการเงินที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์ เช่น MTC, SAWAD, AEONTS, THANI ดังนั้นมองเป็น Sentiment เชิงบวกกับหุ้นกลุ่มการเงินเหล่านี้
"กล่าวโดยสรุป หากต้องการเก็งกำไรบนธีม MSCI นี้ มองว่าตัวที่น่าสนใจได้แก่ MTC เนื่องจากไม่หลุดจากดัชนีตามที่คาดหมายไว้ รวมไปถึง BDMS, CPN, CPALL ซึ่งเป็นหุ้นที่อยู่ในดัชนี MSCI อยู่แล้ว แต่เตรียมได้รับน้ำหนักเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญและยังเป็นหุ้นที่ราคา Laggard ตลาดอีกด้วย"นายณัฐชาต กล่าว