นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการ คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ(กสทช.) กล่าวในการเสวนาวิชาการ"5G ปลุกไทยที่ 1 อาเซียน"ว่า กสทช.คาดว่าหากมีการประมูลคลื่นและใช้เทคโนโลยี 5G จะเพิ่มมูลค่าทางเศรษฐกิจในปี 78 ถึง 2.3 ล้านล้านบาท โดย กสทช. เตรียมจะให้มีการประมูลคลื่นความถี่ 2600 เมกะเฮิรตซ์ 28 กิกะเฮิรตซ์ ใน 3 แบบ คือ ใบอนุญาตเฉพาะพื้นที่ในภาคอุตสาหกรรม, ใบอนุญาตครอบคลุมทั่วประเทศ และประมูลแบบมัลติแบนด์
สำหรับแผนการจัดสรรคลื่นความถี่ของ กสทช.จะประมูลคลื่น 700 เมกกะเฮิรตซ์ ตามด้วยคลื่น 2600 เมกกะเฮิรตซ์ โดยจะประมูลแบบมัลติแบนด์กับคลื่น 26 และ 28 กิกะเฮิรตซ์ ส่วนคลื่น 3500 เมกกะเฮิรตซ์ อยู่ระหว่างการเรียกคืนคลื่นซึ่งต้องใช้เวลา เบื้องต้นได้หารือกับปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมแล้ว อยู่หว่าการทำรายงานสรุปว่าจะเรียกคืนได้เท่าใด
นายฐากร กล่าวอีกว่า ในปีที่ผ่านมาการลงทุนของประเทศในอาเซียนมีการลงทุนเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ประเทศไทยกลับมีการลงทุนลดลง หากไม่มีการใช้เทคโนโลยี 5G จะทำให้การลงทุนยิ่งถดถอยลง และเมื่อ 5G เกิดขึ้น ความท้าทายที่จะตามมา คือ การใช้บริการสื่อสารข้อมูลที่เพิ่มขึ้น ความท้าทายในการจัดเก็บรายได้
ดังนั้น กสทช. เสนอแนวทางให้ผู้ให้บริการอินเตอร์เน็ตเกตเวย์ระหว่างประเทศรายงานปริมาณของผู้ให้บริการแต่ละราย โดย กสทช.จะกำหนดหลักเกณฑ์ปริมาณการจัดเก็บรายได้จากการใช้โครงสร้างพื้นฐานของประเทศ โดยใช้บริการข้อมูลปริมาณน้อยหรือใช้งานส่วนบุคคลให้ใช้ฟรี หากใช้งานปริมาณมากหรือใช้งานในเชิงธุรกิจกิจให้คิดค่าบริการอัตราก้าวหน้า โดยรายได้ที่เกิดขึ้นให้นำส่งเป็นรายได้ของแผ่นดิน เพื่อนำมาบำรุงโครงสร้างพื้นฐานทางโทรคมนาคม
ทั้งนี้ มองว่าเมื่อเทคโนโลยี 5G เกิดขึ้น จะส่งผลให้มีการใช้งาน DATA เพิ่มมากขึ้นถึง 40 เท่าของที่ใช้งานอยู่ในปัจจุบัน โดยในปี 61 มีปริมาณการใช้งาน DATA ที่นำเข้าจากต่างประเทศปริมาณ 5.8 ล้านเทราไบต์ เพิ่มขึ้นจากปี 57 ที่มีการใช้งานอยู่ที่ 5 แสนเทราไบต์ หรือเพิ่มขึ้นกว่า 10 เท่าตัว และเมื่อเปรียบเทียบการใช้งาน 5G ที่จะเกิดขึ้นคาดว่าจะมีการใช้งานเพิ่มขึ้นอย่างมากถึง 40 เท่า
"ข้อเสนอนี้หลายคนอยากให้มีการจัดเก็บเป็นภาษี แต่การจัดเก็บดังกล่าวคงเป็นไปได้ยาก เนื่องจากบริษัทผู้ให้บริการมีการก่อตั้งอยู่ในต่างประเทศ ไม่เหมือนกับบริษัทที่อยู่ในประเทศ ที่ต้องมีการจ่ายภาษีให้กับกรมสรรพากรตามกฎหมาย ซึ่งในส่วนนี้คือการนำเข้า Traffic ถ้านำเขาปริมาณเยอะๆ ก็ถือว่าเป็นการทำธุรกิจ ทำให้จะต้องมีการจ่ายค่าบำรุงรักษาโครงข่ายโทรคมนาคม เพื่อให้รัฐลงทุนทำโครงข่ายเพิ่มเติม โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อ 5G เกิดขึ้น ในอนาคตก็จะต้องมีการลงทุนสร้างโครงข่ายเพิ่มเติมอีกจำนวนมาก และผู้ประกอบการโทรคมนาคมเองก็จะได้ลดราคาประมูลลงมา เนื่องจากมีเงินรายได้อย่างอื่นเสริมเข้ามา"นายฐากร กล่าว
พร้อมกันนี้ ระหว่างนี้สำนักงานกสทช.จะนำเรื่องดังกล่าวเสนอต่อที่ประชุม กสทช. ในการออกร่างประกาศหลักเกณฑ์ฯ เช่น ปริมาณการนำเข้า Traffic ต่างๆ ควรอยู่ในระดับใดที่จะเก็บค่าใช้บริการได้ เป็นต้น ก่อนที่เทคโนโลยี 5G จะเกิดขึ้นในปี 63 ขณะเดียวกันในเดือนส.ค.นี้ จะมีการประชุมหน่วยงานกำกับดูแล โดยปีนี้ประเทศไทยจะเป็นประธานการประชุมอาเซียน ก็จะมีการนำไอเดียที่ทางกสทช.นำเสนอในวันนี้ เสนอต่อที่ประชุมอาเซียนด้วย
ขณะที่ในการเสวนาครั้งนี้ ผู้ประกอบการโทรคมนาคมทั้ง 3 ราย ได้แก่ บมจ.แอดวานซ์ อินโฟร์ เซออร์วิส(ADVANC)หรือ AIS บมจ.โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น (DTAC) และ บมจ.ทรู คอร์ปอเรชั่น (TRUE) ได้กล่าวถึงความกังวลเรื่องของราคาคลื่นที่แพง โดยทางกสทช. จะมีการทบทวนราคาเริ่มต้นการประมูลใหม่ เพื่อให้ผู้ประกอบการโทรคมนาคมนำคลื่นความถี่ไปใช้งานได้มากที่สุด โดยปีนี้คาดจะเปิดประมูลคลื่นความถี่ 700 MHz และ 2600 MHz คู่กับ 26-28 GHz ส่วนคลื่น 3500 MHz จะเปิดประมูลปีหน้า
อนึ่ง วันนี้กระทรวงดิจิทัลเพื่อพัฒนาเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กสทช. จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ร่วมจัดงาน "5G ปลุกไทยที่ 1 อาเซียน" โดยมีตัวแทนจากภาครัฐและภาคเอกชน ปาฐกถาเกี่ยวกับความคืบหน้าในการเตรียมพบกับเทคโนโลยี 5G ซึ่งจะเกิดขึ้นในประเทศไทยภายใน 1-2 ปี