แนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" ของบริษัทสะท้อนถึงแนวโน้มอันดับเครดิตของบริษัทแม่คือ บริษัท สามารถ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (SAMART) แม้ว่าการดำเนินธุรกิจของบริษัทยังคงมีความแข็งแกร่ง แต่ทริสเรทติ้งมีมุมมองว่าบริษัทนั้นมีสถานภาพเป็นสมาชิกหลัก (Core Member) ของกลุ่มสามารถ (SAMART Group) และอันดับเครดิตของบริษัทและของ SAMART มีความเชื่อมโยงเกี่ยวข้องกันอย่างใกล้ชิด
ประเด็นสำคัญที่กำหนดอันดับเครดิต
อันดับเครดิตของบริษัทเชื่อมโยงกับอันดับเครดิตของ SAMART เนื่องจาก SAMART ถือหุ้นในบริษัทในสัดส่วน 71% และบริษัทยังถือว่าเป็นผู้สร้างรายได้หลักของกลุ่มสามารถอีกด้วย นอกจากนี้ คณะผู้บริหารและแผนกลยุทธ์ของกลุ่มยังมีความเชื่อมโยงกันในระดับสูง SAMTEL ถือเป็นสมาชิกหลักรายสำคัญ (Core Member) ของกลุ่ม SAMART ตามเกณฑ์ของวิธีการจัดอันดับเครดิตแบบกลุ่ม (Group Rating Methodology) ของทริสเรทติ้งที่เผยแพร่เมื่อเดือนกรกฎาคม 2558 ทำให้อันดับเครดิตของบริษัทอยู่ในระดับเดียวกับอันดับเครดิตของ SAMART
สถานะทางธุรกิจที่แข็งแกร่ง สะท้อนถึงความเป็นผู้นำและผลงานซึ่งเป็นที่ยอมรับในธุรกิจให้บริการด้าน IT ที่ครบวงจรและหลากหลายโดยเฉพาะอย่างยิ่งโครงการภาครัฐ นอกจากนี้ สถานะทางธุรกิจของบริษัทยังมีปัจจัยสนับสนุนจากรายได้ที่สม่ำเสมอจากสัญญาให้บริการสื่อสารและซ่อมบำรุงซึ่งช่วยเสริมให้ผลประกอบการโดยรวมของบริษัทมีความมั่นคงแน่นอนอีกด้วย ในปี 2561 บริษัทมีรายได้อยู่ที่ 7.7 พันล้านบาท โดย 43% เป็นรายได้จากสัญญาให้บริการ ทั้งนี้ ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีรายได้จากสัญญาให้บริการสื่อสารและซ่อมบำรุงไม่ต่ำกว่าปีละ 3-3.3 พันล้านบาทในระหว่างปี 2562-2564 ซึ่งรายได้จากสัญญาให้บริการสื่อสารและซ่อมบำรุงดังกล่าวจะเสริมความแข็งแกร่งให้แก่สถานะทางธุรกิจของบริษัทยิ่งขึ้น
ความผันผวนจากขนาดและความต่อเนื่องของธุรกิจรับเหมาติดตั้งระบบ ความเสี่ยงของบริษัทมาจากผลประกอบการที่ผันผวนจากธรรมชาติของธุรกิจรับเหมาติดตั้งระบบที่มีขนาดมูลค่าโครงการที่แตกต่างกัน ในขณะเดียวกัน การดำเนินงานของบริษัทก็มีความเสี่ยงจากความไม่แน่นอนและความไม่ต่อเนื่องในการจัดสรรงบประมาณด้านเทคโนโลยีสารสนเทศของภาครัฐในบางครั้งอีกด้วย อย่างไรก็ตาม ทริสเรทติ้งเชื่อว่าความเสี่ยงดังกล่าวจะส่งผลต่อบริษัทไม่มากนักเมื่อพิจารณาจากจำนวนโครงการที่บริษัทดำเนินงานอยู่ในปัจจุบันและความต้องการในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานระบบ IT ของประเทศ
มีฐานรายได้จากมูลค่างานที่ยังไม่ได้ส่งมอบ บริษัทมีมูลค่างานที่ยังไม่ได้ส่งมอบ (Backlog) ณ สิ้นปี 2561 อยู่ที่ 7.7 พันล้านบาท โดยมูลค่างานประมาณ 4.4 พันล้านบาทจะรับรู้เป็นรายได้ในปี 2562 และจะรับรู้เป็นรายได้อีก 2 พันล้านบาทในปี 2563 และอีก 800 ล้านบาทในปี 2564 นอกจากนี้ สัญญาให้บริการสื่อสารและซ่อมบำรุงที่กำลังจะหมดอายุในช่วง 1-3 ปีข้างหน้าก็คาดว่าจะได้รับการต่อสัญญาต่อไปอีกด้วย
ภายใต้สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 7-9 พันล้านบาทต่อปีในช่วงปี 2562-2564 เมื่อพิจารณาจากความต้องการในการพัฒนาระบบ IT เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพของหน่วยงานทั้งภาครัฐและภาคเอกชน อย่างไรก็ตาม ยังมีประเด็นเรื่องความล่าช้าที่จะเกิดขึ้นในโครงการต่าง ๆ อีกด้วยเช่นกัน
ความสามารถในการทำกำไรที่อยู่ในระดับสูง อัตราส่วนกำไร (อัตราส่วนกำไรก่อนค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายต่อรายได้) ของบริษัทอยู่ในระดับ 22.4% ในปี 2561 ลดลงจาก 24.8% ในปี 2560 ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสัดส่วนของงานด้านการค้าและรับเหมาติดตั้งระบบที่เพิ่มขึ้น ซึ่งงานรับเหมาติดตั้งระบบนั้นมีอัตรากำไรที่ต่ำกว่า อย่างไรก็ดี ความสามารถในการทำกำไรของบริษัทถือว่ายังคงสูงกว่าบริษัทในอุตสาหกรรมเดียวกันที่จดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์ ทริสเรทติ้งคาดว่าความสามารถในการทำกำไรของบริษัทจะยังคงได้รับแรงกดดันจากการแข่งขันและความล่าช้าของโครงการต่อไป โดยคาดว่าอัตราส่วนกำไรของบริษัทน่าจะอยู่ในระดับ 20%-23% ในช่วงระหว่างปี 2562-2564 และคาดหมายว่าบริษัทจะมีกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคา และค่าตัดจำหน่ายที่ระดับ 1.5-1.8 พันล้านบาทต่อปีในระหว่างปี 2562-2564
ฐานะทางการเงินที่อยู่ในระดับดี หนี้สินที่ใช้เป็นทุนดำเนินโครงการของบริษัทส่วนใหญ่เป็นหนี้ระยะสั้นตามระยะเวลาของโครงการที่บริษัทดำเนินงาน และการที่งานส่วนใหญ่ของบริษัทเป็นโครงการภาครัฐซึ่งมีระบบการจ่ายชำระเงินที่มีความน่าเชื่อถือจึงเอื้ออำนวยให้บริษัทสามารถหาแหล่งเงินกู้เพื่อดำเนินโครงการได้ง่าย อีกทั้งยังได้รับเงื่อนไขที่ดีจากผู้ให้กู้อีกด้วยเช่นกัน
สมมติฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะลงทุนรวมประมาณ 4-4.3 พันล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2562-2564 โดยส่วนใหญ่เป็นการลงทุนในสัญญาให้บริการในโครงการ Advance Passenger Processing System (APPS) และโครงการ Common Use Terminal Equipment (CUTE) ของ บมจ. ท่าอากาศยานไทย (AOT) รวมถึงโครงการระบบคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์สำเร็จรูปสำหรับธุรกิจหลัก (CBS) ระยะที่ 2 ของการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนที่ปรับปรุงแล้วของบริษัทจะอยู่ในระดับประมาณ 43%-52% ในระหว่างปี 2562-2564 และคาดว่าบริษัทจะมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ระดับ 1.5-2.5 เท่าในช่วงดังกล่าว
ทั้งนี้ ในปี 2561 บริษัทมีอัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อเงินทุนรวมที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ระดับ 43.1% ในขณะที่อัตราส่วนหนี้สินทางการเงินต่อกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายที่ปรับปรุงแล้วอยู่ที่ระดับ 1.6 เท่า
สภาพคล่องที่เพียงพอ ในระยะ 12 เดือนข้างหน้า ทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีสภาพคล่องที่เพียงพอต่อความต้องการใช้จ่าย โดยแหล่งเงินทุนคาดว่าจะมาจากกำไรก่อนดอกเบี้ยจ่าย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่ายจำนวน 1.5-1.6 พันล้านบาท รวมทั้งเงินสดและรายการเทียบเท่าเงินสดจำนวน 358 ล้านบาท ณ สิ้นปี 2561 ตลอดจนวงเงินกู้ที่ยังไม่ได้เบิกใช้อีกประมาณ 6 พันล้านบาท ในขณะที่บริษัทมีแผนลงทุนรวมมูลค่าประมาณ 1.2 พันล้านบาทและมีหนี้ที่ต้องชำระคืนรวมประมาณ 3 พันล้านบาทในระยะ 12 เดือนข้างหน้าดังกล่าว
สมมติฐานกรณีพื้นฐาน ภายใต้ประมาณการพื้นฐานของทริสเรทติ้งคาดว่าบริษัทจะมีรายได้เฉลี่ยอยู่ที่ 7-9 พันล้านบาทต่อปี และคาดว่าอัตราส่วนกำไรของบริษัทจะอยู่ในระดับ 20%-23% ในช่วงระหว่างปี 2562-2564 บริษัทจะลงทุนประมาณ 1.2 พันล้านบาทในปี 2562 และรวมประมาณ 2.9-3.1 พันล้านบาทในช่วงระหว่างปี 2563-2564
แนวโน้มอันดับเครดิต "Negative" หรือ "ลบ" สะท้อนถึงแนวโน้มอันดับเครดิตของ SAMART ตามเกณฑ์ของวิธีการจัดอันดับเครดิตแบบกลุ่มของทริสเรทติ้ง และความเชื่อมโยงของทั้ง 2 แห่งคือบริษัท และ SAMART
ปัจจัยที่อาจทำให้อันดับเครดิตเปลี่ยนแปลง การเปลี่ยนแปลงใดใดที่เกี่ยวกับอันดับเครดิตของบริษัทจะขึ้นอยู่กับอันดับเครดิตของ SAMART เป็นสำคัญซึ่งเป็นไปตามเกณฑ์ของวิธีการจัดอันดับเครดิตแบบกลุ่ม (Group Rating Methodology) ของทริสเรทติ้ง