นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการแทน ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยภายหลังตัวแทนจากกลุ่มบริษัท เจริญโภคภัณฑ์ โฮลดิ้ง จำกัด (ซีพี) และพันธมิตรเข้าร่วมเจรจากับคณะกรรมการคัดเลือกเอกชนร่วมลงทุนในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ในวันนี้ว่า ผลการเจรจาได้คืบหน้า 70-80% หลังจากที่กลุ่มซีพียอมรับเงื่อนไขตามเอกสารเสนอโครงการ (RFP) จากก่อนหน้านี้ยื่นขอเปลี่ยนเงื่อนไข 12 ข้อใหญ่ เนื่องจากทางกลุ่มซีพีแจ้งว่าความเสี่ยงด้านการเงินของกลุ่มลดลง
อย่างไรก็ตาม การเจรจาของกลุ่มซีพีและสถาบันการเงินเป็นเรื่องของกลุ่มซีพีเอง จึงเปิดเผยไม่ได้
"โดยสรุปแล้วยอมรับว่าตามที่คณะกรรมการฯชี้แจงไปครั้งที่แล้วมี 12 ข้อหลัก และครั้งนี้เขายอมปลดทั้งหมด ใช้ตาม RFP เพียงปรับข้อความ แต่ในหลักการไม่มีประเด็นอื่นใดที่จะมาโต้แย้ง หลังจากที่คุยกันแล้ว ช่วงบ่ายก็มาบอกว่าขอให้คณะกรรมการฯ ช่วยนัดวันเจรจาขัดเกลาสำนวนทั้งหมด รวมถึงประเด็นต่างๆปลีกย่อย
ฉะนั้น วันนี้เราก็ได้ตั้งเป้าว่าภายใน 2 สัปดาห์นี้จะเจรจาข้อปลีกย่อยรวมทั้งเรื่องสำนวน ถ้อยคำให้มีความชัดเจน หลังจากนั้นส่งร่างสัญญาไปให้อัยการสูงสุดและนำเข้าสู่คณะกรรมการ (EEC) และ ครม.เป็นขั้นตอนสุดท้าย"นายวรวุฒิ กล่าว
สำหรับประเด็นปลีกย่อย สำนวนหรือถ้อยคำในสัญญาที่ยังไม่ชัดเจน และรายละเอียดในสัญญา ได้แก่ ค่าปรับ ที่กำหนดไว้ในสัญญา ซึ่งจะพิจารณาจำนวนเงินค่าปรับที่ทั้งสองฝ่ายยอมรับ จากสาเหตุใดบ้าง โดยมีมาตรฐานตามระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างกำหนดไว้แล้ว ทั้งนี้ ค่าปรับโครงการนี้จะไม่มากเหมือนกับโครงการจัดซื้อจัดจ้างเพราะเป็นโครงการร่วมลงทุน
นายวราวุฒิ กล่าวว่า คณะกรรมการคัดเลือกฯ จะประชุมอีกครั้งหลังวันหยุดเทศกาลสงกรานต์ รวมทั้งจะหารือร่วมกับฝ่ายกฎหมายของกลุ่มซีพี และ รฟท. จากนั้นจะนำเสนอต่อที่ประชุมคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (คณะกรรมการ EEC) ได้ภายในปลายเดือน เม.ย. และนำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) จึงคาดว่าจะลงนามสัญญาร่วมกันภายในเดือน พ.ค.นี้
"การเจรจาอยู่ในขั้นตอนสุดท้ายของการเจรจา ยังไม่ได้คุยจบ 100% แต่ก็คืบหน้าไปแล้ว 70-80% เพราะเงื่อนไขใหญ่ๆปลดออกไปแล้ว …คาดว่าในเดือน พ.ค.ก็น่าจะลงนามได้"นายวราวุฒิ กล่าว