นายระเฑียร ศรีมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บมจ.บัตรกรุงไทย (KTC) เปิดเผยว่า บริษัทมั่นใจว่ากำไรของบริษัทในปี 69 จะสามารถทำได้แตะระดับ 1 หมื่นล้านบาท โดยที่บริษัทตั้งเป้าการเติบโตของกำไรเฉลี่ยต่อปีอยู่ที่ 10% ซึ่งปัจจัยหนุนที่จะมาเสริมและช่วยผลักดันผลการดำเนินงานของบริษัทตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไปจะมาจาก 4 ธุรกิจใหม่ ที่จะทยอยเริ่มเปิดการดำเนินงาน โดยจะเริ่มจาก 3 ธุรกิจใหม่แรกที่คาดว่าจะเริ่มเปิดให้บริการในช่วงไตรมาส 2/62 ได้แก่ สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ พิโกไฟแนนซ์ และสินเชื่อทะเบียนรถ (Car for cash) ที่ปัจจุบันขั้นตอนการอนุมัติใกล้แล้วเสร็จ ซึ่งมีความล่าช้าไปจากเดิมที่คาดว่าจะเริ่มได้ในช่วงไตรมาส
แม้ว่า 3 ธุรกิจใหม่ดังกล่าว อาจจะยังมีผลขาดทุนในช่วงเริ่มธุรกิจในปีแรก ซึ่งกดดันผลการดำเนินงานในปี 62 อยู่บ้าง แต่คาดว่าทั้ง 3 ธุรกิจใหม่นี้จะเริ่มมีกำไรเข้ามาตั้งแต่ปี 63 เป็นต้นไป
นายระเฑียร กล่าวว่า การที่บริษัทเข้าไปรุกตลาดในกลุ่มสินเชื่อที่ไม่มีหลักประกัน และเป็นกลุ่มสินเชื่อที่มีความเสี่ยงสูงมากกว่าธุรกิจหลักปัจจุบันทั้งบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล แต่ธนาคารมีความมั่นใจว่าการขยายตลาดของทั้ง 3 ธุรกิจจะทำได้อย่างดีและอาจจะเหนือกว่าผู้เล่นในตลาดปัจจุบัน อีกทั้งบริษัทยังมีความสามารถในการควบคุมหนี้เสียที่ประสิทธิภาพ ทำให้จะไม่กระทบต่อแนวโน้มของสัดส่วนหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ของบริษัทจะเพิ่มขึ้น ซึ่งบริษัทจะรักษา NPL ให้อยู่ในระดับที่ต่ำใกล้เคียง 1.1% ตามแผนงานในปีนี้
ด้านธุรกิจ E-wallet นั้นยังคงต้องรอการอนุมัติจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง หลังจากที่ได้นำเรื่องเสนอต่อธนาคารกรุงไทย (KTB) แล้ว ซึ่งการรุกธุรกิจ E-wallet จะเป็นการต่อยอดจากกลุ่มลูกค้าหลักของธนาคารทั้งกลุ่มลูกค้าบัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล ซึ่งเป็นโอกาสของบริษัทในการนำเสนอบริการใหม่ๆให้กับลูกค้าได้ใช้ พร้อมกับเป็นการสร้างรายได้ใหม่ๆให้กับบริษัทเข้ามาเพิ่มเติม และให้สอดคล้องกับการมีบริษัทพัฒนาด้านเทคโนโลยีเข้ามาเสริมการบริการ
"การเติบโตของ KTC ในตอนนี้ เราต้องหาธุรกิจใหม่เข้ามาช่วยเสริมและผลักดันให้ผลการดำเนินงานมีการเติบโตขึ้น เพราะหากยังคงทำแค่ธุรกิจเดิมอยู่ก็อาจจะเติบโตขึ้นได้ไม่มากในแต่ละปี และฐานที่ใหญ่ขึ้นก็จะทำให้การเติบโตดูชะลอลง ทำให้เราต้องเริ่มธุรกิจใหม่เข้ามาเสริม เพื่อสร้างรายได้ใหม่ๆเข้ามา แม้ว่าจะเป็นธุรกิจที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น แต่เราก็มั่นใจว่าเรามีจุดแข็งในการขยายตลาดและการควบคุมหนี้ที่มีประสิทธิภาพ"นายระเฑียร กล่าว
สำหรับแนวโน้มผลการดำเนินงานในไตรมาส 1/62 คาดว่าจะดีกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน ซึ่งภาพรวมการจับจ่ายใช้สอยในช่วงไตรมาส 1/62 ยังมีแนวโน้มที่เติบโตขึ้นเมื่อเทียบกับปีก่อน จะเห็นได้จากตัวเลขยอดการใช้จ่ายบัตรเครดิตของอุตสาหกรรมในเดือนม.ค. 62 ที่ออกมานั้นก็มีการเติบโตขึ้นกว่าช่วงเดือนม.ค. 61 ซึ่งยอดใช้จ่ายผ่านบัตรของลูกค้า KTC ก็ยังเติบโตในทิศทางเดียวกับอุตสาหกรรม ทำให้ผลการดำเนินงานของบริษัทในไตรมาสแรกนี้คาดว่ายังเติบโตได้ต่อเนื่อง และยังมั่นใจว่ายอดการใช้จ่ายผ่านบัตรในปี 62 จะเป็นไปตามเป้าโต 15%
ด้านการตั้งสำรองฯ ส่วนเกินตามมาตรฐานบัญชี IFRS9 ที่ปัจจุบันธนาคารมีการตั้งสำรองฯส่วนเกินตามมาตรฐานบัญชีไว้เพืยงพอแล้ว แต่ยังรอการพิจารณาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ในส่วนของการตั้งสำรองฯส่วนเกินตามมาตรฐานบัญชี IFRS9 สำหรับธุรกิจ Non-Bank จะต้องทำอย่างไร หลังจากที่ธปท.พิจารณาแนวทางให้ธุรกิจธนาคารพาณิชย์ในการให้การตั้งสำรองฯส่วนเกินนั้นตั้งไว้เป็นเงินที่รองรับมาใช้สำหรับการเพิ่มการตั้งสำรองฯในอนาคตได้ แต่ในส่วนของ Non-Bank ปัจจุบันยังไม่มีข้อสรุปของแนวทางดังกล่าว นายปริญญา พัฒนภักดี ประธานกรรมการ ประธานกรรมการสรรหา และกำหนดค่าตอบแทน KTC กล่าวว่า กระบวนการสรรหาประธานเจ้าหน้าที่บริหารคนใหม่แทนนายระเฑียร ศรีมงคล ที่ครบวาระการทำงานในปี 62 ขณะนี้ทางคณะกรรมการ KTC (บอร์ด) อยู่ระหว่างกระบวนการสรรหาคนที่มีคุณสมบัติเหมาะสมเข้ามาเสนอ ซึ่งยังคงต้องรอการพิจารณาอีกครั้ง โดยที่หากไม่มีคนใหม่เสนอเข้ามาและได้รับการอนุมัติจากบอร์ด KTC นายระเฑียร ศรีมงคล ก็ยังจะต่อวาระการเป็นประธานเจ้าหน้าที่บริหารได้ ซึ่งขึ้นอยู่กับการตัดสินของบอร์ด