นายประวิทย์ ลี่สถาพรวงศา กรรมการ กิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ด้านการคุ้มครองผู้บริโภคและส่งเสริมสิทธิเสรีภาพ เผยแพร่บทความเรื่อง"ระวังค่าโง่ ม.44!! การขยายค่างวด 900 เมกกะเฮิรตซ์ เป็นคนละกรณีกับการประมูล 5G"โดยระบุว่า ระยะนี้มีข่าวอยู่เสมอว่าไทยจะต้องเร่งประมูล 5G มิเช่นนั้นประเทศจะสูญเสียโอกาส และถ้าจะประมูล 5G ต้องขยายระยะเวลาการผ่อนชำระค่าคลื่น 900 เมกกะเฮิรตซ์ เพราะเอกชนแบกภาระจนไม่มีเงินมาประมูล พร้อมกับเรียกร้องให้ใช้ ม.44 เพื่อขยายระยะเวลาการผ่อนชำระ
ทั้งนี้ จากการเสวนาในเวที "5G ปลุกไทยที่ 1 อาเซียน" ค่ายผู้ให้บริการมือถือบอกว่าหากจะจัดประมูล 5G ต้องมี Spectrum Roadmap ที่ชัดเจนก่อน มีกฎกติกาที่เอื้อต่อ 5G มีการตั้งราคาคลื่นที่ไม่สูงเกินไป และที่สำคัญยังนำเสนอว่า มาตรฐาน 5G ระดับโลกของคณะทำงาน 3GPP ที่ออก Release 15 เน้นคุณสมบัติด้านความเร็วการรับส่งข้อมูล แต่มาตรฐาน Release 16 ที่จะออกในปี 2020 ถึงจะครอบคลุมคุณสมบัติด้านการรองรับการเชื่อมต่ออุปกรณ์จำนวนมหาศาลและการลดความหน่วงถือเป็นคุณสมบัติที่สำคัญสำหรับบริการ IoT อย่างเช่น Smart city, Smart home, การจราจร หรือแม้แต่การเกษตร
นอกจากเรื่องมาตรฐานแล้ว ตัวอุปกรณ์ที่ใช้งานก็ยังมีจำนวนน้อย แม้แต่ชิปเซ็ตก็ยังมีไม่มากจนกว่าจะถึงปี 2020 หมายความว่า การจัดประมูล 5G เร็วเกินไป และมีโอกาสล้มเหลวมากกว่าสำเร็จ เพราะแม้จัดสรรคลื่นได้ แต่บริการที่สำคัญยังจะไม่เกิดขึ้น เพราะมาตรฐานยังไม่สรุป อุปกรณ์และชิปเซ็ตยังไม่เพียงพอ ผู้ชนะประมูลคลื่นก็ยังไม่สามารถสร้างรายได้ตอบแทนได้อย่างเต็มที่ เหล่านี้เป็นเหตุผลที่ค่ายมือถือยืนยันมาตลอดว่ายังไม่ควรเร่งจัดประมูล 5G ในปีนี้ ต่างจากคราวประมูล 3G และ 4G ที่อุปกรณ์ในท้องตลาดมีมากมายอยู่แล้ว ความต้องการใช้งานของผู้บริโภคมีมหาศาล เมื่อชนะประมูล สามารถสร้างรายได้ทันที
ธุรกิจโทรคมนาคมเป็นธุรกิจที่ทำกำไร ต่างจากธุรกิจทีวีดิจิทัลที่เป็นขาลง แต่ผู้ประกอบการทีวีดิจิทัลกลับชำระค่าคลื่นตามกำหนด แม้จะไม่เห็นด้วยก็เพียงตั้งข้อสงวนสิทธิในการเรียกคืน ส่วนธุรกิจโทรคมนาคมที่ได้ประโยชน์จากการให้บริการต่อแม้สิ้นสุดสัญญาสัมปทานกว่า 2 ปี ปฏิเสธที่จะนำส่งเงินรายได้ในช่วงมาตรการคุ้มครองฯ ซึ่งเป็นรายได้ของรัฐ จนหลายฝ่ายสงสัยว่า รายได้ในช่วงมาตรการคุ้มครองฯ จะเป็นอีกหนึ่งค่าโง่ที่รัฐเสียรู้แก่เอกชนหรือไม่ ยิ่งไปกว่านั้น พอชนะประมูลคลื่น 900 เมกกะเฮิรตซ์ มี่รัฐตั้งราคาไม่สูงมาก แต่เอกชนแข่งกันเคาะราคาอย่างดุเดือดจนชนะ แต่ในที่สุดกลับเรียกร้องให้แก้ไขกติกาย้อนหลัง ให้ขยายระยะเวลาผ่อนชำระ ซึ่งไม่เป็นธรรมกับเอกชนรายอื่น
หลักการของค่าการใช้คลื่นนั้น ในสหรัฐอเมริกาที่จัดสรรคลื่นโดยใช้วิธีการประมูลมาตลอด แม้แต่คลื่น 5G ล่าสุดก็ยังเดินหน้าประมูล นักวิชาการของ FCC ให้ความเห็นว่า ค่าคลื่นจากการประมูลเป็นต้นทุนจม ไม่สามารถผลักภาระให้ผู้บริโภคได้ ซึ่งต่างจากต้นทุนดำเนินการอื่น ยิ่งในสหรัฐอเมริกาที่การแข่งขันในตลาดโทรคมนาคมเข้มข้น ราคาค่าบริการที่ผู้บริโภคต้องควักกระเป๋าจ่ายจะถูกกำหนดจากการแข่งขันในตลาด ค่าคลื่นจึงเปรียบเสมือนรายได้เข้ารัฐที่ไม่กระทบภาระของประชาชน ไม่เหมือนภาษีต่างๆ ที่สุดท้ายประชาชนเป็นผู้แบกรับภาระอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
หากไม่มีการขยายระยะเวลาผ่อนชำระ เอกชนต้องระดมเงินผ่านแหล่งทุนต่างๆ มาชำระ เป็นต้นทุนของตัวเองที่ต้องแบกรับ แต่หากรัฐขยายระยะเวลาผ่อนชำระ โดยคิดดอกเบี้ยต่ำ เท่ากับเอกชนได้ประโยชน์เต็มๆ ส่วนต่างดอกเบี้ยที่ประหยัดได้ถูกผ่องถ่ายมาสู่ความรับผิดชอบของรัฐ เพราะหากรัฐต้องการใช้เงินก้อนที่ควรได้จากค่าคลื่น แต่กลับขยายระยะเวลาออกไป รัฐก็ต้องหาเงินจำนวนนั้นผ่านช่องทางต่างๆ แทน ซึ่งต้นทุนในการหาเงินเพิ่มของรัฐก็คือภาระของประชาชน ไม่ว่าจะในรูปของภาษีหรือภาระดอกเบี้ยของหนี้สาธารณะที่รัฐต้องไปก่อมาชดเชยเงินที่หายไป หรือในกรณีที่รัฐหาเงินไม่ได้หรือไม่หาเงิน ก็จะตัดงบประมาณรายจ่ายลง ประชาชนแทนที่จะได้ประโยชน์จากโครงการต่างๆ ก็จะไม่ได้รับอะไรเลย
"การใช้ ม. 44 ขยายระยะเวลาผ่อนชำระค่าคลื่น 900 เมกกะเฮิรตซ์ จึงไม่ต่างจากการผลักภาระของเอกชนที่ชนะการประมูล มาเป็นภาระของสาธารณะแทน แถมเป็นเอกชนที่มีกำไรจากธุรกิจ แต่มีประวัติเบี้ยวหนี้เงินรายได้จากมาตรการคุ้มครองฯ"
หากออก ม. 44 จริงจะดูประหนึ่งว่ารัฐเป็นเจ้าหนี้ที่วิจารณญาณบกพร่องหรือไม่ ในส่วนข้ออ้างเรื่องการประมูลคลื่นที่ล่าช้ากับการสูญเสียรายได้ของประเทศหลายล้านล้านบาท และการโหมกระพือข่าวว่าการประมูล 5G จะสำเร็จได้จำเป็นต้องมีการขยายระยะเวลาผ่อนชำระค่าคลื่น 900 เมกกะเฮิรตซ์นั้น หลายคนมองว่าเป็นนิทานที่ไม่น่าเชื่อ
เพราะเมื่อปี 2556 ซึ่งสัญญาสัมปทานมือถือหลายค่ายจะสิ้นสุดลง และจะต้องจัดประมูลใหม่ให้ทันการณ์ เพื่อจะเป็นการก้าวสู่ยุค 4G แต่กลับไม่มีความกระตือรือร้น ไม่มีการเร่งรัดการจัดประมูล จนต้องออกประกาศมาตรการคุ้มครองฯ กรณีสิ้นสุดสัญญาสัมปทาน แม้นักวิชาการจะให้ข้อมูลว่า การประมูล 4G ที่ล่าช้า ประเทศจะสูญเสียประโยชน์กว่า 1.6 แสนล้านบาท โดยคำนวณตามข้อมูลของสถาบันวิชาการที่เคยสรุปไว้ในการประมูล 3G ในครั้งนั้น องค์กรที่ต้องรับผิดชอบกลับไม่มีการเรียกร้องให้เร่งผลักดันประเทศไทยเข้าสู่ยุค 4G แต่กลับฟ้องหมิ่นประมาทนักวิชาการที่ให้ข้อมูลผลเสียจากความล่าช้าของการประมูล 4G โดยผู้แทนจาก 4 องค์กรวิชาชีพสื่อ ได้แก่ สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทย สภาวิชาชีพข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย สภาการหนังสือพิมพ์แห่งชาติ และสมาคมนักข่าววิทยุและโทรทัศน์ไทย ได้แถลงไม่เห็นด้วยกับการฟ้องคดีนี้
และต่อมายังมีขบวนการผลักดันให้มีคำสั่ง คสช. ที่ 94/2557 ลงวันที่ 17 ก.ค. 2557 จนสำเร็จ ให้ชะลอการประมูลคลื่น 900 และ 1800 เมกกะเฮิรตซ์ออกไป 1 ปี ทำให้การประมูลจริงเกิดขึ้นปลายปี 2558 ทั้งที่สัญญาสัมปทานโทรศัพท์เคลื่อนที่เริ่มสิ้นสุดลงตั้งแต่ปลายปี 2556 ทำให้มีการใช้และขยายระยะเวลาตามมาตรการคุ้มครองผู้ใช้บริการอีกกว่าสองปี มาตรการดังกล่าวทำให้เราก้าวเข้าสู่ยุค 4G ที่แท้จริงล่าช้า และจนกระทั่งปัจจุบัน เอกชนก็ยังปฏิเสธที่จะนำเงินรายได้หลังสิ้นสุดสัญญาสัมปทานส่งรัฐ เรื่องนี้มีความเสียหายต่อประเทศหรือไม่ และใครต้องรับผิดชอบต่อความเสียหายนั้น ...ยังคงเป็นคำถามที่อยู่ในความเงียบ โดยไม่มีคำตอบ
"ส่วนที่มองว่าถ้าไม่เร่งประมูล 5G ไทยจะสูญเสียรายได้ 2.3 ล้านล้านบาท และใช้เป็นข้ออ้างเพื่อให้ คสช. ออกคำสั่งขยายเวลาการชำระค่าคลื่น 4G ออกไปอีก เพราะถ้าปล่อยให้เอกชนแบกภาระทางการเงินก้อนใหญ่ ก็จะไม่เข้าร่วมประมูล 5G ผนวกกับปัญหาผลประกอบการของธุรกิจทีวีดิจิทัล ทำให้มีข้อเสนอให้เรียกคืนคลื่นทีวีดิจิทัลมาประมูล 5G และใช้เป็นเหตุโน้มน้าวให้ คสช. ขยายระยะเวลาผ่อนชำระค่าคลื่น 900 เมกกะเฮิรตซ์"
นายประวิทย์ ระบุว่า การจะดูแลกิจการทีวีดิจิทัลเป็นคนละเรื่องกับการขยายระยะเวลาผ่อนชำระค่าคลื่น 900 เมกกะเฮิรตซ์ อย่าใช้ธุรกิจที่ประสบปัญหาเป็นข้ออ้างในการอุ้มธุรกิจที่มีกำไร เพราะจะไม่ต่างจากการอ้างว่าจะช่วยเหลือคนเจ็บป่วยแต่กลับไปเลี้ยงดูคนปกติ การแฝงเรื่องการขยายระยะเวลาผ่อนชำระค่าประมูล 900 เมกกะเฮิรตซ์ เข้าไปกับการดูแลทีวีดิจิทัล ควรต้องน้อมนำพระราโชวาทของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวที่พระราชทานเนื่องในวันข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2562 มาไตร่ตรองให้ดีว่า การทำเช่นนี้ถูกต้องเป็นธรรมหรือไม่ และมีผลประโยชน์ของแผ่นดินเป็นเป้าหมายสูงสุดหรือไม่หากคำตอบคือไม่ใช่ การใช้ ม.44 เพื่อขยายระยะเวลาผ่อนชำระค่าคลื่น 900 เมกกะเฮิรตซ์ จะเป็นเพียงการผลักภาระหนี้ของเอกชนมาเป็นหนี้ของประชาชน และเป็นการแก้กติกาการประมูลย้อนหลังอย่างไม่เป็นธรรม สุดท้ายก็จะเป็นเสมือน "ค่าโง่ที่รัฐต้องจ่ายแทนเอกชน" อีกครั้งหนึ่ง