บมจ.สบาย เทคโนโลยี (SABUY) ยื่นแบบแสดงรายการข้อมูล (ไฟลิ่ง) เพื่อเสนอขายหุ้นเพิ่มทุนแก่ประชาชนเป็นครั้งแรก (IPO) จำนวน ไม่เกิน 117,017,300 หุ้น คิดเป็น 11.64% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้วของบริษัทภายหลังการเสนอขายหุ้น IPO และมีความประสงค์ที่จะขอเข้าจดทะเบียนในตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) โดยมี บล.เมย์แบงก์ กิมเอ็ง (ประเทศไทย) เป็นที่ปรึกษาทางการเงิน (FA)
SABUY วัตถุประสงค์การใช้เงินที่ได้จากการระดมทุนในครั้งนี้ เพื่อนำไปขยายธุรกิจ และชำระคืนเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน รวมถึงใช้เป็นเงินทุนหมุนวียน โดยบริษัทประกอบธุรกิจเป็นผู้ให้บริการรับชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ผ่านตู้เติมเงินภายใต้เครื่องหมายการค้า "เติมสบายพลัส"
ปัจจุบัน SABUY มีบริษัทย่อยทั้งหมด 3 บริษัทคือ บริษัท เวนดิ้ง พลัส จำกัด (VDP) โดย SABUY ถือหุ้น 82.47% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว, บริษัท สบาย ซิสเต็มส์ แอนด์ แมเนจเม้นท์ จำกัด (SSM) โดย SABUY ถือหุ้น 100% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว และ บริษัท สบาย มันนี่ จำกัด (SBM) โดย SABUY ถือหุ้น 80% ของทุนจดทะเบียนชำระแล้ว
ธุรกิจของกลุ่มบริษัทแบ่งออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ 1.กลุ่มธุรกิจตู้เติมเงินอัตโนมัติ ได้แก่ การให้บริการธุรกรรมทางการเงินผ่านตู้เติมเงินอัตโนมัติ การจำหน่ายตู้เติมเงินอัตโนมัติทั้งในรูปแบบการชำระด้วยเงินสดและเงินผ่อน และให้บริการตู้เติมเงินอัตโนมัติในระบบแฟรนไชส์ (Franchise) มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นผู้ให้บริการเติมเงินโทรศัพท์เคลื่อนที่ประเภทเติมเงินล่วงหน้า (Prepaid) บริการรับชำระ เช่น การชำระบิล การเติมเงินเข้ากระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Wallet) การฝากเงินเข้าบัญชีธนาคาร และอื่นๆ ผ่านตู้เติมเงินอัตโนมัติ ภายใต้เครื่องหมายการค้า"เติมสบายพลัส" ณ วันที่ 31 ธ.ค.61 บริษัทมีตู้เติมเงินอัตโนมัติรวมจำนวน 47,040 ตู้ และมีศูนย์บริการอยู่ถึง 12 แห่ง โดยเป้าหมายขยายบริการตู้เติมเงินอัตโนมัติเพิ่มเติมในทุกภูมิภาคทั่วประเทศ
2. กลุ่มธุรกิจตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine Business Unit) ประกอบด้วยการจำหน่ายเครื่องดื่มและอาหารสำเร็จรูปผ่านตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ (Vending Machine) ดำเนินธุรกิจโดย VDP เป็นช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าที่อำนวยความสะดวกให้แก่ผู้บริโภค เช่น น้ำดื่ม เครื่องดื่มชูกำลัง น้ำอัดลม เครื่องดื่มชาเขียว อาหารสำเร็จรูป และขนมขบเคี้ยว ผ่านตู้ขายสินค้าอัตโนมัติ ภายใต้เครื่องหมายการค้า "เวนดิ้ง พลัส" ณ วันที่ 28 ก.พ.62 มีจำนวนตู้ขายสินค้าอัตโนมัติรวมกว่า 1,707 ตู้ ในเขตกรุงเทพฯ ปริมณฑล และจังหวัดใกล้เคียง
3. กลุ่มธุรกิจระบบศูนย์อาหาร (Food Court System Business Unit) ดำเนินธุรกิจโดย SSM เป็นผู้ให้บริการติดตั้งและวางระบบศูนย์อาหาร (ระบบบัตร Prepaid อิเล็กทรอนิกส์) รวมถึงการให้บริการจัดการศูนย์อาหารพร้อมการจ้างบำรุงรักษาซ่อมแซมศูนย์อาหาร และอุปกรณ์ต่อพ่วงของระบบดังกล่าว อาทิห้างสรรพสินค้า โรงงาน และสถานศึกษา และสถานีขนส่ง เป็นต้น
4. กลุ่มธุรกิจให้บริการการชำระเงิน (Payment Service Provider / Facilitator Business Unit) ดำเนินธุรกิจโดย SBM ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นผู้ให้บริการทั้งผู้ชำระเงินและผู้รับชำระเงินด้วยเทคโนโลยีในรูปแบบต่าง ๆ ผ่าน e-Payment Platform
บริษัทมีโครงการในอนาคตที่จะติดตั้ง EDC (Electronic Data Capture) ตามร้านค้า ยานพาหนะ ตู้เติมสบายพลัส และตู้เวนดิ้ง พลัส โดย SSM มีแผนที่จะติดตั้งเครื่อง EDC ที่ใช้อ่านบัตรเครดิต บัตรเดบิต ตลอดจน Contactless Payment จากโทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อรับชำระเงิน ซึ่งจะมีการ Synergy ในกลุ่ม ซึ่ง SSM จะขายและให้บริการหลังการขาย Hardware เครื่อง EDC ส่วน SBM ดูแล Software ระบบการเชื่อมต่อไปยัง EDC Network โครงการดังกล่าวจะมีมูลค่าการลงทุนประมาณ 100 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มให้บริการในปี 62
นอกจากนั้น บริษัทจะเพิ่มศูนย์บริกา โดย VDP มีแผนจะเพิ่มการให้บริการตู้ขายสินค้าอัตโนมัติตามพื้นที่ต่างจังหวัดและพื้นที่ห่างไกลทั่วประเทศ คาดว่าจะเพิ่มศูนย์บริการในปี 62 จำนวน 1 ศูนย์บริการ และในปี 63 จำนวน 2 ศูนย์บริการ คาดว่าจะมีมูลค่าการลงทุนต่อศูนย์บริการประมาณ 2 ล้านบาท
โครงการตั้งตู้ขายสินค้าอัตโนมัติร่วมกับพันธมิตรทางธุรกิจของ VDP โดยมีแผนจะตั้งตู้ขายสินค้าอัตโนมัติรูปแบบใหม่ ซึ่งเป็นการร่วมมือกับพันธมิตรทางธุรกิจ เช่น ผู้ผลิตเครื่องดื่มชูกำลัง ผู้ผลิตน้ำอัดลม หรือผู้ผลิตน้ำผลไม้ ในการตั้งตู้ขายสินค้า ที่ภายนอกตู้จะมีการสกรีนเป็นลวดลาย หรือตราสัญลักษณ์ ของพันธมิตรทางธุรกิจนั้น คาดว่าจะเริ่มดำเนินการได้ในช่วงไตรมาส 2/62 เป็นต้นไป
และ โครงการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money Service) โดย SBM มีแผนที่จะเพิ่มการให้บริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Money หรือ e-Money) และกระเป๋าเงินอิเล็กทรอนิกส์ (Electronic Wallet หรือ e-Wallet) ผ่านใบอนุญาตประกอบธุรกิจบริการเงินอิเล็กทรอนิกส์ (e-Money) ภายใต้การกำกับดูแลของธนาคารแห่งประเทศไทย จะมีทั้งรูปแบบเครื่องมือติดตัว (Wearable device) บัตรอิเล็กทรอนิกส์ (Card-base) หรือ รูปแบบบัญชีอิเล็กทรอนิกส์ในโทรศัพท์เคลื่อนที่ มูลค่าการลงทุนราว 100 ล้านบาท คาดว่าจะเริ่มได้ภายในต้นปี 63
SABUY ระบุว่าภายหลังการออกและเสนอขายหุ้นสามัญต่อประชาชนทั่วไปเป็นการครั้งแรก (ภายใต้สมมติฐานว่ามีการจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนที่เสนอขายครบทั้งจำนวน) บริษัทจะมีทุนจดทะเบียนจำนวน 1,050,000,000 บาท แบ่งเป็นทุนที่ออกและชำระแล้ว 1,005,000,000 บาท และทุนจดทะเบียนรองรับการใช้สิทธิของใบสำคัญแสดงสิทธิฯ จำนวน 45,000,000 บาท
ณ วันที่ 26 ก.พ.62 ผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของบริษัท ประกอบด้วย กลุ่มครอบครัววชิรพงศ์ ถือหุ้น 328,094,000 หุ้น คิดเป็น 36.95% หลังเสนอขายหุ้น IPO ในครั้งนี้แล้วจะลดสัดส่วนการถือหุ้นลงเหลือ 32.65%, กลุ่มครอบครัวรุจนพรพจี ถือหุ้น 229,824,000 หุ้น คิดเป็น 25.88% จะลดสัดส่วนหุ้นลงเหลือ 22.87%, กลุ่มครอบครัววีระประวัติ ถือหุ้น 169,748,400 หุ้น คิดเป็น 19.12% จะลดสัดส่วนหุ้นลงเหลือ 16.89%
ผลการดำเนินงานของบริษัทในช่วงปี 59-61 มีกำไรสุทธิ 394.77 ล้านบาท ขาดทุนสุทธิ 167.38 ล้านบาท และกำไรสุทธิ 80.17 ล้านบาท ตามลำดับ โดยปี 60 พลิกเป็นขาดทุนเนื่อบจากรายการขาดทุนจากการยึดคืนสินค้าประเภทตู้เติมเงิน จำนวน 333.90 ล้านบาท ซึ่งเป็นผลมาจากแผนการขายสินค้าในปี 59 ที่เน้นนโยบายเชิงรุก แต่ในปี 60 บริษัทได้กำหนดนโยบายในการขายสินค้าและการให้มีความเข้มงวดมากขึ้น เพื่อลดโอกาสในการเกิดเหตุผิดนัดชำระหนี้และลดผลกระทบต่อการดำเนินงานของบริษัท ทำให้บริษัทเริ่มกลับมามีผลการดำเนินงานปกติ โดยมีกำไรสุทธิในงวดปี 61
ณ วันที่ 31 ธ.ค.61 มีสินทรัพย์รวม 1,772.68 ล้านบาท หนี้สินรวม 401.40 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้นรวม 1,371.28 ล้านบาท ส่วนของผู้ถือหุ้นส่วนที่เป็นของบริษัท 1,348.90 ล้าบาท โดยบริษัทมีรายได้จากการขายและบริการ 928.97 ล้านบาท ต้นทุนจากการขายและบริการ 510.09 ล้านบาท กำไรสุทธิสำหรับงวด 80.17 ล้าบาท กำไรสุทธิสำหรับงวดส่วนที่เป็นของบริษัทฯ 86.98 ล้านบาท
ทั้งนี้ บริษัทมีนโยบายจ่ายเงินปันผลให้แก่ผู้ถือหุ้นในอัตราไม่น้อยกว่า 40% ของกำไรสุทธิจากงบเฉพาะกิจการภายหลังหักภาษีเงินได้นิติบุคคล และเงินสำรองต่างๆ ทุกประเภทตามที่กำหนดไว้ในกฎหมายและข้อบังคับของบริษัทฯ แต่จะต้องไม่มีขาดทุนสะสมในส่วนของผู้ถือหุ้น